ความคืบหน้าหลังจาก ‘สนธิญา สวัสดี’ ยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.)ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานยังถือหุ้นในบริษัท 3 แห่ง และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในขณะที่เป็นรัฐมนตรีอยู่
ในการแต่งตั้งรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจะส่งรายชื่อให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประสานงานกับผู้ที่รับการเสนอชื่อให้มา ‘กรอกประวัติ’ และ ‘ตรวจสอบ’ ว่ามีคุณสมบัติถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่
เรื่องการถือหุ้น นอกจากผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี จะตรวจสอบและยืนยันมาเองแล้ว สำนักเลขาคณะรัฐมนตรี จะตรวจสอบกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า แต่ละคนมีการถือหุ้นที่ไหนบ้าง เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลที่กรอกมา และเพื่อให้ว่าที่ รมต.ดำเนินการตามกฎหมาย เช่น โอนหุ้นออกหรือแจ้ง ป.ป.ช. เป็นต้น
กรณีของนายพีระพันธุ์ ในฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ปรากฏข้อเท็จจริงว่า หลังจากรับตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 นายพีระพันธุ์ยังถือหุ้นในบริษัท วีพี แอโร่เทค และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามด้วย
จนถึงปี 2568 จึงโอนหุ้นให้ ‘พลโทเจียรนัย วงศ์สะอาด’ ที่ปรึกษารมต.พลังงาน และ ‘สยาม บางกุลธรรม’ และลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจลงนามด้วย โดยพลโทเจียรนัยได้เข้ามาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจแทน
จึงมีคำถามว่า ตอนที่กรอกข้อมูลในแบบประวัติ ‘กรอกว่าอะไร’ ถ้ากรอกว่าไม่มีหุ้น หรือมีแต่ไม่เกินร้อยละ 5 ก็ ‘เข้าข่ายกรอกข้อมูลเท็จ’ จงใจปกปิดข้อมูล ไม่ให้นายกรัฐมนตรีรับรู้ และสำนักเลขาคณะรัฐมนตรีได้ตรวจสอบประเด็นนี้ และรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบหรือไม่
เรื่องนี้จึงเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณัฐฎ์จารี อนันตศิลป์ ซึ่งมีหน้าที่ต้องตรวจสอบ กลั่นกรองประวัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อ เป็นรัฐมนตรี ก่อนจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้ง