‘พิรงรอง’ ยังเหนียว ทรูยืมมือ กสทช.ฟันไม่เข้า

27 พ.ค. 2567 - 10:13

  • คดีความระหว่างทรู กับ กรรมการ กสทช. พิรงรอง รามสูตในชั้นศาลจบแล้ว

  • แต่คดีความระหว่าง พิรงรอง กับกรรมการ กสทช.คนอื่นยังไม่จบ

  • ทรูไม่จบ ทำหนังสือให้บอร์ด กสทช.คัดค้านการทำหน้าที่ของ พิรงรอง

Deep Space-Board NBTC-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังผิดหวังที่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไม่สั่งให้ ดร. พิรงรอง รามสูต กรรมการ กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. หยุดปฏิบัติหน้าที่ กสทช. ตามคำขอของทรู ดิจิทัล กรุ๊ป และทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยอ้างว่ามีคดีความกันเกรงว่าจะถูกกลั่นแกล้ง

ศาลอาญาฯ เห็นว่า พิรงรอง ไม่มี ‘พฤติกรรมที่จะไปกลั่นแกล้งทรู’  อย่างที่ทรูกล่าวหา จึงยกคำร้อง

ทรู ไม่ละความพยายามนอกจากจะยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว ทรูยังมีหนังสือ ‘คัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ กสทช.’ ของพิรงรอง ส่งถึงประธาน กสทช. นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์  และตัวพิรงรองเอง คัดค้านการประชุมพิจารณาเรื่องของทรูทุกเรื่อง 

การประชุมบอร์ด กสทช.วันนี้ (24  พฤษภาคม) มีการประชุมลับในเรื่องนี้ด้วย ผลการลงมติ กสทช. 4 คน ไม่เห็นด้วยกับคำร้องของทรู กสทช. อีก 3 คน เห็นด้วย

เดาได้เลยไม่ผิดแน่ว่า 4 คนที่ไม่เห็นด้วยคือ พิรงรอง รามสูต, พลอากาศโทธนพันธ์ หร่ายเจริญ, ดร. ศุภัช ศุภชลาศัย, และ ดร สมภพ ภูริวิกรัยพันธ์  ซึ่งเป็น กสทช. ที่โหวตสวนกับ กสทช. สายบ้านป่ารอยต่อมาโดยตลอด 

ส่วนกสทช. 3  คนที่ต้องการให้พิรงรอง หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของทรูคือ   ‘กสทช. สายบ้านป่ารอยต่อ’  อันได้แก่ นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์,  ต่อพงศ์ เสลานนท์, และ พลตำรวจเอกณัฐธร เพราะสุนทร

ก่อนจะถูกนำเข้าบอร์ด กสทช. หนังสือคัดค้านพิรงรองของทรู ถูกพิจารณาในที่ประชุม คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ไปแล้ว เมื่อวันที่ 24  พฤษภาคม โดยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำคัดค้านโดยมีเหตุผลข้อหนึ่งว่าทรูเคยยื่นนำคำร้องเนื้อหาเดียวกันนี้ ไปยังศาลอาญาฯ และศาลยกคำร้อง

แม้คณะอนุกรรมการ จะไม่รับหนังสือคัดค้านของทรู แต่หนังสือคัดค้านก็ยังถูก ‘บรรจุเข้าวาระ’ การประชุมบอร์ด กสทช. 

แสดงให้เห็นถึง อิทธิฤทธิ์ กำลังภายในของทรู ในสำนักงาน กสทช

ในขณะเดียวกันก็เป็นหลักฐานที่ปิดไม่มิดว่า ประธาน กสทช. นพ. สรณ ซึ่งมีอำนาจสั่งว่า ให้นำเรื่องใดเข้าวาระการประชุม และรักษาการเลขาธิการ กสทช. ‘ไตรรัตน์ วิระยะสิริกุล’ ซึ่งมีหน้าที่จัดทำวาระประชุม ‘เลือกข้างทรูชัดเจน เต็มใจ สมัครใจ ยอมให้ทรูคุกคาม’ การปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ทั้งๆที่ คณะอนุกรรมการตีตกไปแล้วด้วยเสียงเอกฉันท์ และศาลอาญาฯก็ยกคำร้องของทรูไปแล้ว 

แทนที่จะปกป้องกรรมการ กสทช. ด้วยกัน กลับมีใจให้กับคนนอก

พิรงรอง ถูกทรู ดิจิทัลฟ้องว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ทรู ดิจิทัล ซึ่งเป็นเจ้าของทรูไอดีเสียหาย ในกรณีที่มีผู้ร้องเรียน กสทช. ว่า แพลตฟอร์ม ทรู ไอดี บังคับดูโฆษณาทุกครั้งที่กดรีโมทเปลี่ยนช่อง พิรงรอง เสนอให้ สนง. เลขาธิการ กสทช. ทำหนังสือเวียนไปถึงผู้ประกอบการแพร่ภาพ ทุกแพลตฟอร์ม ระมัดระวัง การนำรายการของผู้ประกอบการ โอทีที ไปออกอากาศว่า ‘อาจผิดกฎ’ Must Carry 

ทรู ดิจิทัล เห็นว่า หนังสือดังกล่าวทำให้บริษัทฯ เสียหาย ถูกเข้าใจผิดว่า ‘ให้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาต’ จึงฟ้องพิรงรอง ต่อศาลอาญาแทนที่จะฟ้องศาลปกครอง ดังเช่น ขอพิพาทอื่นๆที่เคยเกิดขึ้นกับ กสทช. 

สารี อ๋องสมหวัง แห่งสภาองค์กรเพื่อผู้บริโภค และสุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. มีความเห็นว่า เป้าหมายที่แท้จริงของ ทรู คือ ต้องการปิดปากพิรงรอง ไม่ให้ทำหน้าที่ กสทช. ต่อไป   

หลังศาลอาญารับฟ้อง  ทรู ดิจิทัล ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวให้ ศาลอาญามีคำสั่งให้พิรงรอง หยุดปฎิบัติหน้าที่ จนกว่าคดีจะสิ้นสุดเพราะเกรงว่าจะถูกกลั่นแกล้ง เนื่องจากเป็นคู่ความกัน   

แต่ศาลเห็นว่า พิรงรองไม่ได่มีพฤติกรรม ตามที่ทรูกล่าวหา จึงยกคำร้องของทรู

เสียงในบอร์ด กสทช. ปัจจุบัน กสทช. สายบ้านป่ารอยต่อ มี 3 เสียง คือ นพ. สรณ, ต่อพงศ์ และพลตำรวจเอกณัฐธร น้อยกว่า สายนอกชายคาป่ารอยต่อ ที่มี 4  เสียงคือ  พิรงรอง, พลอากาศโท ธนพันธุ์, ดร. ศุภัช และ ดร. สมภพ

หากกำจัดพิรงรองออกไปได้ เสียงจะเท่ากัน 3 ต่อ 3 เปิดทางให้ประธาน กสทช. ใช้วิธี ‘ขอเบิ้ล’ ลงคะแนนซ้ำ 2 ครั้ง เอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้ อย่างที่เคยทำมาในตอนโหวตว่า กสทช. ไม่มีอำนาจอนุมัติการควบรวมทรู กับดีแทค และการยึดอำนาจสรรหาคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. ไว้กับประธานคนเดียว 

มติบอร์ด กสทช. ทำให้ พิรงรอง ยังทำหน้าที่กสทช.ได้ต่อไป ทำให้กสทช. สายบ้านป่ารอยต่อ เป็นเสียงข้างน้อย  แพ้โหวตตลอด และทำให้ทรูผิดหวังซ้ำสอง ไม่รู้ว่า จะตั้งหน้าตั้งตาหาทางกำจัดพิรงรองต่อไปอีกไหม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์