‘บิ๊กป๊อก’ จัดให้ ‘แอชตัน อโศก’ ไม่ต้องทุบ • ปชป. ก้าวไม่ข้ามพรรคอะไหล่ • ยืดหนี้เดิม เพิ่มหนี้ใหม่ กดค่าไฟ 4.20 บาท

22 ธ.ค. 2566 - 10:32

  • ‘บิ๊กป๊อก’ จัดให้ ‘แอชตัน อโศก’ ไม่ต้องทุบ

  • ปชป. ก้าวไม่ข้ามพรรคอะไหล่

  • ยืดหนี้เดิม เพิ่มหนี้ใหม่ กดค่าไฟ 4.20 บาท

DEEP-SPACE-economy-ashton-asoke-land-bkk-SPACEBAR-Hero.jpg

‘บิ๊กป๊อก’ จัดให้ ‘แอชตัน อโศก’ ไม่ต้องทุบ

หากไม่มีอะไรพลิกผันสุด ๆ หลังปีใหม่ 2567 เมฆหมอกที่ปกคลุมเหนืออาคาร ‘แอชตัน อโศก’ คอนโดมีเนียมสุดหรูความสูง 50 ชั้น ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ทำเลทองกลางสุขุมวิท ริมถนนอโศกฯ คงจะพัดผ่านไปเสียที และน่าจะทำให้ซีอีโอหนุ่มของกลุ่มอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ‘โก้’ ชานนท์ เรืองกฤติยา กลับมามีความสุขอีกครั้ง หลังจากที่เจอวิบากกรรรมในเรื่องนี้มายาวนานกว่า 10 ปี !!!

ปฐมบทของมหากาพย์เรื่อง ‘แอชตัน อโศก’ เริ่มขึ้นหลังจากเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่เมื่อปี 2557 ที่กลุ่มอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จับมือร่วมกับ มิตซุย ฟูโดซัง ของญี่ปุ่นเปิดตัวโครงการคอนโดมีเนียมสุดหรู 50 ชั้น บนแยกอโศกมนตรี ด้วยมูลค่าโครงการกว่า 6.4 พันล้านบาท รวม 783 ยูนิต  ราคาเสนอขาย เริ่มต้น210,000 บาท/ตร.ม. หรือ เกือบ 7 ล้านบาทต่อยูนิต ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงในขณะนั้น

ปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากนักร้อง(เรียน) ศรีสุวรรณ จรรยา และชาวบ้านในละแวกดังกล่าว รวมตัวกันฟ้องร้องว่า โครงการดังกล่าวน่าจะมีเจตนาหลบเลี่ยงข้อบังคับเรื่องการพัฒนาอาคารสูง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และมีการใช้ที่ดินของรัฐซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ **รฟม.**เวนคืนมาจากเจ้าของที่ดินเดิมที่จะนำไปใช้สร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน แต่กลับแปลงที่ดินบางส่วนที่ติดถนนอโศกมนตรีมาเป็นทางเข้า-ออก ให้กับโครงการแอชตันอโศก

ทั้งนี้มีข้อตกลงที่กลุ่มอนันดาฯ ทำสัญญากับ รฟม.ในการสร้าง ‘อาคารจอดรถ’ มูลค่าประมาณ 97 ล้านบาท เพื่อขอแลกกับการขอใช้ที่ดิน ของรฟม. ขนาดราว 6.60 เมตร เนื่องจากที่ดินแปลงนี้ มีส่วนที่ติดถนนสาธารณะ เพียง 6.40 เมตรเท่านั้น ไม่ครบ 12 เมตร ตามข้อบังคับสร้างอาคารสูง เพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออก

ราว ๆ กลางปี 2564 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ‘แอชตัน อโศก’ เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการคอนโดมีเนียม ความสูง 50 ชั้น ถือเป็น ‘อาคารขนาดใหญ่พิเศษ’ หรือพื้นที่ทุกชั้นรวมกันมากกว่า 30,000 ตารางเมตร แต่ไม่มี ‘ทางเข้า-ออก’ สู่ ‘ถนนสาธารณะ’ ตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ และไม่อาจใช้ที่ดินของ รฟม. ขนาดกว้าง 13 เมตร ที่ได้มาจากการเวนคืน มาเป็นทางเข้า-ออกสู่ถนนสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี ได้ 

หลังจากคำพิพากษาออกมา จึงเกิดความโกลาหลครั้งใหญ่ให้กับ บรรดาลูกบ้านที่มีการทำสัญญาซื้อห้องชุดของโครงการกันไปเป็นจำนวนมากทั้งที่โอนไปแล้ว และรอการโอนราว 580 ห้อง เพราะไม่รู้ว่าคดีนี้จะจบลงอย่างไร เนื่องจากหากถูกเพิกถอนจริง ทางกรุงเทพมหานครอาจจะต้องสั่งให้ทุบทิ้ง ซึ่งจะส่งผลเสียหายมหาศาลให้กับโครงการ

กลุ่มอนันดาฯ พยายามสู้ต่อในชั้นศาลปกครองสูงสุด แต่ก็ต้องผิดหวังอีกครั้งเมื่อ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อ 27กรกฎาคมที่ผ่านมา ยืนยันว่าการกระทำที่ผ่านมาของทั้งกลุ่มอนันดา และรฟม.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาต

ทีมงานของกลุ่มอนันดาฯ พยายามที่หาทางออกในเรื่องนี้ในหลาย ๆ ทาง ตั้งแต่การหาซื้อที่ดินเพื่อทำเป็นทางเข้าออกทางอื่นที่ไม่ใช่ด้านติดสถานีรถไฟฟ้าของ รฟม. ซึ่งเหลือเพียงด้านซอย 19 แต่การกว้านซื้อตึกแถวที่ติดกับถนนซอยนี้ไม่ต่ำกว่า 16 คูหา อาจจะต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งคงเป็นทางเลือกที่เป็นไปไม่ได้แน่ ๆ

ทางเลือกที่เหลืออยู่ คือ ต้องพยายามหาทางแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะลูกบ้านของคอนโดแอชตัน อโศก ที่ได้รับผลกระทบกว่า 580 ครัวเรือน เป็นทั้งคนไทยและคนต่างชาติ และอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยในเรื่องข้อกฎหมายอีกด้วย ซึ่งหลังจากดูแนวทางหลายๆ ทางในที่สุดทีมกฎหมายชั้นเซียนของกลุ่มอนันดาฯ ก็พบทางออก คือ การแก้ไขกฎกระทรวงฯ ที่ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

กระบวนการในการผลักดันในเรื่องนี้ ดำเนินการกันอย่างเงียบเชียบ ทำให้มีเพียงไม่กี่คนที่จะทราบว่า ‘บิ๊กป๊อก’ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยในขณะนั้น ได้นำเสนอร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535)ฯ) ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดสุดท้ายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติในหลักการไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา และระหว่างนี้เรื่องถูกส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนส่งกลับมาให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน อนุมัติอีกครั้ง ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ตามร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ข้อ 4 ได้ระบุว่า ให้ยกเลิกความในข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540) ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และให้ใช้ความที่เปิดกว้างมากขึ้น โดยเพิ่มเติมข้อกำหนดว่า

กรณีที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตร ไม่มีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินติดถนนสาธารณะ แต่ถ้ามีที่ดินอื่นที่ติดถนนสาธารณะและใช้เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิงได้โดยสะดวก และเชื่อมต่อกับถนนรอบอาคารมีความกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ตลอดแนวที่ตั้งของอาคาร ก็สามารถใช้ที่ดินนั้นเป็นที่ตั้งของอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษได้

สรุปง่าย ๆ คือ ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว มีการแก้ไขให้เกิดความชัดเจน ให้ที่ดินที่ไม่มีด้านใดด้านหนึ่งติดถนนสาธารณะ แต่มีที่ดินอื่นที่สามารถใช้ประโยชน์เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิงได้ไม่น้อยกว่า 12 เมตร ก็สามารถใช้ที่ดินนั้นเป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษได้

จากนี้ไปหากทุกอย่างไม่เกิดอุบัติเหตุจนทำให้อาการเครื่องสะดุด เพราะเชื่อกันว่ารัฐบาลของ นายกฯ เศรษฐา น่าจะเข้าใจลึกซึ้งถึงปัญหานี้ 

เนื่องจากเคยนั่งเป็น ซีอีโอ ใหญ่ของกลุ่มแสนสิริ ที่เป็นเจ้าพ่อวงการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทย คงพร้อมที่จะเปิดไฟเขียว ซึ่งจะส่งผลให้โครงการแอชตัน อโศก กลายเป็น ‘อาคารขนาดใหญ่พิเศษ’ ที่สามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะจะส่งผลให้โครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมีเนียม และอาคารขนาดใหญ่พิเศษทั้งหลายที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้า ไม่ติดขัดจากปัญหาเรื่องถนนหรือทางเข้าออกอีกต่อไป

ปชป.ก้าวไม่ข้ามพรรคอะไหล่?!

การประชุมกรรมการบริหารชุดใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวานนี้( 21 ธันวาคม 2566) ยังเป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ตามที่เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคคนใหม่ แจ้งนักข่าวไว้หลังการประชุม

เนื่องจากกระบวนการรับรองกรรมการบริหารชุดใหม่ของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่เรียบร้อย เพราะขาดเอกสารบางรายการที่ยังตกหล่นอยู่ แม้การประชุมใหญ่ได้ผ่านพ้นไปตั้งแต่ช่วงต้นเดือนในวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา แล้วก็ตาม

แต่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างออกมาว่า คงเป็นการรอฤกษ์ยามเหมาะสม ถูกโฉลกกับผู้ใหญ่ ที่ไปผูกชะตาราศรีของตัวเองกับพรรคเอาไว้มากกว่า ซึ่งกว่าจะได้เวลาดีที่ว่าต้องรอให้ข้ามปีขึ้น พ.ศ.ใหม่ไปเสียก่อน

การออกมา‘คิ๊กออฟ’ ของกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่เมื่อวาน จึงเป็นการสนทนาธรรมกันเสียมากกว่า ไม่ได้มีมติใดออกมา นอกจากการบอกกล่าวของเฉลิมชัย ที่ประกาศถึงจุดเริ่มต้นของความเป็นเอกภาพได้เกิดขึ้นในพรรคแล้ว

‘ประชาธิปัตย์ที่นิ่งอยู่กับที่เหมือนกบจำศีล วันนี้ออกพรรษาแล้ว กบก็เลิกจำศีลแล้ว’

‘วันนี้ผมจะทำงานในหลักการของประชาธิปัตย์อย่างแท้จริง จะเอาหลักการกลับมาให้ทุกคนดู’

และอีกหลาย ๆ คำพูด ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นจะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่พรรค อย่างช้าต้องได้เห็นในช่วงการประชุมใหญ่สามัญประจำปีในเดือนเมษายนปีหน้า อาทิ ข้อบังคับพรรคที่ถูกมองล้าสมัย ไม่เปิดโอกาสให้คนนอกมีส่วนร่วม..ไม่รู้ว่าจะมีเรื่องกฎเจ้าปัญหา 70:30 รวมอยู่ด้วยหรือเปล่า

แต่สิ่งหนึ่งที่ยังติดแน่นสนิท แกะไม่ออก คือการถูกมองเป็น ‘พรรคอะไหล่’ รอการเข้าร่วมรัฐบาลของประชาธิปัตย์ ซึ่งเริ่มจากช่วงสายวันพุธที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ไม่มีคนของประชาธิปัตย์แม้แต่คนเดียว ไปร่วมแสดงความยินดีกับผู้นำฝ่ายค้านฯ คนใหม่ 

ประมวล พงศ์ถาวราเดช ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงในเวลาต่อมาว่า ได้รับแจ้งกระชั้นชิดจึงไปร่วมไม่ทัน และได้ขอโทษไปแล้วว่า ‘ส.ส.ส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัดและเดินทางมาในพื้นที่กรุงเทพฯแล้ว จึงไม่ได้เตรียมชุดขาวปกติมาเพื่อมาร่วมในพิธี’ อย่างไรก็ตาม เฉลิมชัย  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการนัดพูดคุยกับผู้นำฝ่ายค้านฯ อยู่แล้ว จึงจะใช้โอกาสดังกล่าวในการแสดงความยินดี

ไม่รู้การให้เหตุผลแบบนี้จะพอรับฟังได้หรือเปล่า?

การไม่ไปร่วมพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ผู้นำฝ่ายค้านฯ ถูกนำไปพูดถึงในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์นอกรอบเมื่อวาน แต่รายงานแจ้งว่า เฉลิมชัย พยายามพูดตัดบทบอกสั้น ๆ ว่า ‘เดี๋ยวก็เจอกันแล้ว’ และไม่มีการนำเรื่องนี้มาพูดถึงอีก

ขณะที่เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์เช่นเคยว่า วันนี้ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านแน่นอน 100% ส่วนในอนาคตจะไปพูดแทน สส.และกรรมการบริหารของของพรรคไม่ได้ โดยยกเหตุการณ์ในปี 62 ที่มีการพูดแทน แต่สุดท้ายกลายเป็นว่ามีมติร่วมรัฐบาล

‘วันนี้เร็วเกินไปที่จะพูดค้าน หรือเข้าร่วม เพราะต้องคำนึงถึงสองส่วนนี้’

เดชอิศม์ ย้ำถึงการทำงานในฝ่ายค้านร่วมกับพรรคก้าวไกลว่า ต้องคุยกัน เพราะเราพึ่งได้หัวหน้าพรรค ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการส่งคนไปพูดคุย แต่วันนี้หัวหน้าพรรคก้าวไกลก็ยกหูมาคุยกับตน ซึ่งตนก็จะได้นัดคุยกันในทุกบทบาทช่วงหลังปีใหม่

‘มั่นใจว่าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะมีบทบาทสำคัญอย่างแน่นอน ผมได้ให้การบ้าน สส.ไปแล้ว โดยมีการแบ่งออกเป็นกลุ่ม’

จับอารมณ์และการทิ้งระยะห่างระหว่างประชาธิปัตย์กับก้าวไกลเวลานี้ ไม่เฉพาะคนจากนอกพรรคเท่านั้น ที่มองเข้าไปแล้วเห็นภาวะการรอคอยบางสิ่งบางอย่าง ที่ต้องรักษาสายสัมพันธ์อันดีกับพรรคเพื่อไทยเอาไว้ คนในพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีความรู้สึกที่ไม่ต่างกัน

สองเก้าอี้ใน ครม.ที่ถูกปล่อยว่างเอาไว้ จากปัญหาคุณสมบัติของ ‘ไผ่ ลิกค์’ และทนายถุงขนมในวันก่อน ยังพร้อมที่จะให้ 25 เสียงของประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของเฉชิมชัย เข้าไปเติมเต็มได้ตลอดในช่วงเวลาที่เหมาะสม ขอเพียงแต่รักษาระยะความเป็น ‘พรรคอะไหล่’ ไว้ให้ดีเท่านั้น

เสาร์-อาทิตย์นี้ ทีมงานบริหารประชาธิปัตย์ชุดใหม่ มีนัดหมายพบปะสังสรรค์ปีใหม่กันที่ฟลาเวอร์แลนด์ รีสอร์ต ที่แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ของ ‘เสี่ยจ้อน-อลงกรณ์’ ไม่รู้จะถือโอกาสฉลองอะไรกันล่วงหน้าด้วยหรือเปล่า

สำหรับประชาธิปัตย์ใน พ.ศ.นี้ และพ.ศ.ต่อๆ ไป คำพูดอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องทำให้เห็นคนถึงจะเชื่อ โดยเฉพาะคำว่า ‘พรรคอะไหล่’ ที่ชั่วโมงนี้ยังก้าวไม่ข้ามเสียที

ยืดหนี้เดิม เพิ่มหนี้ใหม่ กดค่าไฟ 4.20บาท

กระทรวงพลังงานตรึงและลดราคาพลังงาน ทั้งค่าไฟ น้ำมันดีเซล และก๊าซหุงต้ม เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน

เรื่องค่าไฟ  ตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายนปีหน้า ครัวเรือนที่ใช้ไฟน้อยกว่า 300 หน่วยต่อเดือนซึ่งมีอยู่ 17 ล้านครัวเรือน ตรึงค่าไฟราคาเดิมหน่วยละ 3.99 บาท  

บ้านไหนใช้ไฟเกิน 300 หน่วย จะลดค่าไฟให้จากที่จะต้องจ่ายในงวดเดือน มกราคม – เมษายน หน่วยละ 4.68 บาท ลงมาเหลือ 4.20 บาท

รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค บอกว่า อาจจะลดได้มากกว่านี้ จะเป็นเท่าไร ขอดูราคาก๊าซธรรมชาติวันที่ 1 มกราคม ก่อน 

ในมุมของรัฐบาล ค่าไฟถูกลง 48 สตางค์ จากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้เก็บที่หน่วยละ 4.68 บาท  เหลือหน่วยละ 4.20 บาท

ในมุมของผู้ใช้ไฟ กลุ่มที่ใช้ไฟมากกว่าเดือนละ 300 หน่วย ค่าไฟแพงขึ้น เพราะเคยจ่าย 3.99 บาท ปีหน้าต้องจ่ายเพิ่มขึ้นหน่วยละ 21 สตางค์

กกพ.กำหนดค่าไฟงวด 4 เดือนแรกของปีหน้า หน่วยละ 4.68 บาท   เพิ่มขึ้นจากค่าไฟปัจจุบันหน่วยละ 69 สตางค์ จากต้นทุนค่าเชื้อเพลิง อัตราแลกเปลี่ยน ที่เพิ่มขึ้น หน่วยละ 64 สตางค์

การที่รัฐบาลกดค่าไฟลงมาที่ 4.20 บาท คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ต้องแบกค่าเอฟทีแทนผู้ใช้ไฟหน่วยละ 48 สตางค์ 

หนี้ค่าเอฟทีเดิม ที่กฟผ. รับภาระแทนผู้ใช้ไฟตั้งแต่ปลายปี 2564 - 2565 ยังคืนไม่หมด ค้างอยู่ 95,777  ล้านบาท

ปัจจุบัน ผู้ใช้ไฟเป็นหนี้ กฟผ ที่ช่วยแบกค่าเอฟทีเมื่อสองปีก่อนไว้  หน่วยละ1.50บาท บวกกับหนี้ใหม่ที่มาพร้อมกับของขวัญปีใหม่ หน่วยละ 48  สตางค์  รวมเป็น 1.98 บาทต่อหน่วย

โลกนี้ไม่มีของฟรี หนี้ก้อนนี้ไม่ได้หายไปไหน  ผู้ใช้ไฟจะต้องชำระคืน กฟผ. ในรูปค่าเอฟทีในอนาคต และจะเป็นดินพอกหางหมูก้อนใหญ่ขึ้นๆ ถ้ารัฐบาลยังใช้วิธียืดหนี้เดิม เพิ่มหนี้ใหม่ เพื่อกดค่าไฟให้ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์