แก้ ม.112 ไปไม่ถึงยุบพรรคจริงหรือ? • ตามหุ้น ‘SABUY’ จุดจบขบวนการ NAKED SHORT • ค่าแรง 400 บาทล่ม บอร์ดค่าจ้างหักนายกฯ เศรษฐา

21 ธ.ค. 2566 - 08:44

  • แก้ ม.112 ไปไม่ถึงยุบพรรคจริงหรือ?

  • ตามหุ้น ‘SABUY’ จุดจบขบวนการ NAKED SHORT

  • ค่าแรง 400 บาทล่ม บอร์ดค่าจ้างหักนายกฯ เศรษฐา

DEEP-SPACE-15-SPACEBAR-Hero.jpg

แก้ ม.112 ไปไม่ถึงยุบพรรคจริงหรือ?

เปิดทำงานมาในปีหน้า จะมีเรื่องใหญ่ที่ค้างคามานานในศาลรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับคำตอบอย่างน้อย 3 เรื่อง ได้แก่ ความเป็นรัฐมนตรีของศักดิ์สยาม ชิดชอบ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ ปมหุ้นสื่อของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และคดีมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล

ศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัยคำร้องศักดิ์สยาม กรณีการถือหุ้นนอมินี หจก.บุรีเจริญ คอนสตรักชั่น จำกัด สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในวันพุธที่ 17 มกราคม 2567 ถ้าโชคดีไม่ผิด ก็กลับเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่ได้ แต่ถ้าผิดก็มีผลแค่เว้นวรรคไปสองปีเท่านั้น

ส่วนกรณีพิธา ถ้ามีปัญหาคุณสมบัติเรื่องหุ้นสื่อ ตามมาตรา 98 (3) ของรัฐธรรมนูญ ก็ต้องพ้นจากการเป็น สส.นับตั้งแต่วันที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ 19 กรกฎาคม 2566 แต่ถ้าไม่ผิดก็กลับมาทำหน้าที่ สส.แถมตกเบิกได้รับเงินเดือนย้อนหลังด้วย

แต่สำหรับคำร้องกรณีการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ที่ธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความอดีตพระพุทธอิสระ ยื่นร้องว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่นั้น ต้องรอดูผลวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร ‘ขัด-ไม่ขัด’ และถ้าขัดจะไปต่ออย่างไร 

เบื้องต้นชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้แสดงความมั่นใจว่าคดีนี้จะไม่เกิดปัญหาถึงขั้นต้องยุบพรรค!!

เพราะเชื่อว่าการกระทำของพรรคก้าวไกล ไม่เป็นความผิดตามคำร้อง และหวังว่าเมื่อไต่สวนในวันที่ 25 ธันวาคมนี้แล้ว หากไม่มีการไต่สวนเพิ่ม คาดว่าศาลจะนัดวินิจฉัยในช่วงปลายเดือน มกราคมหรือต้นกุมภาพันธ์ 2567

‘ผมไม่กังวลว่าจะไปถึงการยุบพรรค เพราะคดีนี้เป็นการร้องให้ยุติการกระทำ ไม่สามารถไปไกลถึงเรื่องยุบพรรคได้ ทั้งนี้ พรรคต่อสู้เต็มที่ และการเสนอร่างกฎหมายใด ๆ ไม่สามารถนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้ เพราะกระบวนการทางนิติบัญญัติมีกรอบชัดเจนว่า ไม่สามารถขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้’ 

ชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้าน

ชัยธวัช ย้ำความมั่นใจอีกว่า ในกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น สามารถเกิดได้ทั้งก่อนหรือหลังประกาศใช้โดยศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การเสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขกฎหมายใด ไม่เฉพาะมาตรา 112 เท่านั้น ในกระบวนการทางนิติบัญญัติไม่สามารถนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้ด้วยตัวของร่างกฎหมายนั้น ๆ

ดูจากที่ ชัยธวัช สาธยายมา ย่อมเป็นเหตุเป็นผล มีตรรกะที่พอรับฟังได้อยู่ไม่น้อย แต่ย้อนไปดูข่าวเก่า ๆ ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่ธีรยุทธ ไปยื่นร้องต่อ กกต.ได้นำเอกสารคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญปี 2562 ต่อเนื่องถึงปี 2564 ที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ แนบมาด้วย

เพื่อให้ตรวจสอบพรรคก้าวไกล ที่ประกาศในช่วงหาเสียงจะมีนโยบายในการแก้ไขมาตรา 112 ว่า จะเข้าข่ายขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยยึดหลักคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยตัดสินคดีไปก่อนหน้านี้

ธีรยุทธ ย้ำว่า ส่วนตัวมองว่า การที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายในการแก้ไขมาตรา 112 ถือว่าเข้าข่ายเซาะกร่อน บ่อนทำลาย ทำให้สถาบันหลักของชาติเสียหาย หรือได้รับความกระทบกระเทือน จึงมองว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน โดยในเนื้อหาคำร้องที่มายื่น มีเนื้อหาค่อนข้างจะชัดเจน จึงอยากให้ทางประธานกกต.รับคำร้องเอาไว้ เพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย

ในขณะที่ปรมาจารย์กฎหมายรัฐบาล ณ เวลานั้น วิษณุ เครืองาม ตอบคำถามสื่อถึงโทษานุโทษจากกรณีนี้จะร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่ว่า ‘อย่าไปถามล่วงหน้า เอาให้จบเรื่องก่อน’

เมื่อถามย้ำว่า คำร้องเขียนแค่ให้ยกเลิกการกระทำ ถือเป็นสารตั้งต้นให้คนมาร้องคดีอาญาหรือคดียุบพรรคภายหลัง กรณีหากศาลตัดสินว่าผิดใช่หรือไม่ วิษณุ พยักหน้าและตอบว่า ‘ใช่’ และอย่าให้ต้องไปแนะนำอะไรเลย

ก่อนหน้าโน้น มือกฎหมายระดับเนติบริกร เคยให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้หลายครั้ง โดยย้ำเป็นการร้องเพื่อให้หยุดการกระทำ ดังนั้น ผลที่ออกมาหากเป็นการกระทำที่เข้าข่าย มาตรา 49 ก็เพียงแต่สั่งให้หยุดการกระทำเท่านั้น ไม่มีผลที่จะนำไปสู่การยุบพรรคในทันที

แต่จะเป็นสารตั้งต้นสำหรับนำไปสู่การยื่นร้องได้ต่อไป..

เพราะฉะนั้น กรณีคำร้องมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ที่คาดว่าจะมีการนัดฟังคำวินิจฉัยในช่วงปลาย มกราคม หรือต้น กุมภาพันธ์ 2567 นั้น จะมีผลออกมาเป็นสองทางคือ หากการกระทำดังกล่าวไม่เข้าข่ายความผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ทุกอย่างก็จบและพรรคก้าวไกล ก็ยังสามารถเดินหน้ายื่นขอแก้ไขมาตรา 112 ได้ต่อไป

แต่ถ้าศาลวินิจฉัยว่าเป็นความผิด พรรคก้าวไกล ก็ต้องหยุดการกระทำ และเป็นช่องทางให้ผู้ที่จะนำไปร้องพรรคก้าวไกล ใช้เป็น ‘สารตั้งต้น’ ร้องเอาผิดพรรคก้าวไกลได้ต่อไป

สุดท้ายเรื่องคดีมาตรา 112 จะนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกลได้หรือไม่ จึงยังต้องรอฟังคำตอบจากศาลรัฐธรรมนูญในช่วงต้นปีที่จะถึงนี้ก่อน

ตามหุ้น ‘SABUY’  จุดจบขบวนการ NAKED SHORT

ปฎิบัติการตามล่าหาหุ้นบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY ที่หายไปราว 20 ล้านหุ้น ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคมที่ผ่านมาของ ‘เฮียชู’ ชูเกียรติ รุจนพรพจี กำลังเป็นเรื่องที่ผู้คนในแวดวงตลาดหุ้นกำลังเฝ้าติดตามด้วยใจระทึกว่าจะสามารถขยายผลและสร้างแรงสั่นสะเทือนขนาดไหน

เพราะความจริงที่จะปรากฎในกรณีนี้ ไม่เพียงจะเป็นบทพิสูจน์การมีอยู่จริงของรายการ NAKED SHORT หรือการขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นอยู่ในมือที่ถูกปฏิเสธมาตลอด ทั้งจากผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้บริหารบริษัทโบรกเกอร์บางคนที่ยืนยันว่าการตรวจสอบไม่พบการกระทำความผิดใด ๆ แต่จะกลายเป็น การเปิดโปงขบวนการโกงนักลงทุนในประเทศครั้งใหญ่

ที่สำคัญยังจะยืนยันถึงความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในระบบตรวจสอบของตลาดหลักทรัพย์ฯ และอาจจะต้องมีใครหลายคนแถวรัชดาฯที่กำลังบ่นว่า “หนาวมาก” เกิดอาการนั่งไม่ติดเก้าอี้ และอาจจะต้องแสดงความรับผิดชอบบางอย่าง

หากกย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของ อาการ ‘ของขึ้น’ ที่นำไปสู่ปฎิบัติการเดินสายร้องเรียนสารพัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ของชูเกียรติ CEO ของ SABUY เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะมันเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวดใจเหลือเกินสำหรับเจ้าของหุ้นที่ต้องมาเห็นหุ้นของตัวเองถูกทุบราคาลงไป เพราะโดนขโมยหุ้นที่ไปฝากเก็บไว้ในคัสโตเดียน หรือผู้ดูแลรักษาสินทรัพย์ เอาไปให้โบรกเกอร์บางรายนำไปขายชอร์ตในตลาด จนทำให้ราคาหุ้น SABUY ดิ่งเหว 

ชูเกียรติ ระบุว่า พบหลักฐานการทำ NAKED SHORT หุ้นของ SABUY หลังจากมีการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งปรากฏว่า   ในระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีหุ้นจำนวนหนึ่งจาก 100 ล้านหุ้นที่ผู้ถือหุ้นใหญ่นำไปฝากเก็บไว้กับคัสโตเดียน หายไปราว 20 ล้านหุ้น ทั้ง ๆ ที่ผู้ถือหุ้นรายดังกล่าวไม่ได้ปล่อยให้มีการยืมหุ้นแต่อย่างใด และเพิ่งมีหุ้นกลับมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 

เขาเชื่อว่าหุ้นที่หายไปจำนวนประมาณ 20 ล้านหุ้น อาจถูกนำไปทำ NAKED SHORT โดยโบรกเกอร์ 2 ราย และเรียกร้องให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตรวจสอบแต่ก็ได้รับคำตอบที่น่าผิดหวังว่าไม่มีอะไรผิดปกติ

ชูเกียรติ ไม่ยอมแพ้ในเรื่องนี้ และตัดสินใจ “เดินหน้าชน” โดยอาศัยความสัมพันธ์ที่ตัวเองรู้จักมักคุ้นกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ไปยื่นหนังสือร้องเรียน และขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เข้ามาดูแลคดีนี้ เพราะเชื่อว่ามีขบวนการฉ้อโกงนำหุ้นออกไปให้โบรกเกอร์บางรายยืม และนำไปขายชอร์ตในตลาดผ่าน Porgram Trade จนทำให้ราคาของหุ้น SABUY ถูกทุบลงมาอย่างหนัก

เขายังให้ฝ่ายกฎหมายของ SABUY รวบรวมหลักฐาน และรายชื่อนักลงทุนรายย่อยที่ได้รับความเสียหาย เข้าแจ้งความกับ DSI เพื่อรับเป็นคดี และสอบสวนดำเนินคดีผู้กระทำผิด เพราะนอกจากสร้างความเสียหายให้กับบริษัทแล้ว ยังทำให้นักลงทุนที่ถือหุ้น SABUY ได้รับความเสียหาย 

ยิ่งไปกว่านั้น ชูเกียรติ ยังหอบเอกสารหลายหน้ากระดาษไปส่งถึงมือ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่กำลังลงมาจัดการเรื่องนี้ แทน นายกฯ และรมว.คลัง เศรษฐา ทวีสิน

ขบวนการขุดคุ้ยตรวจสอบ NAKED SHORT ในหุ้น จึงกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ท่ามกลางความสนใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในตลาดหุ้น ซึ่งหากพิสูจน์ได้ว่า หุ้น SABUY ถูก ROBOT โจมตี มีการเล่นนอกกติกา ทำรายการ NAKED SHORT จะหมายถึงยังมีหุ้นตัวอื่น ๆ อีกนับสิบนับร้อยตัวที่ถูกทำ NAKED SHORT เหมือนกัน ซึ่งหมายถึงความล้มเหลว ถึงขั้นล้มละลายในระบบการตรวจสอบของตลาดหลักทรัพย์ฯ

ยิ่งไปกว่านั้น ชูเกียรติ ยังเปิดปฎิบัติการใหม่ที่เขาใช้ชื่อว่า ‘ย้อนเกล็ดชอร์ตเซล’ เปิด ‘GameStop Thailand’ เลียนแบบ ปฎิบัติการคล้ายคลึงกันที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยการผนึกกำลังผู้ถือหุ้นรายใหญ่กอดหุ้น SABUY เอาไว้ให้แน่น เพื่อแก้เผ็ดขบวนการชอร์ตเซล 

จากข้อมูลในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีมือดีประสงค์ร้ายทำการชอร์หุ้น SABUY รวมกันไม่ต่ำกว่า 120 ล้านหุ้นที่ราคาเฉลี่ย หุ้นละ 8.50 บาท แต่หากดูในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อาจจะสูงถึง 250 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ยประมาณหุ้นละ 11 บาท ซึ่งจะต้องเข้ามาเก็บหุ้นเพื่อไปคืน แต่หากมีการผนึกกำลังกันในกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่ขายหุ้นก็จะบีบให้วายร้ายกลุ่มนี้ต้องไปไล่ซื้อเก็บจากในกระดาน ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้น SABUY จะยิ่งพุ่ง และต้นทุนของกลุ่มชอร์ตเซลจะแพงขึ้น

กรณีเลวร้ายสุด หากวายร้ายกลุ่มนี้ไม่มีหุ้นไปคืน ก็อาจจะต้องถูกบังคับขายหุ้นตัวอื่นมาใช้ หรืออาจจะต้องถึงขั้นปิดบัญชีหนีตาย   

ปฎิบัติการเอาคืน ของบิ๊กบอส SABUY ในครั้งนี้ จึงอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบระบบ ROBOT ในตลาดหุ้นไทย และอาจกลายเป็นบันทึกหน้าสุดท้ายที่ปิดลงแบบไม่สวย ของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯบางคน ที่พยายามปกป้องระบบ Program Trading ชนิดหัวชนฝาก็เป็นได้ อีกไม่นานคงมีคำตอบ...

ค่าแรง 400 บาทล่ม บอร์ดค่าจ้างหัก นายกฯเศรษฐา

นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะเป็นการพิสูจน์ผลงานของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร เพราะดูเหมือนจะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ รัฐนาวาของรัฐบาลชุดนี้ เครื่องยนต์เกิดอาการติด ๆ ดับ ๆ อีกครั้ง เพราะอะไรที่สั่งการลงไปไม่ได้ผลตามที่ต้องการ

ไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 แถลงชัดเจนว่า ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 10/2566  ในวันที่ 20 ธันวาคม  ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยึดตามมติเดิมในวันที่ 8 ธันวาคม 2566

ตามมติเดิม จะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 2-16 บาทต่อวันตามพื้นที่จังหวัด  เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำถูกปรับขึ้นไปต่ำสุดวันละ 330 บาท (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ถึงสูงสุดวันละ 370 บาท คือที่ภูเก็ต 

นับเป็นท่าทีชัดเจนของบอร์ดค่าจ้าง และกระทรวงแรงงาน ที่เวลานี้มี พิพัฒน์ รัชกิจประการ จากพรรคภูมิใจไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ ที่ดูเหมือนจะเล่นบท “เอามือซุกหีบ” ไม่เข้าไปแทรกแซงการตัดสินใจของคณะกรรมการไตรภาคี เพียงแต่ฝากหารือให้ลองทบทวนดู 

ก่อนการประชุมบอร์ดค่าจ้างจะเริ่มขึ้น  มีการนำส่งข้อความสั้น ๆ ให้คณะกรรมการระบุตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลต้องการ และขอให้มีการปรับสูตรคำนวนณใหม่ แต่สุดท้ายก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมติของบอร์ด 

การยืนยันตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำตามมติเดิม สวนทางกับความต้องการของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ปรับมาเป็นวันละ 400 บาท ซึ่งเมื่อตอนที่รับทราบมติบอร์ดค่าจ้างเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม นายกฯ เศรษฐา ถึงกับหัวเสีย อุทานว่า ‘โอ๊ย ผมรับไม่ได้หรอกครับ ต้องทบทวน’

แถมยังไปบอกอีกว่า “ไม่สบายใจ รับไม่ได้ ค่าแรงต้องแฟร์กว่านี้  ถ้ามีการเสนอเรื่องนี้ เข้าคณะรัฐมนตรีจะไม่ยอม เราจะยอมหรือ ไม่เข้าใจทำไมขึ้นแค่นี้ ไม่เห็นด้วยแน่นอน” และยังบ่นอีกว่า ค่าแรงที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นแค่วันละ 2 บาท ไข่ใบเดียวยังแพงกว่าเลย 

ยังไม่มีใครทราบท่าทีว่า หลังจากที่นายกฯ เศรษฐากลับมาจากลาพัก และรับทราบมติเรื่องค่าแรงแล้ว จะออกอาการอย่างไรอีก เพราะนอกจากไม่มีเสียงตอบรับจากกคณะกรรมการไตรภาคีแล้ว ยังกล้าสวนหมัดแรง ๆ กลับมาขนาดนี้  

แต่ที่มีท่าทีชัดเจน คือ รัฐมนตรีแรงงาน พิพัฒน์ รัชกิจประการ อธิบายถึงจุดยืนกระทรวงแรงงาน ว่า ‘การพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำในรายจังหวัดให้ถึงวันละ 400บาท คงจะมีผลกระทบกับบางภาคธุรกิจ’ 

เขาจึงให้นโยบายปลัดกระทรวงแรงงานไปว่า ให้ศึกษารายละเอียดถึงระดับอาชีพ ที่สามารถแยกออกไป และสามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้สูงขึ้น ไม่ใช่การพิจารณาขึ้นรายจังหวัด แต่ให้พิจารณาเป็นรายอำเภอ หรือรายเทศบาล ซึ่งจะเป็นการลงรายละเอียดมากขึ้น เพราะในบางธุรกิจในบางพื้นที่อาจจะไม่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการประกาศค่าจ้างภาพรวม อาจไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ

‘ผมในฐานะการเมืองไม่มีสิทธิแทรกแซงหรือชี้นำไตรภาคี แต่สามารถแนะนำฝ่ายข้าราชการได้ว่าให้คงหลักการในอดีตไว้ แต่ให้ลงในรายละเอียด แต่ทั้งหมดนั้นก็อยู่ที่ข้อสรุปของไตรภาคี’ พิพัฒน์ ยืนยันอีกครั้ง

ขั้นตอนหลังจากนี้เมื่อ มติบอร์ดค่าจ้างยืนยันตามที่เสนอมา  กระทรวงแรงงานก็ต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของ คณะรัฐมนตรีภายในวันที่ 26 ธันวาคมนี้  เพื่อให้ทันบังคับใช้ในเดือนมกราคมปีหน้า

ส่วนมติ ครม.จะออกมาอย่างไร ต้องไปวัดใจ นายกฯ เศรษฐากับพรรคเพื่อไทยว่า จะทำอย่างไร เมื่อเคยประกาศกร้าวออกไปก่อนหน้านี้แล้วว่าจะไม่ยอม แต่ดูเหมือนคณะกรรมการไตรภาคี กลับยังคงยืนกรานไม่ยอมปรับไปตามแรงกดดันทางการเมือง เพราะเคยได้รับบทเรียนสมัยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อตอนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั้งประเทศ ที่ทำเอาบรรดาธุรกิจ SME วินาศไปตาม ๆ กัน

คงต้องวัดขนาดของหัวใจ นายกฯ เศรษฐา ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดส่งท้ายปลายปีนี้ เพราะหากยืนยันจะให้ขึ้น ก็ต้องไม่เซ็นอนุมัติเพื่อประกาศค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งหมายความว่า แรงงานทั้งประเทศก็จะไม่ได้รับการปรับค่าแรง แต่อาจจะเป็นการโยนแรงกดดันกลับไปที่ 

คณะกรรมการไตรภาคี ที่จะตกเป็น ‘จำเลย’ หรือ ผู้ร้ายในสายตาของ บรรดาแรงงานทั่วประเทศ หรือ ต้องยอม ‘กัดฟัน’ กลืนเลือด ยอมให้นโยบายเรื่องขึ้นค่าแรงวันละ 600 ภายใน 4 ปี กลายเป็นเพียงนโยบายขายฝัน ไม่ตรงปก เหมือนอีกหลายๆ นโยบายก่อนหน้านี้หรือไม่...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์