ปชป.ในวันที่ยังรอ การเปลี่ยนแปลง

23 ก.พ. 2567 - 08:21

  • วันประชุมใหญ่ประจำปี ยังมองไม่เห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลง

  • เสียเวลาไปกับการชี้แจงความไม่ชัดเจนเรื่องทิศทางของพรรค

economy-democrat-Party-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังพรรคประชาธิปัตย์ โหวตเลือกเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรค คนที่ 9 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ปีที่แล้ว ท่ามกลางรอยร้าวลึกในพรรค ที่ไม่เคยมีครั้งไหนจะมีปัญหาความแตกแยกเท่าครั้งนี้ เพราะกว่าจะเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ได้ ต้องจัดประชุมใหญ่ขึ้นถึง 3 ครั้ง

แทบจะเรียกได้ว่าประชาธิปัตย์ยุคนี้ แตกละเอียดยิบตั้งแต่ข้างบนสุดลงมาจนถึงล่างสุด

ดังนั้น ในทันทีที่มีการประชุมกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่อย่างไม่เป็นทางการนัดแรก ในวันที่ 21 ธันวาคม "เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย" จึงประกาศภารกิจแรก คือ การสร้างความเป็นเอกภาพขึ้นในพรรค พร้อมเลิกเป็นกบจำศีล ออกมาขับเคลื่อนพรรคประชาธิปัตย์ไปข้างหน้า โดยรับปากจะนำพาการเปลี่ยนแปลงมาสู่พรรค ที่สามารถสัมผัสได้อย่างแน่นอนในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี2567 ที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายนนี้

แต่ผ่านไปสองเดือนเศษ พรรคประชาธิปัตย์ เพิ่งเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคอย่างเป็นทางการ ครั้งที่สองในวันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งทิ้งระยะห่างจากครั้งแรกร่วมเดือนเศษ

ตลอดสองเดือน ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ เสียเวลาไปกับการชี้แจงความไม่ชัดเจนเรื่องทิศทางของพรรค โดยเฉพาะคำว่า "พรรคอะไหล่" รอการเข้าร่วมรัฐบาล ที่ถูกประทับตราไว้แน่น กว่าจะประกาศท่าทีเข้าร่วมทำงานเป็นฝ่ายค้านกับพรรคก้าวไกล เวลาก็ล่วงเลยผ่านปีใหม่ไปหลายสัปดาห์

ทว่ายังไม่ทันได้ขยับอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ก็มาติดหล่มกรรมเก่าเรื่องหมูเถื่อน ตีนไก่เถื่อน ที่มีคนใกล้ชิดเฉลิมชัย สมัยดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ มีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่กับขบวนการลักลอบนำเข้าด้วยหลายคน 

ทำให้บทบาทการเมืองในสภาของประชาธิปัตย์ในช่วงที่ผ่านมา จำกัดจำเขี่ยอยู่กับ สส.รุ่นเก่าไม่กี่คน ที่อาศัยประสบการณ์ความเก๋าเฉพาะตัวอภิปรายในสภา และให้สัมภาษณ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล จึงยังไม่ได้เห็นการทำหน้าที่ฝ่ายค้านเข้มแข็งจากพรรคประชาธิปัตย์ อย่างที่ได้ปวารณาตัวไว้  

มาถึงวันนี้ เหลือเวลาอีกราวหนึ่งเดือนเศษ ก็จะถึงวันประชุมใหญ่ประจำปี แต่ยังมองไม่เห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่การประชุมกรรมการบริหารพรรคครั้งล่าสุด ก็ดูเหมือนยังมะงุมมะหงาหราอยู่กับการให้หัวหน้าภาคในแต่ละภาค นำเสนอวิสัยทัศน์ของแต่ละภาคว่ามีแผนงานอะไรบ้างที่จะทำ

ส่วนมีที่จับต้องได้บ้าง น่าจะเป็นการแก้ไขข้อบังคับพรรค ให้สอดคล้องกับกฎหมายพรรคการเมืองที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม พร้อมกับอุดช่องโหว่ช่องว่างปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพรรคช่วงที่ผ่านมาไปในตัว

แต่การแก้ไขข้อบังคับ หลายคนยังมองไม่เห็นความจำเป็นรีบด่วนต้องทำในตอนนี้ เพราะกว่าจะเลือกตั้งยังมีเวลาอีกนาน จึงควรไปให้ความสำคัญเรื่องอื่นที่รอไม่ได้มากกว่า เช่น การฟื้นความเชื่อมั่น และการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ยังมีอยู่ในพรรค

เพราะผ่านมาถึงวันนี้ปัญหาความขัดแย้ง ยังเป็นสารตกค้างอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะการตั้งโฆษกผิดคน ที่ดันไปคว้าเอา **"ราเมศ รัตนเชวง"**โทรโข่งใบเดิมที่เป็นกระบอกเสียงส่วนตัวนายหัวมาทำหน้าที่ จึงทำให้งานด้านการสื่อสารเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น 

จนสุดท้ายต้องแก้ลำด้วยการตั้ง "ธนา ชีรวินิจ" อดีต สส.กรุงเทพฯ และอดีตเลขานุการ รมว.เกษตรฯ ของเฉลิมชัย มาทำหน้าที่โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อไม่กี่วันก่อน เพื่อให้มาตีปี๊บการทำงานไปในทางเดียวกับหัวหน้าพรรค

เรื่องของเรื่องเพราะประชาธิปัตย์ มีข้อแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น ตรงที่กรรมการบริหารพรรคแม้หัวหน้าพรรคจะเป็นคนเลือก แต่เมื่อเสนอชื่อให้ที่ประชุมใหญ่รับรองแล้ว จะไม่สามารถไปปรับเปลี่ยนใด ๆ ได้ ยกเว้นเหตุแห่งการตายหรือเจ้าตัวลาออกเองเท่านั้น

แต่ที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ขยับไม่ออก ปัญหาคงไม่ได้อยู่ที่โทรโข่งพรรคไม่ทำหน้าที่ หรือทำไม่ได้ดั่งใจ จนต้องตั้งโทรโข่งประจำตัวหัวหน้าพรรคขึ้นมาหรอก ซึ่งคนในพรรคเองย่อมรู้ดีว่าปัญหาใหญ่อยู่ที่ไหน..ภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ อันเป็นที่มาของศรัทธาพร่องไปหรือไม่

พรุ่งนี้ มะรืนนี้ ต่อให้ผ่านการประชุมใหญ่อีกกี่ครั้ง หากเปลี่ยนไม่ถูกจุด ประชาธิปัตย์ ก็ยังต้องรอวันการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์