นายกฯ เปิดศึกแบงก์ชาติ หาแพะรับบาป • ลดดอกเบี้ย เพื่อใคร? • สัญญาณปรับ ครม.วัดใจ ‘อุ๊งอิ๊ง’

10 ม.ค. 2567 - 09:52

  • ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติจะจบอย่างไร

  • บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ยอดขายกำไร ขึ้นกับดอกเบี้ย ลดดอกเบี้ยจึงต้องถามว่าเพื่อใคร

  • สัญญาณการปรับ ครม.เริ่มชัดเจนขึ้น รอคำตอบสุดท้ายใครเป็นนายกฯ

DEEP-SPACE-25-SPACEBAR-Hero.jpg

นายกฯ เปิดศึกแบงก์ชาติ หาแพะรับบาป

DEEP-SPACE-25-SPACEBAR-Photo00.jpg

อาการฟาดงวง ฟาดงา ของพญาช้างสาร ระดับนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ X ออกสื่อ แสดงความไม่พอใจกับการดำเนินนโยบายด้านการเงินของแบงก์ชาติ ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยในคราวนี้ ถึงขนาดเชิญผู้ว่าแบงก์ชาติ ดร.นก-เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ไปนั่ง ‘ปุจฉา-วิสัชนา ที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นครั้งที่สองในวันนี้ สะท้อนชัดเจนอย่างมาก ถึงวิธีคิดแบบนักการเมืองยุค ‘ไดโนเสาร์’ ที่ไม่ได้สูญพันธุ์ไปจากทำเนียบฯ จริงอย่างที่นายกฯ เหน็บแนมไว้เมื่อวันก่อน

ไดโนเสาร์พันธุ์นี้จะมีกรอบความคิด ‘ปกป้องตัวเอง’ และหมู่คณะ ที่มักจะชี้นิ้ว ‘โทษคนอื่นเท่าภูเขา ความผิดเราเท่าเส้นผม’

ไดโนเสาร์พันธุ์นี้จะมี ‘อีโก้’ สูงปรี๊ดทะลุระดับ 10 และมักมองข้ามความผิดพลาดของตัวเอง แต่มักจะชอบหา ‘แพะ’ รับบาปเพ่งโทษไปที่คนอื่น โทษเหตุการณ์รอบๆ ตัว หรือแม้แต่โทษเทพยดา ฟ้าดิน ที่ไม่เป็นใจ เพราะง่ายที่จะผลักความรับผิดชอบออกไป และช่วยทำให้ความรู้สึกผิดลดลง 

ที่ต้องเปรียบเปรยอย่างนี้ เพราะหากมองย้อนกลับไปต้องยอมรับว่าที่สถานการณ์มัน ‘เละ’ ขนาดนี้ เป็นผลจากการที่รัฐบาลของนายกฯเศรษฐา ‘ติดกระดุมเม็ดแรกผิด’ มาตั้งแต่วันแรก เพราะมี**‘อคติ’** บังตา จนทำให้ตีโจทย์ หรือ วินิจฉัยโรคผิด แถมยังมุ่งจะชนะการเลือกตั้งแบบ ‘แลนด์สไลด์’ จากนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่หวังจะได้ใจคนรากหญ้าที่อยากได้เงินหมื่น

แต่หลังจากได้มีโอกาสเข้ามาบริหารประเทศ กลับปรากฎว่ารัฐบาลกลับทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดภาวะชะงักงัน และค่อย ๆ จมลงไปสู่วิกฤตในทุกขณะเพราะมัวแต่พยายามหาทางออกจากกับดักเชิงนโยบายที่ตัวเองสร้างเอาไว้ตั้งแต่แรก

รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบนโจทย์ที่เชื่อว่า เศรษฐกิจของไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ เข้าขั้น ‘โคม่า’ จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือ ‘กระตุ้นหัวใจ’ ครั้งใหญ่ โดยใช้วิธีการแจกเงินผ่านโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต หนึ่งหมื่นบาท ในวงเงินสูงถึง 5 แสนล้านบาท

โจทย์นี้ตรงกันข้ามกับมุมมองของแบงก์ชาติ ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยพ้นจากอาการโคมาหลังโควิด-19 แล้ว เพียงแต่ยังมีอาการ Long COVID จำเป็นต้องมีการทำกายภาพบำบัด ฟื้นฟูสภาพให้กลับมาลุกขึ้นเดินเหินได้ใหม่ 

มุมมองที่ต่างกันคนละขั้วแบบนี้ ทำให้นายกฯ เศรษฐา เคยออกอาการไม่สบอารมณ์กับผู้ว่าแบงก์ชาติที่ไม่ออกโรงช่วยสนับสนุนนโยบายแจกเงินของรัฐบาล จนมีการ เชิญผู้ว่าฯ นก เศรษฐพุฒิมาจับเข่าคุยกันแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว 

ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้าน แต่ดูเหมือนรัฐบาลก็ยังพยายาม ‘ดึงดัน’ เข็นโครงการให้ไปต่อให้ได้  โดยปรับแผนหันมาเสนอเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน แต่ก็ดูจะมีความสุ่มเสี่ยงว่าจะขัดกับ มาตรา 53 และ 57 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หากไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤต ถึงขนาดมีความจำเป็นเร่งด่วนและต่อเนื่องจนต้องออก พ.ร.บ.เพื่อใช้เงินนอกงบประมาณก้อนนี้จริงหรือ?

เชื่อกันว่า มาถึงนาทีนี้รัฐบาลเองก็รู้อยู่ลึกๆ ว่า โครงการนี้คงไปต่อยาก แต่ที่ยังเป็น ‘ไดโนเสาร์’ ปากแข็ง ดึงดันจะเดินไปต่อ ก็เพราะหวังว่า ตอนจบจะพลิกบทมาเป็น‘พระเอก’ โดยสร้างภาพให้อีกฝั่งที่ไม่เห็นด้วยและพยายามล้มโครงการนี้กลายร่างเป็น ‘ผู้ร้าย’ในสายตาประชาชน

คงเพราะเหตุนี้ จึงทำให้รัฐบาลต้องงัด Plan B หรือ แผนสองขึ้นมาใช้ เพราะเมื่อการจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการแจกเงินทำท่าจะมีปัญหา จะไปใช้นโยบายด้านการคลังด้วยวิธีอื่น เช่น การลดภาษีก็มีข้อจำกัด เพราะจะกระทบการจัดเก็บรายได้ จึงต้องหันกลับ 360 องศา มา ‘เล็ง’ เป้าไปที่นโยบายด้านการเงิน คือ เรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ย 

ละครฉากใหม่ จึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อสร้างภาพว่า รัฐบาล พยายามกดดัน แบงก์ชาติ ให้หันมาใช้นโยบายด้านการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น โดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการที่ แบงก์ชาติ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนมาอยู่ในระดับ 2.5% และยังไม่ยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ทั้ง ๆ ที่เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องมาถึง 3 เดือน 

นายกฯ เศรษฐา และทีมงานด้านเศรษฐกิจ คงมองว่าหากกดดันสำเร็จ อย่างน้อยก็น่าจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วแบงก์ชาติเองก็เริ่มส่งสัญญาณไปในทิศทางนี้อยู่แล้ว เห็นได้จากการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25-2.5% ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา 

แต่การจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมานั้น ยังต้อรอความชัดเจนจาก FED ว่าจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเมื่อไร เพราะประเทศไทยไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว เพราะอาจจะเกิดสภาพเงินทุนไหลออก หากอัตราดอกเบี้ยของไทยต่ำกว่าและมีส่วนต่างกับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ มากจนเกินไป

ขณะเดียวกันแบงก์ชาติเองก็รอความชัดเจนในเรื่องของนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลว่าจะมีบทสรุปอย่างไร เพราะหากใช้นโยบายทั้งการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายพร้อม ๆ กัน อาจจะส่งผลกระทบเชิงลบที่ทำให้ อัตราเงินเฟ้อ ที่รัฐบาลกดเอาไว้จากมาตรการลดค่าครองชีพหลายด้านในช่วงที่ผ่านมา อาจจะถีบตัวสูงขึ้นจนสร้างปัญหาใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย   

แต่ละครฉากใหม่ที่รัฐบาลกำลังเดินอยู่ในตอนนี้ คือ ‘เกมเสี่ยง’ เสี่ยงอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นในมุมมองของนักลงทุนและต่างชาติ เพราะในสายตาของต่างชาติ เมื่อไรที่ประเทศไหน มีสถานการณ์ที่รัฐบาลขัดแย้งกับธนาคารชาติ และรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงกดดันธนาคารชาติ มักจะถูกตีความว่าเศรษฐกิจประเทศนั้นกำลังมีปัญหาหนัก

ไป ๆ มา ๆ หากถึงขึ้นเปิดศึกกันจริง ๆ จนเรื่องบานปลาย มันอาจจะกลายเป็นตัวฉุดลากให้ เศรษฐกิจไทยเดินเข้าสู่วิกฤตจริงๆซึ่งหากไปถึงจุดนั้น ไม่เพียงไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่จะต้องสูญพันธุ์ไป แต่อาจจะกลายเป็น ‘บาปเคราะห์’ ครั้งใหญ่ ของพรรคเพื่อไทย ที่ทำให้ประเทศไทยเดินไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายอีกครั้งก็เป็นได้...

                                                                         ######

ลดดอกเบี้ย เพื่อใคร?

DEEP-SPACE-25-SPACEBAR-Photo02.jpg

นักธุรกิจ ไม่มีใครหรอกไม่อยากให้ แบงก์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมา เพราะได้ประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่อง คือ ต้นทุนการเงินลดลง และซื้อง่าย ขายคล่อง เพราะลูกค้าหรือผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

รัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่มาจากภาคธุรกิจ จึงชอบกดดันให้แบงก์ชาติ ลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อส่งสัญญาณให้แบงก์พาณิชย์ ลดดอกเบี้ยตาม เพราะแบงก์ชาติไม่มีอำนาจสั่งให้แบงก์ขึ้นหรือลดดอกเบี้ยได้เอง 

แบงก์ชาติไม่ได้ทำมาค้าขาย ไม่มีหน้าที่หากำไร แต่ต้องรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ โดยใช้นโยบายการเงิน เป็นเครื่องมือ  ถ้าเห็นว่าเศรษฐกิจชักจะร้อนแรงเกินไป ก็แตะเบรกโดยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ถ้าเศรษฐกิจมีแนวโน้มว่า จะตกต่ำ ก็เหยียบคันเร่ง ด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบาย 

คนเป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ จึงต้องมองรอบด้าน คิดมากกว่า คนเป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่มาจากภาคธุรกิจ

นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน มาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นซีอีโอ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ อันดับหนึ่งของประเทศไทย ก่อนมาเป็นผู้นำประเทศ ย่อมเข้าใจดีว่า อัตราดอกเบี้ยมีผลต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างไร

รายงานข่าวของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์  ธนาคารอาคารสงเคราะห์ อ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของประศาสน์ ตั้งมติธรรม กรรมการ บมจ. ศุภภาลัยว่า  ปี 2566 แบงก์ชาติปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายเป็น 2.5 %  ซึ่งทุกๆ 1 % ของดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น จะมีผลต่อการผ่อนชำระสินเชื่อต่อเดือนสูงขึ้นราว11 %  ซึ่งถือว่าเป็นการทำลายกำลังซื้อไปส่วนหนึ่ง

อธิบายง่าย ๆ ว่า ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ค่างวดต่อเดือนของผู้ซื้อบ้านสูงขึ้น ซึ่งอาจจะสูงเกินเกณฑ์ที่ธนาคารจะให้สินเชื่อ เมื่อพิจารณาจากรายได้ของผู้ขอกู้ จึงปฏิเสธไม่ให้สินเชื่อ ทำให้ผู้ประกอบการขายบ้าน คอนโดฯ ได้ลดลง

บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด  สรุปภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่า ปี 2565 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ในตลาดหลักทรัพย์ 37 แห่ง มีรายได้รวมประมาณ 330,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 18.05 %  กำไรสุทธิ 44,421 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 27.94 %  มีความสามารถในการทำกำไรเฉลี่ยอยู่ที่ 13.28 %  เพิ่มขึ้นจาก 11.57%ในปี 2564

เมื่อพิจารณาผลดำเนินงานของ 10 บริษัทที่มีกำไรสูงสุด พบว่า มีรายได้เป็นสัดส่วนถึง75.14 %  ของรายได้ทั้งหมด มีกำไร 94.21 %ของกำไรสุทธิทั้ง 37 บริษัท

                                                                       ######

สัญญาณปรับ ครม.มาแล้ว รอวัดใจ‘อุ๊งอิ๊ง’ มา - ไม่มา

DEEP-SPACE-25-SPACEBAR-Photo01.jpg

เรื่องปรับ ครม. ‘เศรษฐา 1’ ช้าเร็วอย่างไรต้องมีแน่ ตามสไตล์ ‘นายใหญ่’ เพื่อไทย ที่มักจะปรับในทุก ๆ 6 เดือน ด้วยเหตุผลของเก้าอี้ดนตรีและสมบัติผลัดกันชม

ยิ่ง ครม.ชุดปัจจุบัน อุดมไปด้วยเสนาบดีโลกลืม จัดครม.แบบผิดฝาผิดตัว ผ่านมาถึงวันนี้ใกล้จะครบ 6 เดือนแล้ว ยังมีรัฐมนตรีหลายคนถูกประกาศตามหาคนหายอยู่ ด้วยเหตุผลที่ว่าจึงยิ่งทำให้ง่ายต่อการปรับ ครม.ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอด

ล่าสุดได้เห็นสัญญาณปรับ ครม.ออกมาบ้างแล้ว จากข่าวการลาออกจาก สส.บัญชีรายชื่อของ 3 รัฐมนตรี ได้แก่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม, สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี และประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

แถมมีการกดดันต่อไปยังอีก 2 รัฐมนตรี คือ สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม และเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย

โดย ‘บิ๊กทิน’ ตอบคำถามเรื่องลาออกจากสส.แบบใจดีสู้เสือว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจ ขอรอดูคนอื่น ๆ ในพรรคก่อนว่าจะตัดสินใจอย่างไร แต่ไม่ขัดข้อง เพราะหากตัดสินใจลาออก ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อลำดับถัดไป

‘พรรคไม่ได้มีการระบุหลักเกณฑ์ และรอให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะยังมีพรรคพวกที่ทำงานมาด้วยกันมาก และควรแบ่งกันทำงาน ซึ่งแนวทางดังกล่าวเคยมีการปฏิบัติมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย แต่ไม่ตายตัว และเป็นเรื่องที่ดี เพื่อแบ่งปันโอกาสผู้อื่นให้มาทำงานบ้าง’

‘ไม่ควรไปยึดติดกับตำแหน่ง หากจะต้องพ้นจากตำแหน่งก็ไม่มีปัญหา เพราะผู้ที่ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งใดๆ เลย ก็อาจจะคิดมาก มากกว่าผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งมาแล้ว’

แม้จะมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ แต่ในบางด้านสุทิน ก็เหมือนเข้าใจกึ่งปลง ๆ แต่หากต้องหลุดจากเก้าอี้รัฐมนตรีไปจริงๆ คงอยากกลับไปเป็นสส.ในสภาที่ตัวเองถนัดมากกว่า ไม่เสี่ยงอยู่แบบขาลอยเหมือน ‘สุริยะ - สมศักดิ์ – ประเสริฐ’

ส่วนการปรับครม.ครั้งนี้ถ้ามีขึ้น ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่อยู่ระหว่างแต่งตัวเข้าเรียนหลักสูตรมินิ - วปอ. จะเข้ามาอยู่ในรัฐนาวาเศรษฐา ด้วยหรือไม่ 

นาทีนี้หากดูจากข่าวที่เกิดขึ้นประเภทแหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งคนชงและคนปฏิเสธ ล้วนมาจากแหล่งเดียวกัน คือ ในพรรคเพื่อไทย

การปล่อยข่าวออกมาแบบนี้ย่อมไม่ธรรมดา!!

หากไม่หวังแค่สร้างข่าว สร้างความสำคัญ ปั่นกระแส ให้มีชื่อติดลมบนอยู่ในหน้าสื่อไว้ก่อน ก็คงสื่อสารเพื่อต้องการสร้างความคุ้นเคย ตามหลักการตลาดที่ย้ำกันถี่ ๆ บ่อย ๆ จนคุ้นชินกันไปเอง แล้วก็ให้เป็นไปตามนั้น 

แต่มีบางมุมมองไม่เชื่อว่า ‘อุ๊งอิ๊ง’ จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีใน ครม.เศรษฐา เพราะครั้นจะให้เข้ามาเป็นเสนาบดีเบอร์ใหญ่ ไม่ว่าจะในตำแหน่งรมว.คลัง หรือรมว.ต่างประเทศ ตามที่ปรากฎชื่อในโผครม.ช่วงตั้งรัฐบาลใหม่ ๆ คงจะไม่เหมาะ

ส่วนจะให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีฝึกงาน ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็จะทำให้เสียราคาเปล่า สู้รอเวลาเข้ามาเป็นเบอร์ที่ใหญ่กว่า ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 เลยทีเดียว จะได้ไม่เสียของ

สุดท้าย ‘คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต’ ต้องรอดูว่าคนที่มีอำนาจกดปุ่มจะเลือกเอาแบบไหน รับรองงานนี้ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีชื่ออุ๊งอิ๊งในการปรับ ครม.หนนี้ จะไม่มีคำว่าเซอร์ไพรส์อย่างแน่นอน

เพราะนาม ‘อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร’ ตลาดการเมืองรับรู้อยู่แล้ว เพียงแต่จะถูกหยิบชื่อขึ้นมาในช่วงเวลาไหนเท่านั้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์