‘เศรษฐา 1’ จะพัง เพราะไม่มีขุนคลังตัวจริง

ตั้งแต่แรก ก็อดประหลาดใจไม่ได้ว่า ทำไมรัฐบาลของ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งดูจะให้ความสำคัญกับเรื่องการเข้ามาแก้วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศและมีนโยบายที่เป็น ‘เรือธง’ ด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ หลายเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็น นโยบายการแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท การขึ้นค่าแรง เงินเดือนปริญญาตรี ไปจนถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจ ‘ซอฟท์พาวเวอร์’ แต่เหตุไฉน รัฐบาลชุดนี้กลับไม่มี ‘ขุนพล’ หรือ ‘ดรีมทีมด้านเศรษฐกิจ’ ที่จะมาชูธงนำทัพ กลับต้องให้ ‘เซลล์แมน ถุงเท้าหลากสี’ อย่างตัวเองต้องมานั่งถ่างขาควบเก้าอี้ขุนคลัง
ถึงแม้จะมี ‘หนิม’ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ มานั่งเป็น รมช.คลัง และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในการขับเคลื่อนนโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท แต่ 4 เดือนผ่านไป ‘สภาพ’ ก็อย่างที่เห็น
ถึงนาทีนี้ พ.ร.บ.เพื่อกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็ออกอาการใกล้ ‘แท้ง’ ไม่รู้ว่าเมื่อไรคนไทย 50 ล้านคน ที่ตั้งตารอจะได้ใช้เงินหมื่นดิจิทัลเสียที เพราะยังต้องฝ่าอีกหลายด่าน ทั้งในสภาล่าง สภาสูง สุดท้ายอาจต้องไป ‘ปิดเกม’ กันที่ศาลรัฐธรรมนูญ
หันไปดูอีกหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่หวังว่าจะมาช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในให้กลับมาคึกคัก ‘แก้ขัด’ ระหว่างรอลุ้น พ.ร.บ.เงินกู้ คือ มาตรการที่คล้าย ‘ช้อปดี มีคืน’ ของรัฐบาลลุงตู่ โดยการสนับสนุนคนไทยให้ไปซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศ เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 5 หมื่นบาทระหว่างวันที่ 1 มกราคม- 15 กุมภาพันธ์ 2567 แต่ไป ๆ มา ๆ กลายเป็น ‘กระสุนด้าน’ เพราะคนที่จะใช้สิทธิ์ ไม่มีปัญญาหาร้านค้าที่จะออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้
ตอน ‘คิกออฟ’ โครงการ รมว.หนิม คุยฟุ้งว่า มาตรการนี้จะกระตุ้นกำลังซื้อได้ไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท แต่มาถึงวันนี้กลับกลายเป็น ‘ตลกร้าย’ อีกเรื่อง เพราะมีร้านค้าลงทะเบียนในระบบ E-Tax Invoice & Receipt ทั้งประเทศแค่ 5,284 ราย
สรุปคนอยากใช้สิทธิ์ แต่ร้านค้าที่อยู่ในโครงการกลับมีแค่หยิบมือ ตอนจบโครงการ 15 กุมภาพันธ์นี้ ยอดเม็ดเงินจะสะพัดถึง 7 พันล้านบาทหรือเปล่า ยังไม่มีคนอยากวางเดิมพัน และเม็ดเงินส่วนใหญ่ก็คงไหลไปกองที่ ‘ห้างใหญ่’ เสียมากกว่า
สวนอดีตปลัดคลัง อย่าง กฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.อีกคนหนึ่ง จากรวมไทยสร้างชาติก็กลายเป็นรัฐมนตรีที่โลกลืมไปเหมือนอีกหลาย ๆ คนในรัฐบาลชุดนี้ เพราะแทบจะไม่รับมอบหมายให้มีบทบาทอะไร ทั้ง ๆ ที่เจ้าตัวมีดีกรีเป็นถึง อดีตปลัดกระทรวงฯ แต่กลับไม่ได้รับมอบหมายงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากมาตรการแก้หนี้ ที่สานต่อจากรัฐบาลก่อน
หันไปดูภารกิจของกระทรวงการคลังด้านอื่น ๆ ก็ดูติด ๆ ขัด ๆ เพราะเจ้ากระทรวงคือ นายกฯเศรษฐา ดูจะไม่ค่อยมีเวลาและสมาธิในเรื่องนี้สักเท่าไร เข้าไปเซ็นเอกสาร หรือ ประชุมที่กระทรวงฯ แทบจะนับครั้งได้ สุดท้ายก็เลยต้องหันไปใช้บริการจากเพื่อนรุ่นพี่อย่าง ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ตั้งมาเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
นายกฯ เศรษฐา มอบภารกิจหลัก ๆ ของกระทรวงการคลังส่วนใหญ่ให้ไปอยู่ในมือของโต้ง ตั้งแต่การแก้ปัญหาหนี้ทั้งในและนอกระบบ การจัดการปัญหาวุ่น ๆ ในตลาดทุน การตั้งให้เข้าไปนั่งในคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ และล่าสุดที่ดูจะเป็นภารกิจพิเศษในการสร้างความ ‘ร้าวฉาน’ คือการเปิดศึกบนหน้าสื่อกับแบงก์ชาติ เรื่องของนโยบายอัตราดอกเบี้ย ที่เล่นเอาตลาดเงินปั่นป่วนภายในพริบตา
เมื่อ ‘แอคติ้ง’ เล่นใหญ่เสียขนาดนี้ หลายคนโดยเฉพาะบรรดาข้าราชการกระทรวงการคลัง ก็อด**‘เม้าท์’** ไม่ได้ว่า นายกฯ เศรษฐาน่าจะปรับ ครม.ตั้ง โต้ง กิตติรัตน์ ให้มานั่ง รมว.คลัง เต็มตัวเสียให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไป จะได้มีอำนาจสั่งการเต็มไม้เต็มมือเสียที
งานนี้จะได้เปิดโอกาสเต็มที่ให้ ‘แก้มือ’ ล้างภาพลักษณ์เชิงลบสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่ในช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่ เรื่องรับจำนำข้าว และจากวาทกรรม โกหกแบบ ‘White Lie’ จนกลายเป็นตราบาปติดตัว โต้ง กิตติรัตน์ มาถึงวันนี้
ภารกิจแรกขุนคลังคนใหม่ ก็แสดงอิทธิฤทธิ์เสียเลย โดยการเรียกบรรดาผู้บริหารธนาคารของรัฐทั้งหมด ตั้งแต่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธอส. และ ธกส. มาสั่งให้ลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย โดยการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ลดดอกเบี้ยเงินกู้ นำร่องบรรดาธนาคารพาณิชย์รายอื่นๆทันที แค่นี้ก็ไม่เห็นจะต้องทำให้ ‘โลกไม่สงบ’ ไปเปิดศึกกับแบงก์ชาติ ให้เสียเครดิตรัฐบาลเปล่าๆ...
######
เศรษฐาไม่ต้องแคร์เศรษฐพุฒิ สั่งแบงก์กรุงไทยลดดอกเบี้ยเลย

ถ้านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เศรษฐา ทวีสิน เชื่อ ‘หนุ่ม เมืองจันท์’ ที่บอกว่า กำไรที่สูงลิ่วของแบงก์ มาจาก ‘การเพิ่มขึ้นของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM )’ คือ เอาดอกเบี้ยเงินกู้ - ดอกเบี้ยเงินฝาก = กำไรของแบงก์ นายกฯเ ศรษฐา ก็สามารถทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคาร ลดลงได้ทันทีวันนี้พรุ่งนี้เลย
ไม่ต้องไปรบกับผู้ว่า แบงก์ชาติ ให้เป็นที่ครหาว่า นายกฯ กำลังสร้างคอนเทนต์ โยนบาปให้แบงก์ชาติ เสียราคา ขายขี้หน้า เพราะต้นทุนทางสังคม ความน่าเชื่อถือ ความรู้ความสามารถของเศรษฐากับเศรษฐพุฒิ เทียบกันไม่ได้เลย
แบงก์ชาติไม่มีอำนาจสั่งแบงก์พาณิชย์ให้ลดดอกเบี้ยโดยตรง ทำได้แค่ทางอ้อม ผ่านการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารด้วยกัน ซึ่งมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยแท้จริงน้อยมาก แต่กลับจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ถ้าไปบีบให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบายจนต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะจะทำให้เงินไหลออก ค่าเงินบาทอ่อน สินค้านำเข้า พลังงานแพง
วิธีที่นายกฯ เศรษฐา จะลดอกเบี้ยเงินกู้ได้ทันทีคือ สั่งให้ ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้นำการลดดอกเบี้ย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
- แบงก์กรุงไทย เป็นของรัฐ กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ เศรษฐา เป็นนายก และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สามารถสั่งการให้แบงก์กรุงไทยลดดอกเบี้ยเงินกู้ได้อยู่แล้ว บอร์ดคนไหนค้าน ปลดออก ตั้งใหม่
- การลดดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นการสนองนโยบายของนายกฯและรัฐมนตรีคลัง เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย ลูกหนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นหน้าที่ของแบงก์กรุงไทย ในการเป็น เครื่องมือ กลไก ในการดำเนินนโยบายของรัฐอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวว่าจะติดคุกเหมือน โครงการจำนำข้าว บ้านเอื้ออาทร
- 9 เดือนแรกของปีนี้ แบงก์กรุงไทยมีกำไรสุทธิ 30,505 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 19% และติดกลุ่ม TOP Four แบงก์ที่กำไรเกิน 30,000 ล้านบาท
- แบงก์กรุงไทยเป็นแบงก์ใหญ่ สามารถชี้นำตลาดได้ ถ้านายกฯ เศรษฐาสั่งให้แบงก์กรุงไทยลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมา1-2 เปอร์เซ็นต์ ลดยาว ๆ 1-2 ปี แบงก์อื่น ๆ จะอยู่ไม่ได้ เพราะลูกค้าหันไปกู้แบงก์กรุงไทยหมด จะต้องลดดอกเบี้ยเงินกู้ตามแบงก์กรุงไทยด้วย ในที่สุด ดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารทั้งระบบจะถูกลงโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปขอให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบายเลย
- ไม่ต้องกลัวว่า แบงก์กรุงไทยจะขาดทุน เพราะลดดอกเบี้ยเงินกู้ ผลประกอบการ 9 เดือนปีนี้ แบงก์กรุงไทย กำไรเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 19 % กำไรลดลงสัก 10 % ก็ยังเหลืออีกตั้ง 9 %
- ถ้าเกรงว่า กำไรจะลดลง เหลือเงินส่งเข้าคลังน้อย แบงก์กรุงไทยก็สามารถลดต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝากได้ เพราะผู้ฝากเงินรายใหญ่คือ หน่วยราชการทุกหน่วยทั่วประเทศ สถาบันศาล รัฐสภา องค์กรอิสระ ที่ควรเห็นแก่ความเดือดร้อนของประชาชน มากกว่า ผลประโยชน์ ที่มาจากเอาภาษีประชาชนไปฝากแบงก์กินดอกเบี้ย
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า เศรษฐา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สามารถทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ลดลงได้ในทันที ไม่ต้องง้อเศรษฐพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติเลย
######
ปชป.ในวันที่ต้องเข้าแผนฟื้นฟูความเชื่อมั่น

ไม่กี่วันก่อนมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ชุดใหม่อย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้การรับรอง
ในวันนั้น ‘เสี่ยต่อ’ เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้า ปชป.ขอให้สื่อเลิกใช้คำว่า ‘พรรคอะไหล่’ กับปชป.ได้แล้ว แต่ให้มาดูความตั้งใจการทำงานแทน ที่ทั้งคนเก่าคนใหม่ทำงานกันอย่างเต็มที่
‘ฝากด้วยนะครับว่าประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ ไม่มีซูเอี๋ยกับใคร ประชาธิปัตย์ตั้งมา 77 ปี จะเข้าปีที่ 78 ไม่เป็นพรรคอะไหล่ให้ใคร และไม่เคยเป็นครับ’
ในที่ประชุมเฉลิมชัย ขอให้กรรมการบริหารพรรคทุกคนสวมบทบาทนักรบ นำพา ปชป.เดินไปข้างหน้า ทั้งมั่นใจว่ากรรมการบริหาร และสส.พรรคปัจจุบันมีความเป็นเอกภาพมากที่สุด
ด้านเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการ ปชป.ย้ำเช่นกันว่า ในรอบ 20 ปี กรรมการบริหารพรรคและสส.ชุดนี้ เป็นชุดที่มีเอกภาพมากที่สุด และยังบอกกับที่ประชุมไม่ให้สนใจกับข่าวที่ออกมาว่า ประชาธิปัตย์จะสูญพันธุ์ ประชาธิปัตย์จะต่ำสิบบ้าง
‘ขออย่าวอกแวก อย่าสนใจเราจะเดินหน้าสู้’
ที่ประชุมนัดแรกของกรรมการบริหาร ปชป.เฉลิมชัย ฝากให้ ดร.เอ้ ‘สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ รองหัวหน้ากทม.ไปดูแลเรื่องโซเชียล เพื่อสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ที่เป็นจุดอ่อนสู้พรรคก้าวไกลไม่ได้
ส่วนงานในสภามอบหมายให้ ‘นริศ ขำนุรักษ์’ รองหัวหน้าตามภารกิจ ที่มี สส.รุ่งธรรม ขำนุรักษ์ บุตรชายอยู่ในสภา ทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานในส่วนนี้
ในขณะที่ตำแหน่ง ผอ.พรรคฯ ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนทิศทางของพรรคอย่างมาก ได้มอบหมายให้ น.ต.สุธรรม ระหงษ์ รองหัวหน้าตามภารกิจ ซึ่งเคยเป็น ผอ.พรรคในชุดที่แล้ว กลับมาทำหน้าที่เดิมอีกครั้ง
คนใน ปชป.ดูเหมือนจะตั้งคำถามกับตำแหน่ง ผอ.พรรค ที่ยังใช้บริการคนเดิมและเป็นคนเดียวกับที่ให้ลูกชายตัวเองสวมเสื้อพรรคเพื่อไทย ลงสมัคร สส.กรุงเทพฯ เขตบางซื่อ แข่งกับผู้สมัคร ปชป.ในการเลือกตั้งหนที่ผ่านมา
ที่สำคัญวิสัยทัศน์ มุมมอง ในการนำพาพรรค ที่หวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ก็คงไม่แตกต่างจากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
ล่าสุดยังคงมีเสียงย้ำคำเดิม ๆ ออกมาจากคนในพรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผมอยู่ตลอด
‘เราไม่ใช่พรรคอะไหล่ ๆๆๆ’
ทำไมต้องเสียเวลาย้ำกันรายวัน ทั้ง ๆ ที่น่าจะพูดครั้งเดียวก็จบ แสดงว่าคงมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ ที่แม้แต่คนในพรรค ก็ยังพลอยสงสัยกันเองด้วย
หรือแม้แต่ที่ว่า เป็นยุคที่มีความเป็นเอกภาพมากสุดในรอบ 20 ปี แต่ในพรรคก็ยังมีคลื่นใต้น้ำ ตั้งกลุ่ม ‘ไม่เอาเฉลิมชัย’ ขึ้นมา อารมณ์เดียวกับช่วงเลือกตั้งที่ จ.ตรัง มีการตั้งกลุ่ม ‘ไม่เอา’ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย จนสาทิตย์ต้องพ่ายแพ้ให้กับ ‘ทวี สุรบาล’ จากพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้ 63,185 คะแนน สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ขณะที่สาทิตย์ แชมป์ 7 สมัยถูกโค่นได้มาเพียงหนึ่งหมื่นคะแนนเศษ
‘สาทิตย์’ นอกจากจะต่อสู้กับคู่แข่งนอกพรรคแล้ว ยังต้องสู้กับคนในพรรคด้วยกันเอง ที่มาในนามกลุ่มไม่เอาสาทิตย์ จึงเป็นแรงส่งให้นักการเมืองเก่าอย่างทวี สุรบาล กลับมาทวงแชมป์ประเทศไทยกลับมาได้อีกครั้ง
สุดท้ายปัญหาใหญ่ของ ปชป.ชั่วโมงนี้คือ ‘คำพูด’ ที่พูดอะไรออกไปแล้วคนไม่เชื่อ เสมือนหนึ่งอยู่ในภาวะล้มละลายทางคำพูดไปนับตั้งแต่เฉลิมชัย ‘เสียสัตย์’ เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคฯ
วันนี้ ‘เฉลิมชัย’ แม้ไม่ถึงขั้นต้องอาบัติหนักขนาดปาราชิกทางการเมือง แต่ย่อมเป็นพระทุศีล ที่ไม่ใช่แค่โลกวัชชะ โลกติเตียนธรรมดาเท่านั้น
ปชป.ต่อจากนี้ภารกิจเร่งด่วน จึงต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่น เพราะลำพังคำพูดสวยหรูอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำให้เห็นเท่านั้น คนถึงจะเชื่อ!!