นายกฯ ไทยนะ!! ไม่ใช่ตัวตลก • ประชามติคำถามเดียว ไม่แก้โจทย์ขัดแย้ง • ปี 2566 รถอีวี มาแรงแจ้งเกิด

26 ธ.ค. 2566 - 08:14

  • นายกฯ ไทยนะ!! ไม่ใช่ตัวตลก

  • ประชามติคำถามเดียว ไม่แก้โจทย์ขัดแย้ง

  • ปี 2566 รถอีวี มาแรงแจ้งเกิด

DEEP-SPACE-18-SPACEBAR-Hero.jpg

นายกฯ ไทยนะ!! ไม่ใช่ตัวตลก

ถึงนาทีนี้ หากมีการจัดอันดับผู้นำโลกประจำปี 2566 นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เจ้าของฉายา ‘เซลล์แมน แสตนชิน’ ที่บรรดากระจอกข่าวสายทำเนียบฯ เพิ่งตั้งฉายาประจำปีให้หมาด ๆ น่าจะมีชื่อติดอันดับในหลายเรื่องทีเดียว

เพราะนอกจากจะเป็นผู้นำที่มีความสูงเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียนเฉือน ‘ลีเซียนลุง’ของสิงคโปร์แล้ว เขายังสูงเป็นอันดับสองของโลก ด้วยความสูงถึง 192 เซ็นติเมตรรองจาก อเล็กซานดาร์ วูชิช ประธานาธิบดีเซอร์เบีย ที่สูงถึง 198 เซนติเมตร

แต่ที่น่าจะกินขาดชนะทุกคน คือ เป็นผู้นำประเทศที่มีสีสันที่สุด เรื่องการแต่งกายแซงหน้านายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ของแคนาดา ที่เคยสร้างจุดเด่นเรื่องการสวมถุงเท้าหลากสี  เพราะคงไม่มีผู้นำโลกคนไหนที่จะ ‘กล้า’ แต่งกายอย่างที่คนไทยทั้งประเทศได้เห็นเมื่อวันคริสต์มาสที่ผ่านมา ที่เล่นเอา ‘สไตลิสต์’  ตัวพ่อ ตัวแม่ทั้งแผ่นดินต้อง ‘อ้าปากหวอ ตาค้าง’  ไปตาม ๆ กัน

ทั้งเรื่องความสูง และความหมกมุ่นในเรื่องถุงเท้าเป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอกที่ติดตัวมาแต่กำเนิดและปรุงแต่งตามรสนิยมส่วนตัวชนิดที่คงไม่มีใครอยากทำเทียมและเลียนแบบ

อีกเรื่องที่นายกฯ เศรษฐา สร้างความประหลาดใจให้กับวงการทูต คือบทบาทในฐานะผู้นำของไทยในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  ที่เขาดูจะไม่ค่อยสนใจกรอบการเจรจาหรือพิธีทางการทูตแบบเป็นทางการมากนัก ตามสไตล์ผู้บริหารที่มาจากภาคธุรกิจ ที่พร้อมจะพุ่งเข้าสู่สิ่งที่เป้าหมายที่ต้องการ

ถึงแม้ นายกฯ เศรษฐาจะตอกย้ำบ่อยครั้งว่า ในฐานะผู้นำประเทศ เขาพยายามจะสวมบทบาทในฐานะ ‘เซลล์แมน’ ประเทศ พร้อมกับเดินสายบินไปร่วมประชุมในเวทีระหว่างประเทศใหญ่ ๆ เกือบจะทุกเวที ควบคู่ไปกับการเดินทางไปเจรจาระดับทวิภาคีกับอีกหลาย ๆ ประเทศ ชนิดแบบไม่ยอมเหน็ดเหนื่อย โดยมุ่งหวังจะขยายการค้า และดึงเม็ดเงินลงทุนให้ได้มากที่สุด

นายกฯ เศรษฐา เชื่อว่าในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการขยายการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ และกลายเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง จึงต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น เพื่อเอาชนะประเทศคู่แข่งในอาเซียนด้วยกัน อย่างเวียดนาม หรือ สิงคโปร์

ดูเหมือนในสายตาของ นายกฯ เศรษฐา เขาเชื่อว่า สิงคโปร์ คือ ประเทศคู่แข่งขันสำคัญ ที่จะดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไปจากไทย จึงพยายามเดินเกมหลายด้าน เพื่อเตะสกัดขาสิงคโปร์ ที่บรรดานักวิเคราะห์ทางการทูตกำลังจับตามองว่า อาจจะสร้างความร้าวฉานในความสัมพันธ์ระยะยาว เนื่องจากการเดินเกมที่มีท่าทีไม่ปิดบังของนายกรัฐมนตรีของไทย

การประกาศกร้าวชนิดที่ตัวเองยอมรับว่า ‘แหกโพย’ ระหว่างการเดินทางไปเจรจาทวิภาคีกับผู้นำของลาว ปฎิเสธแนวคิด ภายใต้กรอบความร่วมมือสี่ชาติ คือ ลาว-ไทย-มาเลเซีย และสิงคโปร์ ในการใช้สายส่งไฟฟ้าเพื่อเปิดทางให้ลาวขายไฟฟ้าให้กับสิงคโปร์ เพราะต้องการปิดโอกาสการขยายการลงทุนจากนักลงทุนสหรัฐฯ ในสิงคโปร์ ซึ่งต้องการลงทุนในประเทศที่ใช้พลังงานสะอาด ไม่เพียงสร้างความงุนงงให้กับผู้นำของลาว แต่ยังเริ่มทำให้สิงคโปร์จับตามอง และตั้งคำถามถึงท่าทีของผู้นำไทย เพราะคงไม่มีผู้นำของประเทศไหนที่กล้าประกาศแบบชัดเจนขนาดนี้  

ยิ่งไปกว่านั้น นายกฯ เศรษฐายังประกาศท้าทายสิงคโปร์ครั้งสำคัญ โดยการเดินสายโรดโชว์ ไปในหลายประเทศ ทั้งสหรัฐฯ จีน และ ญี่ปุ่น เพื่อผลักดันแนวคิดคิดการลงทุนใน เมกะโปรเจก อย่าง โครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ โดยการสร้างจุดเชื่อมต่อในการขนส่งสินค้าทางทะเล ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิก กับ มหาสมุทรอินเดีย โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งจะกระทบถึงสิงคโปร์โดยตรง 

การประกาศเดินหน้าโครงการดังกล่าว ถึงแม้นายกฯ เศรษฐา จะมั่นใจในศักยภาพ และเดินสายชักชวนนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาร่วมลงทุนในการพัฒนา แต่ดูเหมือนในสายตาของสิงคโปร์ ยังมองแบบ ‘เย้ยหยัน’ และเชื่อว่าบทสรุปโครงการนี้อาจจะจบลงด้วยความล้มเหลว หากไม่ได้มีการวางแผนอย่างรอบคอบ และอาจจะปิดฉากลงด้วยการถูกทิ้งร้างไปในที่สุด เพราะไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศอย่างที่คาดไว้ 

โครงการแลนด์บริดจ์ อาจจะช่วยร่นระยะเวลาในการเดินเรือลงได้ไม่ต่ำกว่า 6-9 วัน แต่คำถามเรื่องประสิทธิภาพในการขนถ่ายสินค้าจากฟากทะเลหนึ่งไปอีกฟากหนึ่ง เนื่องจากต้องการขนถ่าย ขึ้น-ลง ถึงสองครั้ง ที่อาจจะทำให้ผู้ส่งสินค้าอาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกาเสียอีก เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

ในขณะที่โครงการแลนด์บริดจ์ของไทยยังอยู่ในขั้น ‘ตั้งไข่’ ไม่มีแม้กระทั่ง ‘พิมพ์เขียว’ ของโครงการ ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนก็ยังไม่ชัดเจน แต่ในเวลาเดียวกัน สิงคโปร์ ได้ลงทุนพัฒนาท่าเรือ Tuas ให้กลายเป็นท่าเรือที่ทันสมัย สามารถรองรับเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุด โดยคาดว่าหลังจากสร้างเสร็จคาดว่าจะเป็นท่าเรืออัตโนมัติที่ทันสมัยที่สุดของโลก 

เพราะเหตุนี้ ระหว่างโครงการพัฒนาท่าเรือ Tuas กับ โครงการแลนด์บริดจ์ของไทย ดูเหมือนทางการสิงคโปร์ จึงยังมองว่าไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อการเป็นจุดศูนย์กลางของการขนส่งทางทะเลของโลกในสายตาของสิงคโปร์แต่อย่างใด

ต้องยอมรับว่าการก้าวขึ้นมาในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เศรษฐา อาจจะถูกมองว่าไม่ใช่นายกฯตัวจริง แต่ยังคงมีเงาของคนในตระกูลชินวัตร ที่ทำให้เขาได้รับฉายาเปรียบเทียบเป็น ‘ตัวแสดงแทน’ จึงอาจทำให้เขาพยายามจะแสดงบทบาทให้มีความเด่น และมีเอกลักษณ์บางอย่างต่างจากผู้นำคนอื่น 

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ บทบาทที่แสดงหาก เล่นเกินบท หรือ มุ่งผลลัพธ์โดยขาดความรอบคอบ สุดท้าย อาจจะกลายเป็นตัวตลกในสายตาชาวโลกก็เป็นได้

ประชามติ ‘คำถามเดียว’ ไม่แก้โจทย์ขัดแย้ง?

ทันทีที่คณะทำงานชุด ‘เสี่ยอ้วน’ ภูมิธรรม เวชยชัย เคาะเรื่องทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยได้ข้อสรุปให้ทำประชามติ 3 ครั้ง เฉลี่ยปีละ 1 ครั้ง ค่าใช้จ่ายครั้งละ 3,200 ล้านบาท ส่วนประเด็น ส.ส.ร.ให้ไปว่ากันในสภาช่วงที่ยื่นขอแก้ไข มาตรา 256

พร้อมกำหนดปฏิทินออกมาเสร็จสรรพ ให้การจัดทำประชามติครั้งแรกมีขึ้นในช่วงเดือนเมษายน-กลางพฤษภาคม 2567 หลังสรุปเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรี นำเข้าครม.แล้วส่งต่อให้กกต.ไปดำเนินการ ซึ่งมีกรอบเวลาอยู่ระหว่าง 90-120 วัน จะลงล็อกพอดีในช่วงนั้น

แต่ทันทีที่มีการเคาะออกมา ก็ถูกตั้งคำถามตามมาทันทีเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องคำถามเดียวโดดๆ ที่ว่า ‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์’

เพราะถูกมองเป็นคำถาม ‘มัดมือชก’ ที่ให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยไม่แตะสองหมวด ซึ่งเป็นจุดยืนเดียวกับพรรคร่วมรัฐบาล และนโยบายรัฐบาลที่แถลงไว้

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักกฎหมายมหาชน มองเป็นการตั้งคำถามประชามติที่ขัดแย้งกับชื่อคณะกรรมการที่ตั้งไว้ว่า คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 โดยขีดเส้นใต้ตรงคำว่า ‘เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่าง’

เพราะเมื่อตั้งคำถามออกมาแบบนี้ เท่ากับไม่ตรงกับชื่อคณะกรรมการชุดที่ตั้งขึ้น และที่สำคัญจะไม่สามารถแก้โจทย์ความขัดแย้งได้ พร้อมแนะให้กลับไปทบทวนการตั้งคำถามใหม่ โดยเพิ่มคำถามที่สองให้จัดทำแบบเปิดกว้างเข้าไป

แต่หากไม่ทบทวน ก็แนะให้ไปเปลี่ยนชื่อคณะกรรมการ จากเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่าง เป็น ‘เพื่อทำตามนโยบายรัฐบาล’ แทน!!

ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น มีอยู่ในหลายส่วนด้วยกัน ซึ่งรวมถึงเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 ด้วย 

ส่วนข้อห้ามการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มาตรา 255 ห้ามแก้ไขไว้เฉพาะ 2 เรื่องเท่านั้น คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้ ‘ไม่มีเรื่องหมวด 1 และหมวด 2’ 

ดังนั้น หากกำหนดเป็นคำถามเดียว ไม่เปิดกว้างให้มีคำถามที่สอง โอกาสที่จะไม่ผ่านประชามติจึงมีสูงมาก เนื่องจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ กับกลุ่มที่เห็นด้วยแต่ต้องการให้เปิดกว้าง จะพร้อมใจกันไม่ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนประชามติ 

โดยทั้งสองกลุ่มนี้ แม้จะมีเป้าหมายต่างกัน แต่ก็จะกลายเป็นเห็นตรงกันทันที เพราะฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข และอีกฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขแบบมีข้อจำกัด

จึงเป็นประชามติที่ไม่ตรงปกและเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่ตอบโจทย์เรื่องแก้ความเห็นที่แตกต่างตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

ที่ว่ามายังไม่นับรวม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ เรื่องเสียงข้างมากสองชั้น ที่อยู่ระหว่างเตรียมการจะขอแก้ไข ซึ่งคงไม่ทันการลงประมามติครั้งแรกในช่วงเดือนเมษายน -พฤษภาคม 2567 อย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นกฎหมายปฏิรูปที่ต้องพิจารณาในที่ประชุมร่วมสองสภา และ สว.ส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข เพราะตั้งแต่ผ่านออกมาเป็นกฎหมาย ยังไม่เคยนำไปใช้มาก่อน

ประชามติรัฐธรรมนูญใหม่หนนี้ จึงเสี่ยงสูงที่จะไม่ผ่านทั้งด่านคำถามเดียวและด่านหินเสียงข้างมากสองชั้น

ปี 2566 รถอีวี มาแรงแจ้งเกิด

อีกไม่กี่วัน ปี 2566 ก็จะปิดฉาก ขวบปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นปีของรถไฟฟ้าหรือ อีวี ที่มาแรงแจ้งเกิด

สถิติการจดทะเบียนรถพลังงานไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 30 กันยายน  2566  ของกรมการขนส่งทางบก  มีจำนวน 73,341 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีจำนวน 14,696 คัน ถึง 58,645 คัน คิดเป็น 399.05 %

งานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2023 ยอดจองสูงสุด 10อันดับแรก เป็นรถอีวี ของจีน 5 แบรนด์ จำนวนรวมกัน 20,622  คัน จากยอดจองทั้งรถใช้น้ำมัน และรถอีวี 10 อันดับแรก 53,248  คัน 

รถไฟฟ้าจากจีน มีราคาไม่สูงมาก เพราะมาตรการอุดหนุนของรัฐบาลจีน และไม่เสียภาษีนำเข้า ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน 

นอกจากนั้น รัฐบาลชุดที่แล้ว ยังลดภาษีสรรพสามิต รถอีวี จาก 8% เหลือ 2% และให้เงินอุดหนุน คันละ 70,000- 150,000  บาท

รัฐบาลปัจจุบัน ต่ออายุมาตรการภาษีและให้เงินอุดหนุนรถอีวี ไปจนถึง ปี 2570

มาตรการนี้เพื่อสร้างดีมานด์ในประเทศ เป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตรถอีวีเข้ามาลงทุนตั้งฐานผลิตในไทย  โดยมีเงื่อนไขว่า รถอีวีที่ได้รับการลดภาษีและรับเงินอุดหนุน ต้องผลิตรถอีวีในประเทศ เพื่อชดเชยรถที่นำเข้ามา ในอัตราส่วน นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน ในปี 2569 และในอัตราส่วน1:3 ในปี2570

รถอีวี ที่ขายในไทยตอนนี้ ยังเป็นรถที่นำเข้าทั้งหมด เพราะโรงงานในไทยกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง  ปีหน้ารถอีวีของฮอนด้า Honda e :N1  ซึ่งผลิตในประเทศไทย จะเป็นรถอีวี เมด อิน ไทยแลนด์ คันแรกที่ออกวางจำหน่าย  หลังจากนั้น  รถอีวี เมดอินไทยแลนด์ แบรนด์อื่น ๆ จะทยอยตามมาในช่วงปี 2568- 2569 

จนถึงวันนี้ นับว่า แผนการส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานผลิตรถอีวี ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก และการสร้างอุตสาหกรรมรถอีวีในประเทศไทย เดินหน้าแล้ว หลังจากรัฐบาลประยุทธ์ทำคลอดแผนรถอีวีแห่งชาติ เมื่อต้นปี 2565

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์