บอร์ดประกันสังคม Game Changer ก้าวไกล • รทสช.‘ปาดหน้า’ พท.ทำแต้มดราม่า ‘น้ำมันไม่เต็มถัง’• แก้รัฐธรรมนูญส่อแท้ง

25 ธ.ค. 2566 - 10:04

  • บอร์ดประกันสังคม Game Changer ก้าวไกล

  • รทสช.‘ปาดหน้า’ พท.ทำแต้มดราม่า ‘น้ำมันไม่เต็มถัง’

  • แก้รัฐธรรมนูญส่อแท้ง

DEEP-SPACE-17-SPACEBAR-Hero.jpg

บอร์ดประกันสังคม Game Changer ก้าวไกล

ผลการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ในส่วนของลูกจ้างหรือผู้ประกันตน ทีมประกันสังคมก้าวหน้า คว้าชัยชนะยกทีม แต่ผู้สมัครคนหนึ่งขาดคุณสมบัติ  จึงได้ไปไป 6 จากทั้งหมด 7 ที่นั่ง ทำให้มีคนนอกทีมสอดแทรกเข้ามา 1 คน คือ ปราถนา โพธิ์ดี ประธานเครือข่ายพนักงานราชการไทย แม้จะได้คะแนนเพียง 15,080  คะแนน ห่างจากผู้สมัครทีมประกันสังคมก้าวหน้า ที่ได้คะแนนไล่ ๆ กันคนละเกือบ 70,000 คะแนน

บอร์ดประกันสังคมมี 21 คน มาจากฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง ฝ่ายละ 7 คนและตัวแทนจากภาครัฐ 7  คน   ที่ผ่านมาฝ่ายลูกจ้าง ใช้วิธีให้สหภาพแรงงานเป็นผู้เลือก  1 สหภาพ 1  เสียงเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นสหภาพใหญ่หรือเล็ก

การเลือกตั้งทางตรงโดยลูกจ้างครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 33 ปี นับตั้งแต่ มีการตั้งกองทุนประกันสังคม แต่ผู้ใช้สิทธิ์ต้อลงทะเบียนก่อน จึงมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์เพียง 945,609 คน จากผู้ที่มีสิทธิ์ 12,831,713 คน ประกอบกับไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี  ทั้ง ๆ ที่สำนักงานประกันสังคม ตั้งงบประมาณจัดการเลือกตั้งไว้ถึง 200  ล้านบาท  จึงเป็นการเลือกตั้งที่เงียบเหงา  ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่อง

แม้จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ 156,870 คน เท่ากับ 0.6% ของผู้ประกันตน 24 ล้านคน และทีมประกันสังคมก้าวหน้าได้คะแนนเพียงครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ ไม่อาจพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า เป็นตัวแทนของผู้ประกันตน  แต่ชัยชนะที่ได้ ก็มาจากการแข่งขันตามกติกา เป็นชัยชนะเหนือผู้สมัครคนอื่นๆที่มากถึง 228 คน

ทีมประกันสังคมก้าวหน้าก็คือ  ทีมด้านแรงงาน คณะก้าวหน้า ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพรรคก้าวไกล  หัวหน้าทีม คือ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง พรรคอนาคตใหม่ ที่มีจุดยืน ทำให้ประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการ 

ชัยชนะของทีมประกันสังคมก้าวหน้า จึงเป็นชัยชนะของพรรคก้าวไกล ที่มองขาดว่า การที่มีผู้สมัครถึง 2,500 คน ชิงเก้าอี้บอร์ด เพียง 7 เก้าอี้ และเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ประกันตน ทีมที่มีการ ‘จัดตั้ง’  หรือฐานเสียง และมีการรณรงค์ หาเสียงอย่างเป็นระบบ จะได้ชัยชนะแน่นอน โดยไม่ต้องได้คะแนนมากมาย

คะแนนที่ทีมประกันสังคมก้าวหน้าได้ ไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ของผู้ประกันคนด้วยซ้ำ แต่ก็เพียงพอแล้ว ที่จะยึดหัวหาด ใช้กองทุนประกันสังคมเป็นเวทีที่แสดงให้เห็นว่า คณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล จะเปลี่ยนประเทศไทยอย่างไร

ธนาธร ประกาศนโยบายหาเสียงทีมประกันสังคมก้าวหน้า 14 ข้อ เป็นเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ เช่น เพิ่มค่าคลอดบุตร เพิ่มประกันการว่างงาน

นโยบายสำคัญข้อหนึ่ง คือ การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยวงเงิน 5 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1.99 % โดยใช้เงินกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ราว ๆ 2 ล้านล้านบาท อีกข้อหนึ่งคือ การประกันสังคมแรงงานอิสระ หรือฟรีแลนซ์  

ทั้งสองเรื่องนี้ ถ้าทำได้ แม้จะเพียงเรื่องเดียว การเลือกตั้ง สส. ครั้งต่อไป พรรคก้าวไกลจะไม่ได้มีเพียง คนรุ่นใหม่เท่านั้น เป็นฐานเสียง แต่จะกวาดคะแนนจาก ชนชั้นกลางที่เป็นมนุษย์เงินเดือน ซึ่งเป็นผู้ประกันตนกลุ่มใหญ่อย่างแน่นอน

ถึงแม้มติใด ๆ ของบอร์ดประกันสังคม ต้องอาศัยเสียงของตัวแทนนายจ้างและผู้แทนรัฐ  รวมทั้งต้องให้รัฐมนตรีแรงงาน เห็นชอบก่อน แต่การที่ทีมประกันสังคมก้าวหน้า กุมเก้าอี้ฝ่ายลูกจ้างได้ถึง  6 ตัว ทำให้มีความเป็นเอกภาพ มีพลังในการขับเคลื่อน  โดยเฉพาะถ้าเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์​ให้ผู้ประกันตนแล้ว แม้บางเรื่องจะผลักดันไม่สำเร็จ แต่จะสร้างคะแนนนิยมให้กับคณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกลไปในตัว

เปรียบเทียบกับ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 2-16  บาท ของบอร์ดค่าจ้าง ขนาดนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ออกปากเองว่า ขึ้นน้อยไป ต้องการให้ขึ้นเป็น 400 บาทต่อวัน แต่ไม่มีใครทำอะไร ทั้งบอร์ดค่าจ้าง และกระทรวงแรงงานที่พรรคภูมิใจไทยเป็นเจ้ากระทรวง

ชัยชนะของทีมประกันสังคมก้าวหน้า คือ ตัวเปลี่ยนเกมการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า เป็น Game Changer ของการเมืองไทย

รทสช.‘ปาดหน้า’ พท. ทำแต้มดราม่า ‘น้ำมันไม่เต็มถัง

กรณีดราม่าจากข่าวที่ผู้ใช้น้ำมันรายหนึ่งที่ ‘แฉ’ ผ่านโซเซียลมีเดียว่ามีปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งในอำเภอแก่งคอย เติมน้ำมัน 5 ลิตร ขาดไป  500 มิลลิลิตร หรือขาดไป 1% ซึ่งกลายเป็นหนังเรื่องยาวและเป็นอีกเรื่องที่สะท้อนภาพในการแก้ไขปัญหาของประชาชนจากภาคราชการและรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างดี

ต้องบอกเลยว่า ‘ต่อม’ การรับรู้ถึงความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อการบริหารงานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในห้วงเวลานี้กำลังมีปัญหาหนักเอาการ แถมยังมีปฎิกริยาตอบสนองค่อนข้างช้าจนน่าเป็นห่วง และกำลังส่งผล ‘ลบ’ ต่อคะแนนนิยมของพรรคชนิดที่อาจคาดไม่ถึง 

ทั้งหมดอาจเป็นเพราะ ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยยังคงมัวแต่ ‘หมกมุ่น’ กับปัญหาการเมืองในภาพใหญ่ที่ต้องตอบคำถามรายวันเกี่ยวกับเรื่องของชายชั้น 14 ปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ และ นโยบายเรื่องการนิรโทษกรรมทางการเมือง

ขณะเดียวกันก็ยังต้องพยายามผลักดัน นโยบายหลัก ๆ ที่ตัวเองมุ่งมาดปรารถนาจะให้เป็น ‘เรือธง’ให้เป็นรูปธรรม เพื่อหวังจะได้เสียงจากประชาชน แต่ก็มีปัญหาอุปสรรคจนหลายเรื่องกลายเป็น เรือติด ‘สันดอน’ หรือไม่ก็ทำท่าจะ ‘เกยตื้น’ ฝันไกล แต่ไปไม่ถึงไหน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง แจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเงินเดือนข้าราชการ

บรรดาขุนพลของพรรคเพื่อไทยที่ต้องเล่นสองบทบาทในเวลาเดียวกัน คือ ทั้งบทบาทของการขับเคลื่อนทางการเมือง และยังต้องบริหารราชการในกระทรวงสำคัญต่าง ๆ จึงตกอยู่ในอาการ ‘ติดหล่ม’ ทางการเมือง สาละวนอยู่กับการแก้เกมทางการเมือง จนไม่มีเวลาไปดูภารกิจที่แต่ละคนนั่งทับอยู่ในตำแหน่งเสนาบดีสักเท่าไร

ภารกิจส่วนใหญ่แทนที่จะเข้าไปกำกับและผลักดันนโยบายของพรรคให้เป็นมรรคเป็นผล จึงกลายเป็นเพียงรัฐมนตรี ‘อีเวนต์’ เดินสายเปิดงานมากกว่าที่จะเข้าไปบริหารงานอย่างจริงจัง เห็นได้ชัดจาก ‘พี่อ้วน’ ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย สายตรงจากชั้น 14 ที่แทบไม่เห็นบทบาทในตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ นอกจากภารกิจเดินสายเปิดงานอีเวนต์ อย่าง ‘ธงฟ้า’ ราคาประหยัด หรือการเปิดงานสัมมนา 

ดราม่าเรื่อง ‘เผื่อเหลือเผื่อขาด’ จากกรณีปั้มเติมน้ำมันขาดไป 1% ที่หลุดออกมาจากปากของข้าราชการระดับอธิบดีกรมการค้าภายใน ‘วัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม’ ในเรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในทางสังคมที่สะท้อนถึงปัญหาด้านการบริหารจัดการของบรรดารัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยได้เป็นอย่างดี

คนทั่วไปย่อมรู้สึกได้ว่า การอ้างว่าตามมาตรา 26 ของ พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด เปิดทางให้สามารถเติมน้ำมันอยู่ภายใน ‘อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด’ ตามที่กำหนดตามกฎกระทรวง ที่ระบุไว้ 1% เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และไม่ผิดกฎหมายนั้น เป็นเรื่องที่สวนความรู้สึกของคนทั่วไป เพราะควรจะต้องตีความในทาง ‘เผื่อเหลือ’ มากกว่า ‘เผื่อขาด’ จึงจะเป็นเรื่องที่ยุติธรรมต่อผู้บริโภคที่ต้องจ่ายค่าน้ำมันเต็มราคา และทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ที่ผ่านมาผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากบรรดาปั้มน้ำมันในเรื่องนี้มานานขนาดไหน

การตีความแบบศรีธนญชัยชนิดเอียงไปเข้าข้างผู้ค้าน้ำมันแบบออกนอกหน้าจนเกินงาม จึงเป็นเรื่องยากที่สังคมจะทำใจยอมรับจึงเกิดอาการ ‘ทัวร์ลง’ สนามบินน้ำกันอย่างอึกทึกครึกโครม แต่กลับไม่มีปฎิกริยาใด ๆ ออกมาอย่างรวดเร็วและฉับพลันจาก พี่อ้วน ภูมิธรรม ในฐานะ รมว.พาณิชย์ ที่ยังคงไปเดินสายเปิดงาน ‘ธงฟ้า’ 

คนที่จับกระแสและอาศัยดราม่าเรื่องนี้ ‘ปาดหน้า’ ทำคะแนนชนิด ‘เข้าตา’ กรรมการ กลับกลายเป็น ‘เดอะตุ๋ย’ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่นั่งอยู่ในตำแหน่ง รมว.พลังงาน เพราะทันที่ทราบข่าวก็มีหนังสือสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาทันที ทั้งในระดับกรม กระทรวง และยังมีหนังสือสั่งการไปให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แก้ไขปัญหาเรื่องนี้ทันที พร้อมกับมอบหมายให้ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณอคุณ สิทธิพงศ์ ลงไปกำกับ และรายงานผลทุก ๆ 15 วัน

ในหนังสือที่ไปถึง ‘อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์’  ซีอีโอใหญ่ของ ปตท. รมว.พีระพันธุ์ ระบุชัดเจนว่า ถึงแม้ในปัจจุบันการกระทำในลักษณะดังกล่าวจะไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย ชั่ง ตวง วัด ของกระทรวงพาณิชย์ แต่ก็เป็นการกระทำที่ทำให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงขอให้มีการตรวจสอบ และแก้ไขให้หัวจ่ายน้ำมันของสถานีบริการทั้งหมดของ ปตท.จ่ายน้ำมันให้เต็มตามจำนวน และหามาตรการชดเชย รวมทั้งกำหนดมาตรการลงโทษสถานีบริการที่ปล่อยให้เกิดกรณีเช่นนี้ และแจ้งผลการดำเนินงานให้ทราบภายใน 15 วัน 

เป็นอันปิดฉาก ดราม่า เรื่อง ‘เผื่อเหลือเผื่อขาด’ ลงอย่างสวยงาม แต่คนที่ได้รับเสียง ‘ปรบมือ’ ได้เครดิตไปเต็มๆ กลับกลายเป็น รมว.พลังงาน พีระพันธุ์ จาก รวมไทยสร้างชาติ ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ของ รมว.ภูมิธรรม กลับกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของประชาชน โดน ‘ก้อนอิฐ’ ขว้างปา และ ‘ทัวร์ลง’ ยับเยินอย่างที่เห็น...

แก้รัฐธรรมนูญส่อแท้ง

ในท่ามกลางความเห็นเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ยังฟุ้งๆ ไปกันคนละทางสองทาง วันนี้คณะกรรมการชุดใหญ่ที่มี ‘เสี่ยอ้วน’ ภูมิธรรม เวชยชัย นั่งหัวโต๊ะ จะประชุมสรุปผลศึกษาส่งให้ ครม.ไปดำเนินการต่อ

โดยแนวทางหลัก ๆ ที่อนุกรรมการรับฟังความเห็นนิกร จำนง เสนอมานั้น ย่อความเหลือคำถามเดียวคือ ‘เห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร.’ และมีคำถามย่อยตามมา คือ ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 กับการให้จัดทำใหม่ทั้งฉบับ

ส่วนที่มา ส.ส.ร.เสนอให้มีจำนวน 100 คน โดย 77 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจังหวัดละ 1 คน ที่เหลือ 23 คน เป็นสัดส่วนของนักวิชาการ 10 คน และกลุ่มเปราะบาง  จาก 5 กลุ่มตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มหลากหลายทางเพศ รวม 13 คน ให้รัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการ

สำหรับการจัดทำประชามติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่4/2564 ก็เคาะออกมาเป็น 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ดำเนินการก่อนจะเริ่มต้น สอบถามประชาชนเห็นด้วยไม่เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่           

ครั้งที่ 2 หลังการแก้ไขมาตรา 256 เพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่

ครั้งที่ 3 หลังการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้

ดูแล้วก็น่าจะผ่านฉลุยไปได้ ถึงแม้จะยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน อาทิ ข้อเสนอจากตัวแทนพรรคเพื่อไทย ที่อยากให้กลับไปถามศาลรัฐธรรมนูญซ้ำเรื่องการทำประชามติกี่ครั้ง โดยจะเสนอร่างแก้ไขมาตรา 256 ต่อสภา เพื่อปูทางนำเรื่องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ในขณะที่พรรคก้าวไกล ยังติดใจประเด็นที่มา ส.ส.ร.ที่เห็นควรให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้ง 100 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก แต่สุดท้ายแล้วเชื่อว่า ครม.คงยึดตามผลศึกษาที่คณะกรรมการเสนอไป เพราะได้มอบหมายให้มาดำเนินการแล้ว ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ค่อยเอาไปว่ากันในสภาต่อ

แต่ทีนี้ยังมีเสียงเตือนจากซีกวุฒิสภาตามมา โดยคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา เห็นว่า ข้อเสนอต่าง ๆ ที่เปิดออกมานั้น ไม่ว่าที่มาและจำนวน ส.ส.ร. ล้วนแต่ข้ามขั้นตอนทั้งสิ้น สิ่งที่ต้องทำก่อนเวลานี้คือ การทำประชามติถามประชาชนว่า ‘เห็นด้วยหรือไม่’ ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 

จากนั้น ถ้ามีการจัดทำประชามติและผ่านเงื่อนไขประชาชนเห็นด้วย ขั้นตอนต่อไป คือ เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ให้มีหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งอยู่ที่ ครม.จะเสนอร่างเข้ามาเป็นรูปแบบใด จะให้องค์กรใดเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งนี้ หากกําหนดให้มี ส.ส.ร. ก็ต้องดูร่างที่ ครม.เสนอเข้ามาว่ากําหนดให้มีรูปแบบหรือมีที่มาอย่างไร

นอกจากนั้น เมื่อเสนอเป็นร่างเข้ามา เงื่อนไขก็ยังต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 คือต้องผ่านที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา 3 วาระ และต้องมีเสียงเห็นชอบจากวุฒิสภาในวาระที่ 1 และ 3 อย่างน้อย 1 ใน 3 ซึ่งถึงแม้จะไม่มี สว.ชุดปัจจุบัน แต่ สว.ชุดใหม่ก็ยังอยู่ในเงื่อนไขนี้ และหากผ่านวาระแรกแล้ว ในวาระ 2 ชั้นกรรมาธิการก็อาจจะมีการแปรญัญติ แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ จากนั้น เมื่อผ่านทั้ง 3 วาระแล้ว ก็ต้องกลับไปทําประชามติอีกครั้ง 

คำนูณ ย้ำว่า ส่วนตัวมองการทำประชามติรอบแรก ควรมีคําถามแค่ข้อเดียวว่า เห็นด้วยหรือไม่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่กล่าวไปข้างต้น

ดังนั้น โอกาสที่จะพลิกผันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา รวมไปถึงเงื่อนไขของกฎหมายทําประชามติ ทําให้การแก้รัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก..

จากที่ว่ามา ก็คงไม่ง่ายอย่างที่ สว.คำนูณว่าไว้ และมีโอกาสสูงที่จะเกิดการพลิกผันขึ้น โดยเฉพาะในด่านสองที่ต้องไปแก้ไขมาตรา 256 เพิ่มเติมหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 84 เสียง ในวาระ 1 และวาระ 3 

เทียบกับยอดตอบแบบสอบถามอนุกรรมการรับฟังความเห็นจาก สว.ที่มีผู้ตอบกลับมาเพียง 69 คน คิดเป็นร้อยละ 27.60 ของสว.ทั้งหมด และในจำนวนที่ตอบกลับมานั้น ร้อยละ 80 เห็นว่าไม่ควรจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ และเห็นควรแก้ไขเป็นรายมาตราแทน

ถ้า สว.ยืนหลักนี้ไว้ตลอด ใครที่เชียร์ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้น โอกาสจะได้เห็นคงไม่ง่าย ถ้าไม่ถูก สว.ชุดนี้ทำแท้งเสียก่อน ก็ต้องรอ สว.ชุดหน้าที่จะมารับไม้ต่อในช่วงหลังเดือน สิงหาคม-กันยายน 2567 ไปแล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์