จับตาแบงก์ชาติ อาจลดดอกเบี้ยก่อน ‘เฟด’

8 มี.ค. 2567 - 10:40

  • ตลาดหุ้นไทยซึมเศร้ามาอย่างต่อเนื่อง จนเริ่มกระเตื้องขึ้นบ้างในช่วงหลัง

  • ทิศทางนโยบายดอกเบี้ยจากธนาคารกลางสหรัฐ มีความเป็นไปได้ว่าจะลดดอกเบี้ย

  • ส่วนบ้านเรา ตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจปรับตัวลง คราวนี้ก็อยู่ที่ กนง.ว่าจะเลือกทางไหน

economy-fed-bot-interest-SPACEBAR-Hero.jpg

ตลาดหุ้นไทยส่งท้ายปลายสัปดาห์  เริ่มมีทิศทางสดใสขึ้นบ้าง หลังจากตกอยู่ในอาการโรคซึมเศร้ามานานแรมปี ดัชนี SET ในวันศุกร์ในช่วงเช้าปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 10.72 จุด มาอยู่ที่ระดับ 1,382.88 จุด เป็นการปรับตัวตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากตลาดหุ้นวอลล์สตรีททั้ง 3 ตลาดหลัก ที่ยังคงพุ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำลายสถิติมาอย่างต่อเนื่อง

เป็นเรื่องปกติที่ตลาดหุ้นมักจะเคลื่อนไหวไปตามทิศทางความเชื่อของนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาด ซึ่งในตอนนี้ต่างมีความเชื่อว่า วงจรของอัตราดอกเบี้ยขาลงในสหรัฐฯเริ่มชัดเจนมากขึ้น หลังจาก ‘เจอโรม พาวเวลล์’ ประธานธนาคารกลาง หรือ ‘เฟด’ ไปให้การกับคณะกรรมาธิการด้านการเงินของวุฒิสภาสหรัฐฯ โดยส่งสัญญาณว่า ทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ‘อยู่ไม่ไกล’ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯเริ่มลดลงสู่กรอบเป้าหมาย 2% ทำให้ตลาดสินทรัพย์เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ทองคำ หรือ คริปโท ต่างปรับตัวขึ้นไปตาม ๆ กัน 

ตลาดหุ้นไทย นอกจากจะปรับตัวขึ้นตามตลาดต่างประเทศแล้ว ยังมีแรงส่งจากการคาดการณ์ของตลาดว่าแบงก์ชาติของไทยอาจจะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงก่อนหน้าธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่กำลังประสบปัญหาชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

ที่ผ่านมาถึงแม้จะมีแรงกดดันค่อนข้างหนักมาจากฝั่งการเมือง โดยเฉพาะจาก นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ที่นั่งควบ รมว.คลังอีกตำแหน่ง แต่ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ก็แสดงท่าทีว่ายังคงระมัดระวังในการนำนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายโดยการลดอัตราดอกเบี้ยมาใช้เร็วเกินไป

แต่จากตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายๆตัวที่เปิดเผยออกมาในระยะหลังๆ ต้องยอมรับว่าอาจทำให้มุมมองบางอย่างของแบงก์ชาติเริ่มเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่องมาหลายเดือน ตัวเลขงบลงทุนและค่าใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวลงค่อนข้างแรง เพราะความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 และการหดตัวของการผลิตภาคเอกชนที่ถูกสินค้าจากจีนเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดทั้งภายในและส่งออก ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าการคาดการณ์ 

ถ้าเปรียบเหมือนทีมฟุตบอล ตอนนี้ Team Thailand รัฐบาล ตกอยู่ในสภาพขาดเกมรุก เพราะกองหน้า ‘เท้าบอด’ บรรดา ‘ซุปตาร์’ ทั้งศูนย์หน้า ปีกทั้งซ้ายและขวา ที่ทุ่มทุนซื้อเข้ามาต่างฟอร์มฝืด ไม่สามารถขึ้นไปทำเกมยิงประตูได้อย่างที่วางแผนไว้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ โครงการ ‘ซอฟท์พาวเวอร์’ หรือ เรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แถมยังถูกเตะตัดขาจนต้องไปเช็คอาการอยู่ข้างสนาม ทำเกมไม่ได้อย่างที่หวัง

ไม่ต้องหวังพึ่งบรรดากองกลาง ที่ก็ทำได้แค่ประคองเกม โดยวิธีการโบราณแบบเดิม ๆ คือ การตรึงราคาสินค้า กดราคาพลังงาน รวมทั้งพยายามยันสถานการณ์เรื่องหนี้ครัวเรือนเอาไว้ไม่ให้โดนโต้กลับจนเสียประตู 

ทางเลือกที่เหลืออยู่ คืออาจจะต้องดันกองหลัง หรือ ผู้รักษาประตู ให้ขึ้นมาช่วยทำเกม โดยใช้นโยบายด้านการเงิน คือ การลดอัตราดอกเบี้ย  

เริ่มมีการคาดการณ์ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ในวันที่ 10 เมษายน เราอาจจะเห็น มติ กนง.ที่ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย0.25% ก็เป็นได้ หลังจากครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ มีมติ 5:2 ให้ยืนอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.50%

แต่หากกรรมการส่วนใหญ่ยังเห็นว่าเร็วเกินไป ก็คาดการณ์ว่า อาจจะมีถ้อยแถลงเพื่อส่งสัญญาณว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจนขึ้น  

ตั้งแต่การประชุม คณะกรรมการ กนง.เมื่อครั้งที่แล้ว หากสังเกตให้ดี แบงก์ชาติเองก็ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ขณะที่ภาวะการค้าโลกที่ทำให้มีสินค้าคงคลังอยู่ในระดับสูง 

เมื่อมาเจอกับปัญหาความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณ และความไม่ชัดเจนในเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ไม่มีแรงส่งทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายปีมาจนถึงต้นปีที่ผ่านมา

หากผ่าโครงสร้างของคณะกรรมการ กนง.ทั้ง 7 คน จะพบว่า 3 คนเป็นกรรมการโดยตำแหน่งของ แบงก์ชาติ คือ ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ , อลิศรา มหาสันทนะและรุ่ง มัลลิกะมาส โดยมีกรรมการใหม่ คือ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส และ สันติธาร เสถียรไทย

2 เสียงที่น่าจับตามองในการประชุมคราวหน้า คือ เสียงจากกรรมการชุดเดิมที่อยู่ในฐานะคนนอก คือ‘**ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน’ ** และ ‘รพี สุจริตกุล’ ว่าจะมีมุมมองอย่างไรต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทย

หากทั้งสองคนมองว่าอาจจะถึงเวลาที่ แบงก์ชาติต้องขึ้นมาช่วยทำเกม เราก็อาจจะเห็น มติให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ก่อนหน้า ‘เฟด’ ก็เป็นได้ หรือ แบงก์ชาติอาจจะใช้กลยุทธ์ Placebo Effect ยอมให้ **‘ยาหลอก’ ** โดยส่งสัญญาณแบบโยนหินถามทางว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อดูปฎิกิริยาตลาดว่าจะมีการปรับตัวไปในทิศทางใด

แต่คงต้องบอกว่า ทั้งหมดไม่ได้เป็นผลมาจากแรงกดดันจากรัฐบาลเลยนะ จะบอกให้...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์