7 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เป็นครั้งแรกจากทั้งหมด 6 ครั้งในปีนี้ ซึ่งเชื่อกันว่า จะเป็นการประชุมที่มีความสำคัญและถูกจับตามองจากบรรดาผู้คนในแวดวงตลาดเงิน-ตลาดทุน เป็นอย่างมาก เพราะอาจจะบ่งชี้ถึงทิศทางและแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในอนาคต
การประชุมรอบนี้ยังจะเป็นการประชุมครั้งแรกของกรรมการใหม่จากภายนอกที่เข้ามาดำรงตำแหน่งทั้ง 4 คน คือ ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ที่ก่อนหน้านี้เคยนั่งในตำแหน่งรองผู้ว่าฯด้านบริหาร และเป็นกรรมการในซีกของแบงก์ชาติ รพี สุจริตกุลอดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต.ที่ได้รับเลือกกลับมาอีกหนึ่งวาระ โดยมีกรรมการใหม่จริง ๆ 2 คน คือ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ของกลุ่ม SCG หรือปูนใหญ่ และ ‘ต้นสน’ สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
กรรมการที่เหลืออีก 3 คน ประกอบด้วย ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ดร.นก เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ และรองผู้ว่าฯอีกสองคน คือ อลิศรา มหาสันทนะ และ รุ่ง มัลลิกามาสโดยมีผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เป็นประธาน
นับตั้งแต่รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐาเข้ามารับตำแหน่ง ก็ดูเหมือนจะมีมุมมองทางด้านเศรษฐกิจที่สวนทางกับแบงก์ชาติมาโดยตลอด ทั้งเรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และแนวคิดในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลต้องการใช้นโยบายด้านการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายแบบสุดๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
จุดยืนที่ชัดเจนของรัฐบาลในเวลานี้ คือ มองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหาเข้าขั้นวิกฤต จึงต้องการจะผลักดัน พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยการแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท และยังต้องการให้แบงก์ชาติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง
แนวคิดดังกล่าวสวนทางกับแบงก์ชาติที่อยากเห็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และอยากให้รัฐบาลใช้นโยบายด้านการคลังเน้นในเรื่องของการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมากกว่า ขณะที่การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แบงก์ชาติยังคงระมัดระวังความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อ และต้องการผ่อนคลายให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ
แนวคิดที่ขัดแย้งกันดังกล่าว ทำให้เกิดการวิพากษ์บทบาทของแบงก์ชาติจากคนของรัฐบาลมาเป็นระยะ ๆ เพื่อกดดัน และเริ่มมีดีกรีที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดนายกฯเศรษฐา ต้องเรียกผู้ว่าฯแบงก์ชาติไปพบเพื่อเคลียร์ใจกันที่ทำเนียบรัฐบาลมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ผลกระทบที่ตามมา คือทำให้ตลาดเงิน-ตลาดทุน เริ่มกังวลกับความขัดแย้งดังกล่าว และทำให้มี ‘เงินทุนไหลออก’ กดดันให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
สถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยมีความผันผวนกลับทิศเป็นอย่างมาก โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลงถึง 3.99% อยู่ในกรอบระหว่าง 35.45-35.90 บาทต่อดอลล่าร์ โดยต่างชาติยังคงเทขายทั้งหุ้นและพันธบัตรไทยอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยยังโงหัวไม่ขึ้นอยู่ในระดับเพียง 1,350-1,370 จุด
นอกจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล และแบงก์ชาติแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทของไทยจะอ่อนค่าลง และมีเม็ดเงินไหลออก ยังเป็นเพราะปัจจัยจากต่างประเทศที่ถูกกดดันจากแนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ซึ่งถึงแม้จะเริ่มผ่อนคลายลงโดยการเริ่มตรึงอัตราดอกเบี้ย เอาไว้ที่ระดับ 5.25-5.5%
แต่จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯยังไม่ได้ชะลอตัวลงอย่างที่คิด ทำให้มีการคาดการณ์ว่า FED อาจจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้เพียงราว 3 ครั้ง จาก 5 ครั้ง ที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลล่าร์กลับมาแข็งค่า และหนุนให้ค่าเงินบาทของไทยกลับมาอ่อนค่ามากขึ้น
ในการประชุมคณะกรรมการ กนง. ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้จึงน่าจับตามองว่าผลประชุมจะออกมาอย่างไร เพราะหากพิจารณาจาก กรรมการชุดปัจจุบันทั้ง 7 คน กรรมการใหม่ 2 คน จะเห็นสอดคล้องกับ กรรมการที่เหลืออีก 5 คนหรือไม่
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ในการพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กรรมการทั้ง 7 คน มักจะมีมติเป็นเอกฉันท์มาตลอด โดยล่าสุดในช่วงปลายปี กนง.มีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25-2.5%
ที่ต้องจับตามองการประชุมรอบนี้เป็นพิเศษก็เพราะ หากรอบนี้ผลออกมา ถึงแม้จะยังคงให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ แต่ถ้าเกิดอาการ ‘เสียงแตก’ ไม่เป็นเอกฉันท์ อาจจะทำให้ตลาดเกิดความผันผวน โดยเฉพาะหากมีบางเสียงที่เห็นสอดคล้องกับรัฐบาลว่าควรจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็อาจจะทำให้ตลาดตีความ คาดการณ์ว่า กนง.อาจจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด และจะเป็นปัจจัยที่จะกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วและแรงขึ้น
จากนี้ไปอีกหนึ่งสัปดาห์ ตลาดเงิน-ตลาดทุน จึงอยู่ในห้วงเวลาที่ต้องลุ้นระทึก ทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่จะทราบผลในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ (ตามเวลาในประเทศไทย) และรอลุ้นกับ มติของ กนง.ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์อีกยก