ทำไม ‘จุลพันธ์’ อยากให้ไทยเป็นหนี้ต่างชาติ

30 ม.ค. 2567 - 07:26

  • นโยบายกระทรวงการคลัง ทำให้นักการเงินหลายคนสงสัย

  • หนี้ต่างประเทศของไทย อยู่ในอัตราต่ำ มีเสถียรภาพ แต่จะให้ไปกู้เงินนอก

  • สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือทำให้เรตติงของประเทศขยับขึ้น เอกชนจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกลง

Deep-Space-30JAN24-01-SPACEBAR-Hero.jpg

แม้ประเทศไทยจะมีหนี้สาธารณะ ค่อนข้างสูงคือ คิดเป็น 61.88% ของจีดีพี แต่เกือบทั้งหมดเป็นหนี้ในประเทศ มีหนี้ต่างประเทศนิดเดียว

ข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566  รัฐบาลมีหนี้ทุกประเภทประมาณ 11 ล้านล้านบาท เป็นหนี้ต่างประเทศไม่ถึง 0.5 %  อีก 99 %  เป็นหนี้ในประเทศ

ไทยไม่เป็นหนี้ต่างประเทศมา 20 กว่าปีแล้ว เพราะได้รับบทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 2540  ที่ภาคเอกชนกู้เงินระยะสั้น จากต่างประเทศจำนวนมาก เพราะดอกเบี้ยถูก และกู้ง่าย ภายใต้นโยบายเปิดเสรีการเงิน เมื่อมีการลดค่าเงินบาท เจ้าหนี้เรียกหนี้คืนทันที โดยมูลหนี้ ทิ่คิดเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้นในชั่วข้ามคืน 3-4  เท่าตัว ทำให้ธุรกิจล้มละลายทันที เพราะไม่มีเงินมาชำระหนี้ 

วิกฤตครั้งนั้น นำไปสู่การปฏิรูประบบการเงิน การคลัง จนมีความเข้มแข็งมาจนถึงปัจจุบัน

รัฐบาลไทยไม่ต้องกู้หนี้ต่างประเทศ เพราะในประเทศมีเงินออมมากพอ จะเห็นได้จากการออกพันธบัตรกระทรวงการคลัง พันธบัตรแบงก์ชาติ พันธบัตรรัฐวิสาสหกิจอย่างเช่น กฟผ. กฟน.  การทางพิเศษ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ฯลฯ แต่ละครั้ง ขายหมดในเวลาสั้นๆ รวมทั้งหุ้นกู้ของบริษัทที่มีความมั่นคง

นอกจากนั้น ยังแสดงถึงความเชื่อมั่นที่นักลงทุนต่างชาติมีต่อเศรษฐกิจไทย จึงเข้ามาลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้ของไทย

ที่สำคัญคือ ประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศมั่นคง มีเงินตราต่างประเทศสกุลหลัก ๆจำนวนมาก ไม่จำเป็นต้อง กู้เงินดอลลาร์ เงินเยน เงินยูโรเข้ามาสำรองไว้

หนี้ต่างประเทศของไทย กู้โดยตรงกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย ไจก้า  ฯลฯ หรือกู้โดยตรงกับรัฐบาล ไม่ได้กู้จากตลาดการเงิน

ดังนั้น เมื่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ บอกว่า สั่งการให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะ เตรียมแผนการออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศ  ซึ่งไทยไม่ได้ออกมานานกว่า 20ปีแล้ว จึงสร้างความประหลาดใจแก่คนในวงการการเงินแบบหาคำตอบไม่ได้ว่า ทำไปทำไม มีความจำเป็นอย่างไร จึงต้องไปก่อหนี้ต่างประเทศ 

จุลพันธ์บอกว่า เป้าหมายในการออกพันธบัตรในตลาดต่างประเทศ คือ เป็นเกณฑ์อ้างอิงให้กับภาคธุรกิจที่ไปออกหุ้นกู้หรือระดมทุนในต่างประเทศ  ซึ่งน่าจะหมายถึง อัตราดอกเบี้ย ที่เป็น Benchmark

จุลพันธ์ไม่รู้หรือว่า บริษัทเอกชนของไทย ไประดมทุนต่างประเทศนานแล้ว เช่น ปตท. และบริษัทในเครือ หรือธนาคารกรุงเทพ ที่ออกหุ้นกู้ขายในตลาดฮ่องกง

ประเทศไทยมี Benchmark สำหรับดอกเบี้ยหุ้นกู้ต่างประเทศอยู่แล้ว คือ เครดิตเรตติง ของประเทศที่จัดโดยมูดี้ส์ แอนด์ พัวร์, เอสแอนด์พี และฟิทช์ เรตติ้ง เรตติ้งตราสารหนี้ของภาคเอกชนก็อิงอยู่กับเรตติ้งของรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ก็อิงอยู่กับเรตติ้งอีกต่อหนึ่ง เรตติงดี คือ ได้ A  ดอกเบี้ยต่ำ เรตติ้งต่ำกว่า A  ดอกเบี้ยแพงกว่า 

ทั้ง 3 องค์กรจัดเรตติง ให้อันดับประเทศไทย ที่ 3 บีบวก (BBB+) คือ มีความสามารถชำระหนี้ ลงทุนได้ แต่จ่ายดอกเบี้ยสูงหน่อย

หุ้นกู้เอกชนที่ออกในสกุลเงินต่างประเทศ จะมีเรตติ้งสูงกว่า เรตติ้งประเทศไทยไม่ได้ ทำให้บริษัทอย่างเช่น เครือ ปตท. มีเรตติ้งในประเทศ 3 เอ (AAA ) หรือ 2เอบวก (AA+) แต่ไปออกหุ้นกู้ต่างประเทศได้เรตติงแค่  3บีบวก หรือ 3 บี

ประเทศไทยมีเรตติง 3 บีบวกมา 20 ปีแล้ว ไม่ไปไหน ขณะที่ประเทศเกาหลี เคยอยู่อันดับเดียวกับไทย ตอนนี้ขยับไปถึง 2 เอแล้ว

การมีเรตติ้งประเทศที่สูงขึ้น จะทำให้ต้นทุนการกู้เงินต่างประเทศของภาคเอกชนไทยถูกลง ตรงนี้คือ งานที่รัฐบาและกระทรวงการคลังควรจะทำ คือ ทำให้เรตติงประเทศไทยขยับขึ้น ไม่ใช่ไปก่อหนี้ต่างประเทศ ตามไอเดียของจุลพันธ์  ซึ่งหาเหตุผลรองรับไม่ได้ว่า ทำไปทำไม นอกจากจะเป็นไปตามสำนวนจีนที่ว่า ‘เจียะป้า บ่อสื่อ’ คือ อยู่ดีไม่ว่าดี หาเหาใส่หัว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์