มีนายกฯ จอมมั่ว เรื่องปวดหัวในทำเนียบรัฐบาล

29 ม.ค. 2567 - 09:19

  • คำเปรียบเปรยทำเนียบรัฐบาลในเวลานี้

  • 1 วัน 1,000 กว่าเรื่อง กับนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน

  • การแก้ปัญหาครูเวร ก็ทำให้คนข้างหลังตามแก้ปัญหาให้อีก

economy-teacher-on-duty-school-SPACEBAR-Hero.jpg

ทุกวันนี้บรรดาทีมงานเจ้าหน้าที่ ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พาบ่นกับอุบเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘หัวจะปวด’ กับสไตล์การทำงานของ ท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ถุงเท้าหลากสี ที่ติดวิธีการทำงานแบบ ‘ไร้กระบวนท่า’ เล่นเอาเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ และแม้แต่ นายกฯ น้อย อย่าง ‘หมอมิ้ง’ พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่เคยมีประสบการณ์เป็นเลขาธิการ มาแล้วสมัยนายกฯ ทักษิณยัง ‘ตามล้างตามเช็ด’ กันแทบไม่ทันทุกสัปดาห์

อาจเป็นเพราะความที่ยังติดสไตล์การทำงานแบบ ‘บิ๊กบอส’ เหมือนเมื่อตอนอยู่กับ ‘แสนศิริ’ นายกฯ นิด จึงยังคงเป็นคน ‘คิดไว ใจเร็ว’ เวลาประชุมคณะรัฐมนตรีเกือบทุกครั้ง จึงมักจะไปให้น้ำหนัก และความสำคัญกับเรื่องที่ใกล้ตัวและกำลังอยู่ในกระแสสังคมในแต่ละสัปดาห์มากกว่าที่จะ ‘โฟกัส’ กับเรื่องที่มีการนำเสนอมาตามวาระการประชุมของบรรดาหน่วยราชการต่าง ๆ 

สังเกตได้ในทุกสัปดาห์การแถลงข่าวที่ตามมาหลังการประชุมของกองงานโฆษกฯ หรือ หมอ ชัย วัชรงค์ โฆษกนายกฯ และรองโฆษกฯคนอื่น ๆ จึงเต็มไปด้วยความสับสนอยู่ทุกสัปดาห์ เพราะแยกไม่ออกว่า อะไรคือเรื่องที่นายกฯปรารภในที่ประชุม อะไรคือคำสั่งการของนายกฯ อะไรคือเรื่องที่ ครม.รับทราบ หรือ อะไรคือเรื่องที่อนุมัติเป็นมติ ครม. และสุดท้ายต้องมาตามแก้เนื้อหากันแทบทุกสัปดาห์ 

ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือ บ่อยครั้งที่ต้องเอาเรื่องเดิมกลับมาเข้าวาระเพื่อพิจารณาใหม่ เนื่องจากหลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้มีการพิจารณาผลกระทบในรายละเอียด ทำให้เกิดความสับสน และไม่สามารถนำไปปฎิบัติได้ จึงต้องเอาเรื่องกลับเข้ามาพิจารณาใหม่ แทนที่จะให้หน่วยงานหลักไปจัดทำรายละเอียดให้รอบด้านก่อนจะนำเสนอให้พิจารณาในคราวเดียว

ล่าสุดคือ กรณีเรื่อง ‘ครูเวร’ ที่นายกฯ หวังจะทำแต้ม หลังจากเกิดปัญหาครูเวรผู้หญิงถูกทำร้ายในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่เชียงราย ทำให้นายกฯเ ศรษฐา ควันออกหู ออกอาการรับไม่ได้กับเหตุการณ์ดังกล่าว และนำเรื่องไปหารือในที่ประชุมครม.และนำไปสู่การสั่งการที่สร้างความสับสนมาตลอดทั้งสัปดาห์

ไม่ใช่เรื่องผิดที่นายกฯ เศรษฐา จะให้ความสำคัญและเป็นห่วงกับสวัสดิภาพความปลอดภัยของครู นักเรียน และสถานศึกษา จนนำเรื่องนี้ไปปรารภในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และพยายามหาทางแก้ไขปัญหา แต่เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ทันได้ทำการศึกษารายละเอียด มติ ครม.ที่ออกมา จึงกลายเป็นการสร้างความสับสนกับหน่วยปฎิบัติ จนต้องออกมาชี้แจงกันหลายรอบ แต่ก็ยังไม่ได้คลายความสับสนให้กับบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องสักเท่าไร 

ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจาก เคยมีมติ ครม.เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ที่ให้มีการจัดเวรรักษาการณ์ประจำสถานที่ราชการ หรือหน่วยงานนอกเวลาราชการ และวันหยุดราชการทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งรวมถึงโรงเรียนและสถานศึกษา ทำให้มีการยกเลิกการจ้างภารโรง และมีการจัดครูเวรมาปฎิบัติหน้าที่แทนภารโรงที่มีการเลิกจ้างไปกว่า 16,000 ตำแหน่ง 

ในการการหารือในคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐา ต้องการให้กลับไปจ้างภารโรงกลับมาทำหน้าที่แทนครูเวร โดยให้กระทรวงศึกษาธิการไปจัดหางบประมาณมาใช้ในการจัดจ้างโดยเร็ว ขณะเดียวกันก็ให้มีการยกเลิกมติ ครม.เมื่อปี 2542

แต่หลังจากไปพิจารณาในรายละเอียดก็พบว่าการจะยกเลิกมติครม. ปี 2542 ไปเลยทั้งฉบับ อาจมีปัญหา เพราะมติ ครม.เดิมเป็นการบังคับโดยรวมกับทุกหน่วยงาน ซึ่งบางหน่วยงานจำเป็นต้องมีเวรยามรักษาการณ์ เช่น คลังจังหวัด ธนาคารแห่งประเทศไทย โรงพิมพ์ธนบัตร หรือ พิพิธภัณฑ์ที่มีของล้ำค่า

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จึงต้องออกมติ ครม.ใหม่ เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ในเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการ โดยระบุว่า ครม. มีมติเพียงการยกเว้นการบังคับใช้กับสถานศึกษาของรัฐทั้งหมด ทั้งที่อยู่ในสังกัด กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร และที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรม 

ส่วนหน่วยราชการอื่น หากมีระบบรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันก็สามารถยกเว้นการจัดเวรยามได้เช่นกัน  

แต่ถึงแม้จะแก้ปมเรื่อง มติครม.ปี 2542 เปลี่ยนคำจาก ‘ยกเลิก เป็น ยกเว้น’ แต่ปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะหลังจากสั่งการให้ เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานมีหนังสือแจ้งออกไป เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ก็เกิดคำถามตามมาอีกว่า สถานศึกษาต่างๆจะสามารถยกเลิกครูเวรได้ทันทีหรือไม่? หากยังไม่มีการอนุมัติให้มีการจ้างภารโรงกลับมาทำหน้าที่ดังกล่าวแทน และระหว่างนี้จะให้หน่วยงานไหนรับผิดชอบในการดูแลโรงเรียนแทน ซึ่งเหมือน ‘เผือกร้อน’ จะถูกโยนให้ไปอยู่ในมือของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะต้องช่วยจัดเจ้าหน้าที่ไปตรวจตรา จนมีเสียงโวยวายออกมาจากบรรดาข้าราชการตำรวจ ที่จะต้องมาแบกรับภาระแทน

ต้องจับตามองว่า การประชุม คณะรัฐมนตรีในวันอังคารนี้ จะมีการนำเรื่องนี้กลับมาพิจารณใหม่อีกหรือไม่ และจะมีรายละเอียดออกมาอย่างไร แต่ถึงนาทีนี้ บรรดาข้าราชการที่ทำเนียบต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ขนาดยังไม่มาค้างทำเนียบ ‘หัวจะปวด’ เสียขนาดนี้ ถ้ามานอนจริง อาการจะหนักหนาขนาดไหน...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์