ผ่านมาถึงวันนี้ คนในรัฐบาลยังยืนยันเดินหน้านโยบายเรือธง โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 10,000 บาท ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ประมาณว่า ต้องเดินไปให้สุดทาง แม้จะยังหาสนามบินลงไม่เจอก็ตาม
ถามว่าการกู้เงิน 500,000 ล้านบาท จะออกเป็น พ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ.ก็ยังตอบไม่ได้
ในขณะที่เงื่อนไขก็ปรับลดลงมาเรื่อย ๆ ไม่เฉพาะแหล่งเงินที่เปลี่ยนจากไม่กู้ มาเป็นกู้เต็มอัตรา ส่วนเวลาก็ขยับจากเดิมจะจ่ายเงินในเดือนกุมภาพันธ์ เลื่อนไปเป็นพฤษภาคมแทน
ล่าสุดทั้งนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ออกมาประสานเสียงตรงกันไม่น่าทันเดือนพฤษภาคมแล้ว แต่ยืนยันต้องดำเนินนโยบายนี้ต่อไป
โดยเฉพาะนายกฯ เศรษฐา ที่ใช้คำว่า ณ จุดนี้ยังคงเดินหน้าเต็มที่ ซึ่งเป็นคำเดียวกับที่เคยพูดไว้ว่า ณ เวลานี้ยังเป็นไปตามกรอบเวลาเดิม คือเดือนพฤษภาคม แต่พอเวลาผ่านมาถึงอีกจุด ก็มีการปรับเปลี่ยนใหม่
เพราะเวลาเคลื่อน ไม่ใช่ ณ เวลานั้นแล้ว
ย้อนไปดูนโยบายแจกเงินหมื่นของพรรคเพื่อไทย ที่แสดงเหตุผลที่มาของแหล่งเงินต่อ กกต.ไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 57 จำนวน 4 ข้อ ได้แก่
1.ประมาณการรายได้ที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 2.6 แสนล้านบาท
2.ภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 1 แสนล้านบาท
3.การบริหารจัดการงบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท
4.การบริหารจัดการงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน จำนวน 9 หมื่นล้านบาท
รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5.6 แสนล้านบาท ตรงกับยอดที่จะแจกให้กับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน โดยไม่กำหนดเพดานรายได้ ที่ปรับเงื่อนไขการแจกใหม่ในเวลาต่อมา
ขณะที่ นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี แจกแจงที่มาของแหล่งเงินเพิ่มเติมในเวลาต่อมาว่า มาจาก 3 แหล่งด้วยกัน ได้แก่
1.การบริหารจัดการงบปี2567 โดยปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น รวมทั้ง ขอให้เลื่อนหรือชะลอโครงการ หรือการซื้อขายขนาดใหญ่ออกไป
2.การใช้เงินนอกงบประมาณ โดยให้หน่วยงานรัฐออกเงินให้ก่อน อาจใช้ช่องทางนี้หาแหล่งเงินทุน 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งต้องไปขยายเพดานหนี้ ตามมาตรา 28พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และมีแผนจัดสรรงบประมาณคืนให้ชัดเจน
3.กู้เงินโดยตรง ซึ่งยังไม่ได้ดูช่องทางนี้ ที่จริง ๆ แล้วสามารถกู้ได้ เพราะตอนนี้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ ร้อยละ 60 ขณะที่เพดานอยู่ที่ ร้อยละ 70 เท่ากับว่ามีช่องที่จะกู้ตรงนี้อยู่ 1.7 ล้านล้านบาท
เอามาให้อ่านกันเต็มๆ อีกรอบ จะได้ตอบโจทย์ที่เป็นหนึ่งในข้อเสนอในรายงานป.ป.ช.ที่มีไปยังกกต.ว่า
‘ให้หมั่นตรวจสอบนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง กับสิ่งที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภามีความแตกต่างกัน’
ทีนี้จากท่าทีของรัฐบาลหลังได้รับคำตอบจากกฤษฎีกาและรายงานผลศึกษาของป.ป.ช.ตามที่ปรากฎเป็นข่าว จะต้องนำคำตอบจากทั้งสองหน่วยงานเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลชุดใหญ่ ซึ่งยังไม่ได้นัดประชุมจะมีขึ้นวันไหน
แต่มีข้อสังเกตจากคำพูดของนายกรัฐมนตรี ที่แม้รองนายกฯ สมศักดิ์ เทพสุทิน จะพูดถึงคำแนะนำป.ป.ช.ว่า เป็นเพียงคำแนะนำที่รัฐบาลจะทำตามหรือไม่ก็ได้ ซึ่งต่อมาถูกนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการป.ป.ช.เตือนว่า
"ป.ป.ช.มีหน้าที่เพียงให้ข้อเสนอแนะ ข้อควรระวังเท่านั้น หากดำเนินการโครงการไปแล้ว ไม่มีความเสียหายทางเศรษฐกิจหรือการทุจริตเกิดขึ้นก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดความเสียหายเกิดขึ้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบ"
ซึ่งท่าทีในเรื่องนี้ของนายกรัฐมนตรี คือ ขอฟังความเห็นจากพรรคร่วมรัฐบาลก่อน โดยระบุว่า ต้องให้เกียรติพรรคร่วมรัฐบาล ทุกเรื่องต้องคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล และจะคุยในเวลาที่เหมาะสม เพราะต้องไปดูคำถามที่มาจากหน่วยงานต่างๆ ว่ามีอะไรบ้าง และเมื่อรวบรวมคำตอบได้แล้ว ต้องนำมาหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลว่าเห็นด้วยหรือไม่
"อยู่ด้วยกัน ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ผมยืนยันมาโดยตลอด"
นายกฯ เศรษฐา ย้ำคำว่าพรรคร่วมรัฐบาลอยู่หลายครั้ง อันเท่ากับกำลังจะใช้พรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลังพิง เพื่อหาสนามบินลงให้โครงการแจกเงินหมื่น ที่ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้
เพราะแม้จะเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยก็ตาม แต่เมื่อเป็นรัฐบาลผสมก็ต้องฟังเสียงพรรคร่วมรัฐบาลด้วย ส่วนจะลากไปได้ไกลขนาดไหน อีกไม่ช้าไม่นานคงได้เห็นการยกธงขาว
เดาเอาว่าอย่างมากถ้าไม่จบในกรรมการดิจิทัลชุดใหญ่ ก็คงลากไปจอดป้ายในที่ประชุมครม.นั่นแหละ
ถ้าจะให้ดีวงข้าวมื้อค่ำพรรคร่วมรัฐบาลเย็นนี้ ณ บรรยากาศริมน้ำเจ้าพระยา ไหนๆ ก็ไปกันครบแล้ว ก็เคาะกันเสียให้จบจะได้ไม่ต้องเสียเวลารอนาน