17 กุมภาพันธ์ วัน ‘ทักษิณ’ กลับบ้านจริงหรือ?

24 ม.ค. 2567 - 08:05

  • กรมราชทัณฑ์ตั้งเป้าแบบไม่เกรงใจใคร 17 กุมภาพันธ์ 2567 มีเรื่องใหญ่

  • ทักษิณ ชินวัตร เข้าข่าย การทุเลาโทษ จำคุก

  • เตรียมกลับบ้าน ท่ามกลางข้อสงสัย และคำถามมากมายจากรอบข้าง

economy-thaksin-police-hospital-SPACEBAR-Hero.jpg

เริ่มพูดกันหนาหูว่า หลังวันแห่งคาามรัก 3 วัน ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่พักรักษาตัวอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ จะได้ฤกษ์กลับบ้านในวันเสาร์ ตรงกับวันที่ 17 กุมภาพันธ์  อันสืบเนื่องจากการออกมาตั้งโต๊ะแถลงอย่างพร้อมเพรียงของฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 2 อาคารกระทรวงยุติธรรม ในวันพุธที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา

นำโดยฝ่ายการเมือง ได้แก่ สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม กูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการ รมว.ยุติธรรม ส่วนฝ่ายประจำ   มีสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายบริหาร และนพ.สมภพ สังคุดแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กรมราชทัณฑ์ 

เนื้อหาสาระของการแถลง นอกจากชี้แจงกรอบเวลาการรักษาตัวนอกเรือนจำของทักษิณในแต่ละช่วง ตั้งแต่ครบ 30 วัน 90 วัน และเกินกว่า 120 วัน ซึ่งได้ปฏิบัติตามขั้นตอนถูกต้องและเข้าเงื่อนไขตามกฎหมายทุกประการแล้ว

ไฮไลท์สำคัญน่าจะอยู่ที่การแถลงของรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ที่เปิดประเด็นใหม่เรื่องโครงการพักการลงโทษกรณีมี ‘เหตุพิเศษ’ ที่เพิ่มเติมจากการพักโทษตามเกณฑ์ปกติ เมื่อได้รับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 โดยให้เป็นอำนาจของ ผบ.เรือนจำแต่ละแห่งเป็นผู้พิจารณาว่าใครบ้างที่มีความเหมาะสม

ขณะที่รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้แถลง ยังบอกถึงคุณสมบัติของทักษิณ ว่า 

‘อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาในโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป  แถลงรายละเอียดหลังพักโทษ จะต้องอยู่ในที่ใด มีใครอุปการะ ประกอบอาชีพอะไร และที่สำคัญมีการระบุถึงบทบาททางการเมืองระหว่างการพักโทษไว้ด้วยว่า สามารถกระทำได้หากไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือไปทำอะไรที่ผิดระเบียบ’

หลายคนนึกสงสัย ทำไมต้องรีบออกมาแถลงล่อเป้า เพราะกว่าจะถึงวันเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ ก็ยังเหลือเวลาอีกตั้งนาน แต่พอมีคำว่า ‘เหตุพิเศษ’ แสดงว่าไม่ต้องรอให้ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ก่อน

จึงเป็นที่มาของเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่พูดกันกระฉ่อนถึงฤกษ์ดีวันที่ 17 กุมภาพันธ์

ขณะเดียวกัน ยังมีข้อถกเถียงถึงคำนำหน้าชื่อที่ไม่ใช้คำว่า ‘นช.’ หรือนักโทษชายกับทักษิณ ซึ่งมีข้อชี้แจงที่แตกต่างกัน โดยพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องของเสรีภาพ ใครจะเรียกอย่างไรไม่มีกฎหมายห้าม เพียงแต่ว่าจะใช้ภายในหน่วยงานหรือองค์กรเท่านั้น

สรุปคืออยู่ที่ประชาชนจะเรียกอะไรก็ได้ทั้งนั้น

แต่ในเรื่องเดียวกันนี้ ชัยชนะ เดชเดโช ประธานกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร กลับยกคลิปชี้แจงของกรมราชทัณฑ์ มาตั้งเป็นคำถามว่า เหตุไฉนถึงบอกที่ไม่ใช้คำว่า ‘นักโทษชาย’ เนื่องจากทักษิณไม่ได้ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และยังไม่ได้นับโทษเลย

คำชี้แจงหลังสุดนี้ นำไปสู่การตั้งข้อสงสัยของ ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตสส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ตั้งเป็นปุจฉาขึ้นมาเช่นกันว่า 

การออกมารักษาตัวนอกเรือนจำตั้งแต่วันแรกของทักษิณ น่าจะเข้าข่าย ‘การทุเลาโทษจำคุก’ ไว้ก่อน ตาม ป.วิอาญา มาตรา 246 (2) ที่เปิดช่องไว้สำหรับผู้วิกลจริต สตรีมีครรภ์ คลอดบุตรใหม่ และเจ็บป่วยที่อันตรายถึงแก่ชีวิต

‘การส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ด้วยเหตุแห่งการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง ที่เกรงจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิต จึงน่าจะเข้าเกณฑ์เรื่องการทุเลาโทษจำคุก เท่ากับยังไม่ได้รับโทษจำคุกจนกว่าจะหายป่วย’

ชาญชัย ตั้งคำถามถึงการทุเลาโทษจำคุกดังกล่าว เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเป็นการทุเลากันเอง โดยที่ศาลยังไม่ได้สั่ง ซึ่งล่าสุดได้ไปยื่นเรื่องถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้ดำเนินการเสียให้ถูกต้อง กรณีนำตัวทักษิณไปรักษาตัวนอกเรือนจำ โดยขีดเส้นไว้ 7 วัน นับจากวันที่ไปยื่นหนังสือในวันอังคารที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา หากเลยเวลาที่กำหนดจะดำเนินการตามกฎหมายกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป

หากดูทรงตามนี้แล้ว เหมือนทุกอย่างจะถูกจัดวางไว้พร้อมสรรพ ทั้งหลักเกณฑ์ใหม่กรมราชทัณฑ์ ฤกษ์ผานาที หรือแม้แต่โพลนิด้าล่าสุดที่ออกมาก็เป็นใจ ประมาณว่า การจะอยู่ จะไปของทักษิณ ไม่มีผลกระทบต่อรัฐบาล ม็อบที่ปลุกกันขึ้นมาก็ไม่ระคายเช่นกัน

ดูเหมือนประตูกลับสู่บ้านจันทร์ส่องหล้า ถูกเปิดโล่งรอไว้อยู่แล้ว ส่วนวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ คนชั้น 14 จะได้กลับบ้านแบบเท่ ๆ หรือไม่ ไว้รอดูของจริงกันในวันนั้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์