คงต้องยอมรับว่ามติของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ของธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท. เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (7 กุมภาพันธ์ 2567) ที่ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่อัตรา 2.50% ด้วยมติ 5:2 เสียง เป็นมติที่ ‘เซอร์ไพรส์’ ตลาดพอสมควร และทำให้เกิดคำถามตามมาหลายอย่าง โดยเฉพาะความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายด้านการเงินของ ธปท.ที่เป็น ‘จุดยืน’ สำคัญที่บรรดาธนาคารกลางชั้นนำของทุกประเทศจะต้องยึดถือเอาไว้ว่ายังคงยึดมั่นอยู่หรือไม่?
การประชุม กนง.นัดแรกของปีนี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษจากคนในแวดวง ตลาดเงิน-ตลาดทุน เพราะก่อนหน้าการประชุมเพียงวันเดียว นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เศรษฐา ทวีสิน และรองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ถึงขนาดออกมาประสานเสียงพร้อมกัน กดดันและเรียกร้องให้ กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อของไทยติดลบต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่ 4 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาและกำลังเดินเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ธปท.จึงควรลดอัตราดอกเบี้ยลงมา เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
หลังจาก มติ กนง. ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ สวนทางกับข้อเรียกร้องของรัฐบาล จึงทำให้ นายกฯ เศรษฐา ต้องออกมายืนกรานอีกครั้ง แสดงท่าทีว่าไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว แต่ก็**(จำใจ)** ต้องยอมรับ
พร้อมทั้งประชดเล็ก ๆ ว่า ตระหนักดีว่า กนง.ต้องมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน แต่ก็อยากเห็นนโยบายการเงิน และการคลังเดินไปด้วยกัน ซึ่งคงหมายถึง ไม่อยากเห็นลักษณะ ‘ขัดขา’ กันเหมือนที่เป็นอยู่
แต่หากใครมีโอกาสฟังการแถลงข่าวของ เลขานุการ กนง. ‘**ปิติ ดิษยทัต’ ** ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.สายการเงิน ซึ่งนอกเหนือจากพยายามอธิบายถึงเหตุผลหลาย ๆ มิติ ในการตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ จะพบว่า ธปท.ก็แอบ ‘จิก’ รัฐบาลกลับไปเหมือนกัน โดยส่งเสียงตัดพ้อเบา ๆ แบบสุภาพ
ธปท. ส่งสารไปถึงรัฐบาลว่าการแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นความเห็นที่มีค่า เพื่อทำให้ กนง.ต้องทบทวนหลายประเด็นให้รอบคอบขึ้น แต่ถึงอย่างไร กนง.ก็ยังคงตอกย้ำยึดการทำงานภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
เป็นที่ทราบดีว่า ที่ผ่านมาบรรดากรรมการที่มานั่งในตำแหน่ง คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ทุกคน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ให้ความสำคัญยึดถือเรื่องของความเป็นอิสระ และถือว่าเป็นภารกิจ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุด และพิทักษ์รักษาเอาไว้ ไม่ยอมให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง หรือกดดดัน เช่นเดียวกับบรรดาธนาคารกลางของทุกประเทศ
แต่หากสังเกตให้ดีจะพบว่า มติ กนง.ที่ไม่เป็นเอกฉันท์ในคราวนี้ ไม่ใช่เรื่องปกติ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงใน อรหันต์ทั้ง 7 ที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการ กนง. โดยนอกเหนือจาก กรรมการ 3 คน ในปีกของ ธปท. คือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคือ ดร.นก - เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ รองผู้ว่าฯอีก 2 คน คือ อลิศรา มหาสันทนะ และ รุ่ง มัลลิกะมาส
กรรมการอีก 4 คนที่เป็นกรรมการจากภายนอก เป็นกรรมการจากชุดเดิม 2 คน คือ ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน และ รพี สุจริตกุล โดยมีอีก 2 คน ที่เป็นกรรมการใหม่ คือ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส และ สันติธาร เสถียรไทย ซึ่งทั้งคู่มีความเห็นว่าจากสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงโตต่ำกว่าศักยภาพที่ประเมินไว้ ประกอบกับนโยบายการเงินในหลายประเทศก็เริ่มผ่อนคลายลง ทำให้มีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับทิศทางกลับมาเป็นขาลงได้ จึงทำให้มติที่ออกมาเป็น 5:2
พูดง่าย ๆ ก็คือ ภายใต้โครงสร้างของคณะกรรมการ กนง.ชุดปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นผ่าน มติของ กนง.ครั้งล่าสุด ที่เริ่มมี ‘เสียงแตก’ ไม่เป็นเอกฉันท์เหมือนทุกครั้ง ถึงแม้ยังคงมีกรรมการที่อยู่ใน‘**สายเหยี่ยว Hawkish’ ** มากกว่า ‘สายพิราบ Dovish’ แต่ก็เป็นเสียงที่ต้องรับฟัง และทำให้คณะกรรมการ กนง.เริ่มยอมรับว่า ในการประชุมรอบหน้าอาจจะต้องมีการชั่งน้ำหนักในประเด็นต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของตัวเลขเงินเฟ้อที่ติดลบมาต่อเนื่องหลายเดือน
บางทีหากรัฐบาลไม่ ‘ร้อนรน’ และ ‘กดดัน’ ธปท.จนเกินไป ก็ต้องยอมรับว่า มติ กนง.ล่าสุดที่ออกมาก็เริ่มส่งสัญญาณอย่างมีนัยยะสำคัญแล้วว่า คณะกรรมการฯ เริ่มมีทบทวนจุดยืนและมีแนวโน้มจะปรับนโยบายทางการเงินไปในทิศทางแบบผ่อนคลายมากขึ้น
เพราะเหตุนี้ แทนที่รัฐบาลจะแสดงท่าทีในลักษณะกดดัน และกราดเกรี้ยวเข้าใส่เหมือนที่ผ่านมา การใช้มธุรสวาจา หรือการปรับจูนทัศนคติเข้าหากัน เพื่อให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจทั้ง 2 ขา คือนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง สามารถเดินไปด้วยกันน่าจะเป็นหนทางที่สร้างสรรค์กว่า
บางทีภาพการเดินสายไปนั่งจิบกาแฟ นั่งคุยกันชิว ๆ ที่เรือนริมน้ำที่วังบางขุนพรหม มันน่าจะอภิรมย์กว่าภาพนายกฯ เศรษฐา นั่งเผชิญหน้ากับผู้ว่าฯนก แบบสองต่อสองที่ทำเนียบฯ หรือออกมาสาดกระสุนทางวาจา จากคนในรัฐบาลกดดันเข้าใส่แบบเช้ากลางวันเย็นแบบที่เป็นอยู่หรือไม่...