ศึกชิงเก้าอี้ประธาน ส.อ.ท. วาระซ่อนเร้นของ สมโภชน์ อาหุนัย?

21 มี.ค. 2567 - 09:27

  • การชิงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ จะมีขึ้น 25 มีนาคมนี้

  • มี 2 คนที่ลงชิงตำแหน่ง แชมป์เก่า กับ ผู้ท้าชิง

  • การชิงตำแหน่งครั้งนี้ เดิมพันสูงมากในฝ่ายผู้ท้าชิง

economy-ftix-carbon-credits-SPACEBAR-Hero.jpg

การเลือกตั้งประธานและกรรมการของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ที่กำลังจะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 25 มีนาคมนี้ มีความพิเศษและส่อเค้าว่าจะเป็นการชิงชัยกันที่ดุเดือดระหว่าง สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด หรือ ‘EA’ ซึ่งเป็นรองประธาน ส.อ.ท. ชุดนี้ กับ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. คนปัจจุบัน

โดยธรรมเนียมที่สืบต่อกันมา ประธาน ส.อ.ท. แต่ละคน เป็นได้ 2  สมัยติดต่อกัน เมื่อครบสมัยแรก 2  ปี ก็จะควบต่อสมัยที่สองอีก 2 ปี  เพื่อให้การทำงานต่อเนื่อง โดยไม่มีคู่แข่งมาท้าชิงตำแหน่งในวาระที่สองนี้

การประกาศตัวชิงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. ของสมโภชน์ จึงเป็น ‘การฉีกกฎ แหวกกรอบ’ ที่อยู่เหนือความคาดหมายของคนในแวดวงธุรกิจ และมีคำถามว่าสมโภชน์ มีแรงจูงใจอะไร  

สมโภชน์ให้เหตุผลว่า ช่วงเวลานี้เป็นจังหวะสำคัญที่รอไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจไทยเหมือนคนเป็นมะเร็งระยะที่ 1 ที่ต้องรีบแก้ ถ้าปล่อยไปถึงระยะที่ 4 อาจแก้ไม่ทัน และต้องการผลักดันแนวคิดในการทำงานเชิงรุกเพื่อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น จึงไม่อยากรออีก 2 ปี ให้เกรียงไกรเป็นประธานสมัยที่ 2 ก่อนจึงค่อยลงสมัคร

พูดราวกับว่า ตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. มีอำนาจตัดสินใจระดับนโยบายของชาติ ทั้งที่ในความเป็นจริง เป็นองค์กรที่ดูแลปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิกมากกว่า ผลประโยชน์ของชาติ หนักไปในทาง ‘ขอลูกเดียว’ ขอลดค่าไฟ ลดภาษี ลดดอกเบี้ย ลดค่าธรรมเนียม ฯลฯ

แต่คนในสภาอุตสาหกรรมฯ ‘เม้าท์’ กันให้แซดว่า เบื้องลึกน่าจะมาจาก เรื่องการดำเนินการที่อาจจะขัดต่อหลักธรรมภิบาลที่ดี และเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนใน ‘โครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตฯ หรือ FTIX’ ที่กำลังถูกตรวจสอบและผลสอบเบื้องต้นยังไปพัวพันการจัดตั้ง ‘มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน’ ที่ต่อมามีการอ้างชื่อของ ‘สภาอุตสาหกรรมฯ’ ในการของบประมาณจากหน่วยงานรัฐหลายแห่งเพื่อทำวิจัย

เมื่อวานนี้ (20 มีนาคม) ประธาน ส.อ.ท. เกรียงไกร มอบอำนาจให้ทนายไปแจ้งความกับ กองบังคับการตำรวจสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์  ให้ตรวจสอบเอาผิดกับ ‘แฮคเกอร์’ ที่แอบเจาะระบบเข้าไปลบข้อมูลในระบบของแพลตฟอร์ม FTIX 

ฝ่ายเทคนิคไอทีของ ส.อ.ท. รู้แล้วว่า ใครเป็นไอ้โม่ง และข้อมูลที่เข้าไปแก้ไข เป็นบัญชีของอดีตพนักงานและอดีตผู้บริหาร ซึ่งได้มอบข้อมูลให้ทางตำรวจเพื่อเรียกตัวมาสอบสวนต่อไป

โครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตฯ หรือ FTIX เกิดขึ้นจากแนวคิดของกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ของ ส.อ.ท. ที่มีสมโภชน์เป็นแกนนำ และผลักดันให้สภาอุตสาหกรรมฯในยุคของประธาน ‘สุพันธุ์ มงคลสุธี’ ที่เล็งเห็นว่าประเทศไทยควรจะริเริ่มสร้างตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตให้เกิดขึ้น โดยมีการจัดตั้ง สถาบันการจัดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของ ส.อ.ท. ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น ‘สถาบัน CCI’ ในราวกลางปี 2565 และ ‘สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100)’ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องพลังงานหมุนเวียน   

กรรมการ ส.อ.ท.ในชุดของ สุพันธ์ ได้ติดต่อบริษัท ‘บล็อกฟิน’ ที่เป็นสตาร์ทอัพ ทำการพัฒนาแพลตฟอร์มและซอฟท์แวร์บริหารจัดการบนระบบ ‘กีเดี้ยน’ (GIDEON) ซึ่งปรากฏภายหลังว่า สมโภชน์ อาหุนัย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 18% ในบริษัทบล็อกฟิน

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว แต่กรรมการชุดของเกรียงไกรพบว่าร่างสัญญาของบล็อกฟินที่เข้ามารับงานเขียนโปรแกรมให้แพลตฟอร์ม FTIX มีรายละเอียดที่ ส.อ.ท. ‘เสียบเปรียบ’ หลายเรื่อง 

ถึงแม้ ส.อ.ท.เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มซื้อขายคอาร์บอนเครดิต FTIX แต่บล็อกฟินเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ และข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Big Data) แลกกับการไม่คิดค่าใช้จ่ายในการพัฒนา แต่ให้ ส.อ.ท.ต้องรับผิดชอบค่าเช่าระบบ Cloud และที่สำคัญยังกำหนดให้ต้องใช้แพลตฟอร์ม FTIX ของบริษัทสตาร์ทอัพดังกล่าวเป็นระยะเวลา 10 ปี และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการพัฒนาซอฟท์แวร์เพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน รูปแบบธุรกิจในการจัดตั้งแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปีจากผู้ที่จะเข้ามาทำธุรกรรมซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากฝั่งผู้ซื้อในอัตรา 3% และฝั่งผู้ขาย 5% รวม 8% จากทุกธุรกรรมซื้อขาย

รายได้ทั้งหมดจะถูกจัดสรรออกเป็น 4 ส่วน คือ ค่าใช้จ่ายของแพลตฟอร์มให้กับบล็อกฟิน สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย RE 100 สภาอุตสาหกรรมฯและองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก และโบรกเกอร์ Escopolis  ที่เข้ามาเป็นตัวกลางในการซื้อขาย ซึ่งมีกระแสข่าวว่าเป็นบริษัทลูกของ EA  

เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้เหลือรายได้ที่จะเข้าไปยัง ส.อ.ท.ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มน้อย ในขณะที่ส่วนใหญ่จะกลายเป็นรายได้ของเจ้าของระบบที่ใช้บนแพลตฟอร์มคือ บล็อกฟิน และ โบรคเกอร์ Ecopolis  ซึ่งจะไหลต่อไปเข้ากระเป๋า สมโภชน์ และEA

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการจัดตั้ง ‘มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน’ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องพลังงานหมุนเวียนในวงกว้าง แต่ต่อมามีการใช้ชื่อมูลนิธิไปขอทุนจาก ‘หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข.’ ที่อยู่ในสังกัดของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. รวมทั้งมีการขอเงินสนับสนุนจาก ‘กองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน’ กระทรวงพลังงาน เมื่อปี 2565 ในวงเงินประมาณ 218 ล้านบาท

ปรากฏว่าทั้งสองหน่วยงานเกิด ‘เอะใจ’ จึงมีหนังสือมาสอบถามถึง ส.อ.ท. ว่า มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ อยู่ในสังกัดของ ส.อ.ท. หรือไม่  ทำให้ ‘โป๊ะแตก’ เพราะ ส.อ.ท. ไม่เคยรู้ว่า มีมูลนิธินี้อยู่  จึงทำหนังสือตอบกลับไปว่า ส.อ.ท.ไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือมอบอำนาจให้ มูลนิธิพลังงานสะอาดฯไปขอทุนแต่อย่างใด

หลังจากนั้น มีมีการตั้งกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยมี ‘ธนารักษ์ พงษ์เภตรา’ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 

มูลนิธิพลังงานสะอาด มี ‘กวิน ทังสุพานิช’ เป็นประธานกรรมการ  ‘นที สิทธิประศาสน์’ เป็นรองประธาน และ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ เป็นกรรมการ มูลนิธิ 

เท่ากับว่าสมโภชน์ มีเรื่องไม่โปร่งใส ใต้ร่มสภาอุตสาหกรรม  2 กรณี  

กรณีแรก เอาบริษัทส่วนตัว บล็อกฟินท์ มาทำธุรกิจแพลตฟอร์ม FTIX มีรายได้จาก การขายซอฟต์แวร์กีเดี้ยน และลิขสิทธิ์ ข้อมูล Big Data การซื้อขาย คาร์บอนเครดิต บนFTIX  และส่วนแบ่งค่าธรรมเนียม ค่าคอมมิชชั่นการซื้อขาย

กรณีที่ 2 คือ เอามูลนิธิพลังงานสะอาดที่ตัวเองเป็นกรรมการ ไปขอเงินจากกระทรวงพลังงานและกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยอ้างชื่อ สภาอุตสาหกรรมฯ

มีการชี้แจงมาจากฝั่งของสมโภชน์ ว่า  

ข้อมูลที่มีการนำเสนอในเรื่องดังกล่าว มีเจตนาที่จะสาดโคลนเพื่อหวังผลในการตัดคะแนนเสียงในการเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.ที่กำลังจะมีขึ้น และมีการออกเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริง โดยยืนยันว่าทุกเรื่องทำไปเพื่อประโยชน์ของสมาชิก ส.อ.ท. และกระทำอย่างเปิดเผย โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

มีการยืนยันว่า สถาบันการจัดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต CCI ได้ขอให้ บล็อกฟิน เข้ามาพัฒนาซอฟท์แวร์ เนื่องจากไม่มีงบประมาณ จึงขอให้มูลนิธิพลังงานสะอาดช่วยเป็นแกนในการขอทุนจากหน่วยงานของรัฐเพื่อนำมาพัฒนาแพลตฟอร์มFTIXดังกล่าว ทั้งหมดจึงเป็นการบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิด ทำให้เกิดความเสียหายกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะตัวสมโภชน์ ที่กำลังจะลงชิงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. 

ทำให้ฝั่ง ส.อ.ท. สวนกลับมาว่า  ก็เพราะเรื่อง ผลประโยชน์ทับซ้อนของสมโภชน์บนแพลตฟอร์ม FTIX  และการที่มูลนิธิพลังงานสะอาด แอบอ้างชื่อ ส.อ.ท. ไปขอเงินหน่วยงานรัฐ จนถูกตั้งกรรมการสอบ

นี่แหละที่ทำให้ สมโภชน์ต้องฉีกธรรมเนียม ประเพณีการเลือกประธาน ส.อ.ท. กระโดดเข้ามาชิงตำแหน่ง จากเกรียงไกร ที่ยังเหลือวาระอีก 1 สมัย เพื่อเข้ามาควบคุมการตรวจสอบไม่ให้บานปลาย จนอาจส่งผลกระทบต่อตัวเอง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์