อย่าให้อิสราเอล ชักศึกฮามาสเข้าไทย • ‘พิชัย’ นอนมา ประธานบอร์ดตลาดหุ้น • ทางลง คปท. ยื่นสองหมื่นชื่อสอย ป.ป.ช.

15 ม.ค. 2567 - 09:47

  • แคมเปญเรียกร้องปล่อยตัวประกันของสถานทูตอิสราเอลในไทย ต้องดูแลไม่ให้บานปลาย

  • ถึงยุคที่ใครใหญ่ ก็เป็นคนกำหนด ประธานบอร์ดตลาดหลักทรัพย์คนใหม่รู้ผลตั้งแต่เสนอชื่อ

  • ความเคลื่อนไหว กดดันของ คปท.ที่มีต่อ ป.ป.ช. ดูแล้วไปไม่ถึงไหนทั้งแนวร่วม และขั้นตอน

DEEP-SPACE-28-SPACEBAR-Hero.jpg

อย่าให้สถานทูตอิสราเอล ชักศึกฮามาสเข้าไทย

DEEP-SPACE-28-SPACEBAR-Photo00.jpg

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย จัดกิจกรรมพิเศษ ในวาระครบ 100 วัน สงครามอิสราเอล-ฮามาส รณณรงค์ให้ปล่อยตัวประกัน ที่ยังถูกกลุ่มฮามาสควบคุมตัวอยู่ 135 คน

งานนี้ ออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอล นำขบวนรถตุ๊ก ๆ 100 คัน ติดป้ายข้อความเรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันกลับบ้าน ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ พร้อมภาพตัวประกันที่ถูกจับ วิ่งจากหน้าสถานทูตอิสราเอลย่านอโศก ไปถนนข้าวสาร บางลำพู แล้ววนกลับมาที่จุดตั้งต้น

การเรียกร้องให้กลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกัน ซึ่งยังมีคนไทยรวมอยู่ด้วย 8 คน  ถ้าโต้โผใหญ่ไม่ใช่สถานทูตอิสราเอล ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะตัวประกันเหล่านั้นคือ ผู้บริสุทธิ์ ที่ตกเป็นเหยื่อ ถูกใช้เป็นหมากในสงครามอินราเอล-ฮามาส 

แต่เมื่อสถานทูตอิสราเอลลงมาเล่นเอง และทูตซากิฟเล่นด้วย โดยใช้ประเทศไทยเป็นเวที เป็นเรื่องไม่เหมาะอย่างยิ่ง เพราะอิสราเอลเป็นคู่ขัดแย้งกับฮามาสโดยตรง ประเทศไทยอาจถูกกลุ่มฮามาส ตั้งคำถามว่า คิดอย่างไร จึงให้อิสราเอลทำอย่างนี้

หากสถานทูตอิสราเอลจะจัดกิจกรรมภายในพื้นที่สถานทูต ก็เป็นเอกสิทธิ์ทางการทูตที่ทำได้  แต่การใช้ถนนใจกลางกรุงเทพ เป็นเวทีส่งสารออกไปทั่วโลก อาจสร้างความเข้าใจผิดได้ว่า รัฐบาลไทยรู้เห็นเป็นใจ ดีไม่ดี อาจถูกมองว่า เอียงข้างอิสราเอล เพราะตอนกลุ่มฮามาสบุกอิสราเอล วันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว  นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสินก็ปากไว กล่าวประณามกลุ่มฮามาสไปก่อนแล้ว  แบบคนที่ไม่เคยรับรู้ ความเป็นมาของความขัดแย้งอิสราเอล -ปาเลสไตน์มาก่อน 

ทูตซากิฟ ตั้งใจดึงคนไทยให้เป็นพวกอิสราเอล จากคำให้สัมภาษณ์จของเธอที่ว่า  

‘ดิฉันคิดว่าสำคัญมากกับเราทุกคนที่จะไม่ลืมว่า ยังมีตัวประกันอีก 135 คน ในจำนวนนี้ 8 คนเป็น คนไทย’

‘เราจึงขอเรียกร้องต่อโลก เรียกร้องกับทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทย บอกกับฮามาสให้ปล่อยตัวประกันเดี๋ยวนี้ พาพวกเขากลับบ้านเดี๋ยวนี้’

การที่กลุ่มฮามาส ปล่อยตัวประกันคนไทย 17 คน เมื่อปลายเดือน พฤศจิกายนปีที่แล้ว เป็นการร้องของรัฐบาลไทย และผู้แทนประธานสภาผู้แทนราษฎรวัน มู ฮัมหมัด นอร์ มะทา ที่บินไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่าน ที่สัมพันธ์กับตัวแทนกลุ่มฮามาส เป็นการเจรจาที่แยกต่างหากจาก การปล่อยตัวประกันผู้หญิงและเด็ก ชาวอิสราเอล แลกกับนักโทษปาเลสไตน์ และการพักรบชั่วคราว ระหว่างวันที่ 24-28 พฤศจิกายน

การปล่อยตัวคนไทยในครั้งนั้น อิสราเอลไม่ได้ช่วยเหลืออะไร นอกจากการอำนวยความสะดวก หลังจากตัวประกันได้รับอิสระแล้ว กลุ่มฮามาสยอมปล่อยเอง ตามข้อเรียกร้องของไทย เพราะเห็นว่า ไทยไม่ใช่ศัตรูของพวกเขา

ชะตากรรมของตัวประกันคนไทยอีก 8 คน จะเป็นอย่างไร หากกลุ่มฮามาส เข้าใจท่าทีของประเทศไทยผิดไปอันเนื่องมาจาก การรณรงค์ของสถานทูตอิสราเอลในกรุงเทพครั้งนี้ 

ที่น่าผิดหวังคือ กระทรวงการต่างประเทศไทย  โดยกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ  และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นการดำเนินงานของสถานอัครราชทูตอิสราเอล และฝ่ายไทยไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม หรือมีส่วนสนับสนุนแต่อย่างใด และย้ำว่า ไทยยังเน้นช่องทางการเจรจาต่าง ๆ เพื่อปล่อยตัวประกันคนไทยให้เร็วที่สุด  

ที่กระทรวงต่างประเทศต้องทำโดยด่วนคือ เรียกทูตอิสราเอลมาตำหนิ และห้ามไม่ให้มีกิจกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทยอีก

อย่าให้อิสราเอล ดึงประเทศไทยเป็นพวก ชักศึกเข้าบ้านเป็นอันขาด

                                                                              #######

‘พิชัย’ นอนมา ประธานบอร์ดตลาดหุ้น

DEEP-SPACE-28-SPACEBAR-Photo01.jpg

พยากรณ์อากาศช่วงวันที่ 15-31 มกราคม เปิดเผยว่า จะมีสภาวะอากาศแปรปรวนหนัก เนื่องจากมีความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นจากแถวทำเนียบรัฐบาล ที่ได้รับอิทธิพลมาจากท้ายซอยอารีย์ ซึ่งมีกำลังแรงพัดมาปกคลุม และปะทะกับลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดพานำความชื้นมาจากแถววิภาวดี ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง และลูกเห็บตกในพื้นที่แถวย่านรัชดาภิเษก

ภาวะอากาศแปรปรวนดังกล่าวเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ โดยสะท้อนชัดจากการประชุมคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.ล่าสุด มีการแต่งตั้งคนเข้าไปนั่งเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยใหม่ 3 คน เป็นการส่งสัญญาณว่ากำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโครงสร้างกรรมการ ตลท. ในการประชุมวันที่ 24 มกราคมนี้    

กรรมการ ตลท. ซึ่งมาจากโควตาของ ก.ล.ต. มีทั้งหมด 6 คน แต่กำลังจะหมดวาระในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้มี 3 คน คือ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ที่นั่งในตำแหน่งประธาน ตลท.คนปัจจุบัน กุลภัทรา สิโรดม และ อนุชิต อนุชิตานกูลโดยกรรมการอีก 3 คนที่ยังไม่หมดวาระ คือ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ดร.กิตติพงศ์ อรุพีพัฒนพงศ์ และ โสภาวดี เลิศมนัสชัย            หากดูจากรายชื่อ กรรมการ ตลท.ใหม่ที่ ก.ล.ต.ส่งชื่อเข้ามา เกือบจะบอกได้ว่ามาจากสายตรงทางการเมืองแบบชัดเจน โดย กรรมการ 3 คนใหม่ คือ พิชัย ชุณหวชิร  คมกฤช เกียรติดุรยกุล และ รวิทนร์ บุญญานุสาส์น

พิจารณาดีกรี ของ กรรมการใหม่ทั้ง 3 คน คมกฤช จัดว่าเป็นกระบี่มือหนึ่งในแวดงวงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน จากเบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ ขณะที่ รวินทร์ ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญในสายงานตลาดตราสารหนี้ และตลาดทุน จากแบงก์กรุงไทย 

ทั้งสองคนคงเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหายุ่ง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะเรื่องการทุบหุ้นผ่านโปรแกรมเทรดดิ้ง และ ระเบิดเวลาเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ของบรรดาบริษัทจดทะเบียนหลาย ๆ แห่ง ซึ่งกำลังเป็นระเบิดเวลาที่ส่งผลต่อราคาหุ้น 

แต่ที่คนในวงการ ‘ซี๊ด’ปาก ทันที่ที่เห็นชื่อและเชื่อกันว่าน่าเอาปากกามาวงได้เลยว่า จะก้าวขึ้นมาแทนอดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดร.ประสาร ในตำแหน่งประธาน ตลท.คนใหม่ คือ พิชัย ชุณหวชิร ที่ปัจจุบันมีดีกรีเป็นถึง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และมีบทบาทที่สำคัญอีกหลายเรื่องให้กับรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จึงต้องถือเป็นสายตรงที่มาจากปีกของนายกฯ เศรษฐา ที่รัฐบาลส่งเข้ามานั่งในตำแหน่งใหญ่ของ ตลท.ในคราวนี้

พิชัย ปัจจุบันอายุ 74 ปี จบจากธรรมศาสตร์ สาขาบัญชี และ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในกลุ่ม ปตท. เคยนั่งเป็นกรรมการของ ธปท. และปัจจุบันเป็นประธานกรรมการของ บางจาก คอร์ปอเรชั่น และที่สำคัญคือเขาเคยมีบทบาทในฐานะพยานปากเอก จากจำนวน  7 ปากในคดีรับจำนำข้าวของ อดีตนายกฯ ปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

คาดว่าหากไม่มีอะไรผิดพลาด ในการประชุมคณะกรรมการ ตลท.ในช่วงปลายเดือนนี้ จึงอาจจะมีการเสนอชื่อ พิชัย ขึ้นเป็นประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯแทน ดร.ประสาร โดยคงไม่รอแต่งตั้งกรรมการ ตลท.รอบใหม่ในฝั่งโบรคเกอร์ ที่จะมีกรรมการทยอยครบวาระอีก ไล่มาตั้งแต่ ไพบูลย์ นลินทรางกูร ธิติ ตันติกุลานันท์ และ พิเชษฐ สิทธิอำนวย ที่กำลังจะหมดวาระเช่นกัน

ในการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯครั้งแรกของปีนี้ นอกเหนือจากวาระเรื่องข้อสรุปผลการศึกษาเรื่องโปรแกรมเทรดดิ้ง อาจจะมีวาระเรื่องการประเมิน KPI ของ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ภากร ปิตธวัชชัย ที่กำลังเผชิญแรงกดดัน และดูจะมีผลงานไม่ค่อยเข้าตา และเป็นที่สบอารมณ์ ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ในหลายๆเรื่อง ทำให้เชื่อกันว่าอาจจะมีแรงบีบบางอย่างจากสายการเมือง ที่อาจจะทำให้ ภากร อาจจะต้องลุกจากเก้าอี้ก่อนครบวาระก็เป็นได้ 

ตอนนี้คนในแวดงวงตลาดทุน จึงเริ่มคาดการณ์ถึงตัวเต็ง ที่จะเข้ามานั่งเป็น กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนใหม่ ซึ่งอาจไม่ใช่คนใน เพราะสปอร์ตไลท์เริ่มฉายแสงไปที่ MD ใหญ่แบงก์สีชมพู แถวสะพานควาย ซึ่งแสดงความสนใจ และอาจได้แรงหนุนทางการเมืองที่จะเป็นลมใต้ปีกที่อาจจะหนุนส่งช่วยให้คว้าเก้าอี้นี้ก็เป็นได้...

                                                                                     #######

ทางลง คปท. ยื่นสองหมื่นชื่อสอย ป.ป.ช.

DEEP-SPACE-28-SPACEBAR-Photo02.jpg

การชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท.ที่ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล แบบปักหลักพักค้างช่วงสั้น ๆ 2 คืน 3 วัน เพื่อกดดันให้นำตัว ‘ทักษิณ ชินวัตร’ กลับไปคุมขังในเรือนจำ ไม่ได้รับความสนใจจากคนในรัฐบาลมากนัก เนื่องจากมองว่าคงจุดไม่ติด เพราะเป็นประเด็นที่ไม่ใหญ่โตถึงขั้นต้องให้คนลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาลเหมือนในอดีต

ที่สำคัญคนในรัฐบาลล้วนผ่านประสบการณ์ทำม็อบกันมา จึงอ่านออกว่าม็อบที่จะปักหลักพักค้าง ยืนระยะได้ยาว และมีพลัง ต้องมีองค์ประกอบหลัก ๆ เช่น เป็นม็อบมีเจ้าของ มีเส้น มีสปอนเซอร์ ฯลฯ

แต่ม็อบ คปท. ยังไม่เข้าองค์ประกอบหลักดังว่าครบ แถมยังขาดแนวร่วมสำคัญจากพรรคการเมือง ที่จะช่วยเติมมวลชนจากหัวเมืองเข้ามาสับเปลี่ยนกำลังแบบเต็มออก ๆ ๆ และไม่น่าจะมี เพราะไม่ใช่สไตล์ของก้าวไกล ที่เน้นการทำงานในสภามากกว่า

ส่วนพรรคการเมืองอื่น ๆ ไล่มาตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนมาถึง กปปส.ล้วนแต่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลนี้ หรือไม่ก็รอการเข้าร่วมรัฐบาล

คปท.จึงหาทางลงด้วยการตั้งโต๊ะล่า 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อให้ประธานศาลฎีกาตั้ง ‘คณะผู้ไต่สวนอิสระ’ เอาผิด ป.ป.ช.ที่นิ่งเฉยไม่ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องกรณีการออกมารักษาตัวนอกเรือนจำของทักษิณ

วันพรุ่งนี้(16 ม.ค.67) คปท.จะไปทวงคำตอบจาก ป.ป.ช.ให้แน่ใจอีกครั้ง หากยังนิ่งเฉยก็จะใช้สองหมื่นรายชื่อยื่นตามช่องทางรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 เผาผิด ป.ป.ช.ต่อไป

หากดูตามกระบวนการในรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 แล้ว คงต้องใช้เวลาดำเนินการอีกนาน โดยขั้นตอนแรก ต้องยื่นผ่านประธานรัฐสภา พร้อมแนบหลักฐานตามสมควร 

จากนั้น หากประธานรัฐสภา เห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่กล่าวหา ถึงจะเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกา เพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระขึ้นมาไต่สวนหาข้อเท็จจริง และประธานรัฐสภา ยังต้องตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อทั้งสองหมื่นคน ว่าครบถ้วนและเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ก่อนด้วย

เมื่อผ่านไปถึงประธานศาลฎีกาแล้ว ก็จะมีกระบวนการแต่งตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระจากผู้มีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์เข้ามาทำหน้าที่

สุดท้ายเมื่อดำเนินการไต่สวนแล้วเสร็จ หากเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้สั่งยุติเรื่อง แต่ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย

สุดท้ายท้ายสุด เมื่อศาลฎีกา เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา ถึงจะส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

และในระหว่างนั้น ก็ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อศาลประทับรับฟ้องจนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ดูแล้วคงเป็นการหาทางลงของ คปท.มากกว่า แม้ประกาศจะกลับมาปักหลักชุมนุมยาวอีกครั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ก็ตาม เพราะกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 236    ต้องผ่านหลายด่าน 

การใช้ช่องทางรัฐธรรมนูญตรวจสอบเอาผิด ป.ป.ช.หนทางนี้จึงยังอีกยาวไกล

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์