เปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด (ปลอมๆ) เปลี่ยนแค่ชื่อ ซื้อขายไม่ได้

วันที่ 15 มกราคมนี้ จะมีการ Kick off มอบโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร เป็นของขวัญเพิ่มสุขปีใหม่ให้แก่เกษตรกร ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 25,000 ราย พร้อมกันทั่วประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในการมอบโฉนดเพื่อการเกษตร จำนวน 1,000 ฉบับ ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดที่ดิน เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ ที่ผลักดันโดย ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคฯ หลังการเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐเข้าร่วมรัฐบาล ธรรมนัส เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงลงมือทำนโยบายนี้ให้เป็นจริง แต่มีการขยายคำว่า โฉนดที่ดินเป็น โฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร
คนทั่วไปที่ไม่ได้มีที่ดิน ส.ป.ก. เข้าใจว่า คือ การเปลี่ยนหนังสือให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ที่ให้สิทธิครอบครอง ทำกิน เป็นโฉนดที่ดินที่ผู้ถือโฉนด เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จะโอนให้ใครก็ได้
แต่ความจริง แค่เปลี่ยนชื่อจากเอกสาร สิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร สิทธิอื่น ๆ เหมือนเดิม คือ มีสิทธิ ครอบครอง ทำกิน ซื้อขาย โอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้ ยกเว้นโอนให้ทายาท เพราะผู้ถือโฉนดไม่มีกรรมสิทธิ์ กรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)
โฉนดที่ดินเพื่อการเกษตรที่ออกโดย สำนักงาน ส.ป.ก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้แต่เฉพาะ ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์เพื่อการเกษตร เท่านั้น แต่ค้ำประกันได้เพียง 50% ธนาคารอื่น ๆไม่รับ เพราะผู้กู้ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หากภายหลังผู้กู้ผิดสัญญา ธนาคารฟ้องร้องไม่ได้ เพราะรู้อยู่แล้วว่า ผู้กู้ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน สัญญาเงินกู้จึงเป็นโมฆะ
มาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 บัญญัติว่า
‘ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก แก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันการเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง’
ขีดเส้นใต้สองเส้นตรงคำว่า ‘หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้’ มีผลเท่ากับว่า ที่ดิน ส.ป.ก. ไม่ว่าจะเรียกชื่ออะไร ซื้อขายเปลี่ยนมือไม่ได้ ได้แค่โอนไปยังทายาท หรือ โอนกลับคืนไปให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ในเว็บไซต์ ของ สำนักงาน ส.ป.ก. หมวด โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หัวข้อ ถาม-ตอบ ตอกย้ำสถานะของ โฉนดที่ดินเพื่อการเกษตรให้ชัดยิ่งขึ้น
ถาม - โฉนดของ ส.ป.ก. กับของกรมที่ดินต่างกันอย่างไร
ตอบ - โฉนดเพื่อการเกษตร กรรมสิทธิ์เป็นของ ส.ป.ก. อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ 2518 โดยอนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์
โฉนดที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ครอบครอง ออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดิน
ถาม - โฉนดเพื่อการเกษตร จะซื้อขายได้ไหม
ตอบ - เกษตรกรไม่สามารถซื้อขายหรือเปลี่ยนมือระหว่างเกษตรกรด้วยกันเองได้ หากประสงค์จะเปลี่ยนมือต้องดำเนินการตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินที่กำหนด
#######
เงินกู้ 5 แสนล้านบาท รัฐบาลเพื่อไทย ‘คิดผิด ทำพัง’

มาถึงนาทีนี้พรรคเพื่อไทย ของนายใหญ่ ชั้น 14 และ นายกฯ เศรษฐา ถุงเท้าหลากสี คงต้องตัดสินใจให้ดีว่าจะเลือกนำ ‘เรือธง’ ที่ตั้งใจจะขนเงินกู้ 5 แสนล้านบาท เดินไปในร่องน้ำเส้นทางวิบากเส้นทางไหน ตามนโยบายขายฝัน ‘แจกเงินหมื่น’ ที่ไปทุ่มหาเสียงไว้กับประชาชน จนได้รับเลือกตั้งมาเป็นกอบเป็นกำ ถึงจะเป็นรองพลพรรคสีส้ม แต่ก็พลิกเกมจนได้มาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
สำหรับพรรคเพื่อไทย มันเหมือนจะเป็นเรื่อง ‘ตลกร้าย’ ที่ขำไม่ออกอยู่ไม่น้อย เพราะตั้งแต่ช่วงเป็นฝ่ายค้าน ก็ไปสร้างวาทกรรมทั้งด่าทั้งถล่มรัฐบาลลุงตู่เอาไว้เยอะว่าอยู่ในอำนาจมา 9 ปี ทำประเทศล้าหลัง ‘เศรษฐกิจวิกฤต’ ต้องให้พรรคเพื่อไทยที่ ‘คิดใหญ่ ทำเป็น’ มาบริหารประเทศ
แต่ไม่รู้ว่า ‘คิดใหญ่ ทำเป็น’ แบบไหน ผ่านไปสี่เดือนจนชาวบ้านเริ่มส่งเสียงถามแล้ว ‘เงินหมื่น’ จะได้กี่โมง แต่ทุกอย่างก็ยังคงเป็นเพียงภาพฝัน และกำลังเป็น ‘ฝันร้าย’ ตามหลอกหลอนนายกฯเศรษฐา และทีมเศรษฐกิจอยู่ทุกคืนวัน
ทั้งหมดเพราะคำว่า ‘วิกฤต’ คำสั้น ๆ คำเดียวแท้ ๆ ที่กลายเป็น ‘บ่วง’ มัดตัวเอง จนทำเอารัฐบาลกุมขมับไปต่อไม่เป็น ต้องกลับมานับหนึ่งใหม่กันอีกรอบ เมื่อได้รับคำตอบจากกฤษฎีกา
‘วิกฤต’ คำนี้คงไม่ถึงกับต้องทำ ‘ประชามติ’ ถามชาวบ้าน อย่างที่พี่อ้วน ภูมิธรรม เวชยชัย (รองกอง) รองนายกฯ บอกกับสื่อหรอก แค่ไปเปิดตำราทางเศรษฐศาสตร์ก็จะตอบได้อยู่แล้วว่า มองมุมไหนเศรษฐกิจไทยก็ยังไม่ได้เข้าขั้นวิกฤต เพียงแต่ตกอยู่ใน ‘โหมด’ ของการฟื้นตัวช้า และ ‘โตต่ำ’ ที่อาจจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง แต่คงไม่ถึงขนาดต้อง ‘โปรย’ เงินถึง 5 แสนล้านบาท ไปแจกคน 50 ล้านคนเพื่อเอาใจชาวบ้าน เพราะถึงจะกระตุก GDP ให้โตขึ้นมานิดหน่อยก็เพียงชั่ววูบแต่ไม่มีความยั่งยืน แถมสร้างหนี้ให้คนไทยต้องแบกภาระหนักเข้าไปอีก
ในเมื่อชัดเจนแบบไม่ต้อง ซ.ต.พ. (ซึ่งต้องพิสูจน์) ให้เสียฟอร์มกับบรรดาผู้รู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ จึงเป็นอะไรที่น่าคิดว่า ‘เรือธง’ ลำนี้จะตั้งลำมุ่งเข็มไปยังไง
เพราะต่อให้รัฐบาลจะดึงดัน ยกเหตุผลข้าง ๆ คู ๆ เพื่อยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤต แต่หากเลือกออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ เงื่อนไขเวลามันก็จะย้อนแย้งกับความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้วิกฤต เพราะต้องฝ่าเส้นทางและอุปสรรคอีกยาวไกล ยิ่งกว่าอ้อม ‘ช่องแคบมะละกา’ และสุดท้ายก็อาจจะต้องไปจบเห่ที่ ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคงไม่ทันการณ์ในการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจที่รัฐบาลอ้างเป็นเหตุของการแจกเงินหมื่นให้ประชาชน
ครั้นจะเปลี่ยนมาใช้ทางลัด สร้าง ‘แลนด์บริดจ์’ เพื่อให้ไปถึงปลายทางให้ได้ โดยการออกเป็นพ.ร.ก.แล้วค่อยไปขออนุมัติสภาฯภายหลัง แต่เรือขนเงิน 5 แสนล้านบาทลำนี้ ก็ยังต้องกลับมาพิสูจน์ เพื่อประทับตราคำว่า ‘วิกฤต’ ให้ได้อยู่ดี
เมื่อทั้งสองเส้นทางนี้ เมื่อเห็น ‘จุดจบ’ แบบไม่สวยรออยู่ข้างหน้า ที่อาจจะถึงขั้นทำเอาพรรคเพื่อไทยแพ้ทั้งกระดาน เพราะคำว่า ‘วิกฤต’ หนทางเดียวที่จะไม่ทำให้รัฐบาลเจอวิกฤตเสียเอง ก็คงต้องใช้วิธีพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เดินกลยุทธ์ ‘ไปให้สุด อย่าหยุดที่เรา’ ปลูกฝังคำว่า ‘วิกฤต’ ให้คนส่วนใหญ่เชื่อให้ได้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังวิกฤต และรัฐบาลพยายามทำทุกทางแล้วเพื่อกอบกู้วิกฤต เพราะหากโดนฝ่ายตรงข้ามสกัดจมเรือธงลำนี้ไปฉากสุดท้ายก็ยังได้จารึกไว้ว่า ‘พระเอกตายตอนจบ’
######
แจกเงินหมื่นดิจิทัล ติดบ่วงวิกฤตทิพย์

รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทเหมือนเดิม แม้ฟังสุ้มเสียงนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะออกอาการแผ่วลงมาบ้างก็ตาม ‘ยอมรับว่า กฤษฎีกาไม่ได้บอกว่าทำได้หรือทำไม่ได้ เป็นเรื่องของดุลพินิจและต้องรับฟังความคิดเห็น’
แต่ก็ยังสำทับตามมาด้วยคำว่า
‘ไปต่อได้แน่นอนครับ ชัดเจนครับ แต่ต้องขอประชุมคณะกรรมการดิจิทัลก่อน’
หรืออย่างคำว่า
‘ณ เวลานี้ ยังยืนยันตามไทม์ไลน์เดิม แต่ต้องขอประชุมก่อน’
เริ่มมีคำว่า แต่..แต่..มากขึ้น
ในท่ามกลางการ ‘ติดบ่วง’ เงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ภายหลังได้รับคำตอบที่ไม่ชัดเจนจากกฤษฎีกา จึงทำให้ฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภาบางราย เริ่มรุกหนัก ทั้งผ่านหน้าสื่อและในที่ประชุมคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ
โดยศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้สอบถามผู้แทน 4 หน่วยงาน ได้แก่ ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ กลางที่ประชุมฯ ว่า ถ้าจะนิยามความหมายของคำว่า ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’ จะต้องนิยามว่าอย่างไร และต้องมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็น ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’
ซึ่งตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย ให้นิยาม ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’ ว่า จะต้องพิจารณาข้อมูลรอบด้าน และหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น เช่น สถาบันการเงินที่มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมาก จนกระทบต่อสถานะธนาคาร การเกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นเวลานาน หรือแม้แต่การเกิดวิกฤตจากสถานการณ์ไม่คาดคิด เช่น โควิด- 19 ที่พอจะเห็นได้ว่าเป็นตัวอย่างของคำว่า ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’
หรือแม้แต่ปัญหาอุทกภัยที่เคยทำให้การเจริญเติบโตเศรษฐกิจของประเทศติดลบ จนต้องมีการออก พ.ร.ก.ในช่วงเวลาขณะนั้น
ด้านตัวแทนจากสำนักงบประมาณ ค่อนไปทางเล่าให้ฟังเสียมากกว่าว่า วิกฤตจะมีอะไรบ้าง ทั้งวิกฤตทางด้านสถาบันทางการเงิน ที่มีเอ็นพีแอลสูง ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่มีคนแห่ไปถอนเงิน หรือวิกฤตภายนอกที่มีวิกฤตมาจากต่างประเทศ เช่น ปัญหาเรื่องการส่งออก-นำเข้า ที่นำไปสู่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดทำให้ค่าเงินบาทอ่อน หรือแม้กระทั่งวิกฤตแรงงานที่คนตกงานเป็นจำนวนมาก หรือวิกฤตทางด้านการคลัง คือเงินคงคลังลดต่ำ
รวมความแล้ว ศิริกัญญา บอกว่า ตัวแทนจาก 4 หน่วยงาน ไม่ได้สะท้อนวิกฤตแบบตรงๆ เพียงแค่เล่าให้ฟังว่าหากวิกฤตมีหน้าตาเช่นไร ซึ่งเราสามารถอนุมานได้ว่า เท่าที่ไล่มา 5-6 วิกฤตนั้น ยังไม่มีอันไหนที่สามารถอธิบายเหตุการณ์ปัจจุบันได้
ในขณะที่นอกห้องประชุมรองนายกฯ ภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งสวมหมวกประธานคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ กลับมองเรื่องวิกฤตหรือไม่วิกฤต เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันตอบ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นข้อถกเถียงระหว่างพรรคการเมือง พรรคการเมืองที่จะทำก็บอกว่าวิกฤต พรรคที่จะไม่ทำก็บอกว่าไม่มีวิกฤต จึงเห็นว่าต้องเอาความเป็นจริงมาพูด
‘หากอยากรู้ว่าวิกฤตหรือไม่ ให้ลงไปที่ตลาดและไปสอบถามจากชาวบ้าน ถ้าหากชาวบ้านบอกว่าไม่วิกฤตก็ให้มาบอกรัฐบาล’ รองนายกฯ ภูมิธรรมว่าไว้อย่างนั้น
ด้านสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา มองว่า สิ่งที่ประเทศไทยเป็นอยู่เวลานี้ ‘ไม่ใช่วิกฤต’ แต่คือภาวะฝืดเคืองเล็กน้อยหลังจากพ้นภาวะวิกฤตโควิด-19 และกราฟกำลังจะผงกหัวขึ้น
คำว่า ‘วิกฤต’ ตัวนี้ จะนำไปสู่คำตอบของการตรา พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทของรัฐบาล ตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ข้อเสนอแนะไว้ ซึ่งหากพิจารณาตามความเชื่อของสมชาย แน่นอนเจ้าตัวฟันธงว่า การกู้เงินมาแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะสะดุดหัวทิ่มไม่ผ่านตั้งแต่ด่านแรก ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต
รวมทั้ง ในคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ก็เชื่อว่าจะมีปัญหาเช่นกัน
สุดท้ายเรื่องการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แม้จะผ่านแต่ละด่านไปได้แบบทุลักทุเล ตั้งแต่คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต คณะรัฐมนตรี และอีกสองสภา ที่อาจต้องโยนกลับไปกลับมาหลายรอบหน่อย
แต่หลายคนก็เชื่อว่า ท้ายสุดแล้วจะไปจอดป้ายที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซ้ำรอย พ.ร.ก.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ไม่เข้าตามเงื่อนไขที่กฎหมายอนุญาตไว้
งานนี้ลำพังคำว่า ‘วิกฤต’ อย่างเดียวในมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง การกู้เงิน 5 แสนล้านของรัฐบาล คงผ่านยาก ไหนจะมีคำขยายเรื่อง ‘จำเป็น เร่งด่วน ต่อเนื่อง ตั้งงบประมาณไม่ทัน’ สำทับตามมาอีกในมาตราเดียวกัน
ต่อให้ดันทุรังผ่านไปได้ทุกด่าน ถ้าเป็นวิกฤตทิพย์ ก็คงไปจอดป้ายที่ศาลรัฐธรรมนูญนั่นแหละ