ในที่สุดรัฐบาลก็ไม่นำพาต่อเสียงคัดค้านของกลุ่มธุรกิจโรงแรม ที่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงเฉพาะกลุ่มในพื้นที่ 10 จังหวัด เพราะยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด หลังที่ประชุม ครม.วันอังคารที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา เห็นชอบตามที่คณะกรรมการไตรภาคีเสนอ
ดังนั้น ในวันที่ 13 เมษายนนี้ หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเสียก่อน ผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ 10 จังหวัดนำร่อง ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เฉพาะในพื้นที่ที่กำหนด และอยู่ในเงื่อนไขที่คณะกรรมการค่าจ้าง ในการประชุมครั้งที่ 3/2567 กำหนดไว้ ได้แก่
- จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน เดิม 345 บาท ได้ปรับเพิ่ม 55บาท
- จังหวัดพังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก เดิม 345 บาท ได้ปรับเพิ่ม 55 บาท
- จังหวัดสงขลา เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ เดิม 345 บาท ได้ปรับเพิ่ม 55บาท
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะเขตอำเภอเกาะสมุย เดิม 345 บาท ได้ปรับเพิ่ม 55บาท
- จังหวัดกระบี่ เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง เดิม 347 บาท ได้ปรับเพิ่ม 53 บาท
- จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เดิม 350 บาท ได้ปรับเพิ่ม 50 บาท
- จังหวัดระยอง เฉพาะเขตตำบลบ้านเพ เดิม 361 บาท ได้ปรับเพิ่ม 39 บาท
- จังหวัดชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา เดิม 361 บาท ได้ปรับเพิ่ม 39 บาท
- กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา เดิม 363 บาท ได้ปรับเพิ่ม 37 บาท
- จังหวัดภูเก็ต เดิม 370 บาท ได้ปรับเพิ่ม 30 บาท
ทั้งหมดจะได้รับการปรับขึ้นค่าแรงเพิ่มเป็นวันละ 400 บาทรวด ถี่ห่างมากน้อยแตกต่างกันไปจากอัตราค่าจ้างที่รับอยู่ในปัจจุบัน เป็นของขวัญวันสงกรานต์จากรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งจังหวัดที่ได้ปรับมากที่สุด คือ ประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน เดิมอยู่ที่ 345 บาท ได้เพิ่มอีก 55 บาท
ส่วนที่ได้น้อยสุดแต่ได้ทั้งจังหวัดคือ ภูเก็ต เดิม 370 บาท ได้เพิ่มอีก 30 บาท ในขณะที่กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา เดิม 363 บาท ได้เพิ่ม 37 บาท
การปรับขึ้นค่าจ้างที่ว่านี้ สืบเนื่องจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา มีปัญหาข้อโต้แย้งจากนายกฯ เศรษฐา ที่ไม่พอใจและไม่เห็นด้วยกับตัวเลขอัตราค่าจ้างที่ปรับขึ้นในครั้งนั้น และรับปากจะให้มีการปรับขึ้นอีกครั้งเป็นของขวัญวันสงกรานต์ในเดือนเมษายน
แต่ตัวเลขค่าจ้าง 400 บาทที่ปรับขึ้นนั้น แม้จะยึดโยงกับอัตราที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ ทว่าเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างแบบนำร่องเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเลือกให้เป็น ‘หย่อมๆ’ แบบฝนตกไม่ทั่วฟ้า จึงทำให้ ‘สาวิตร แก้วหวาน’ ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย ออกมาตำหนิดัง ๆ ว่า
‘เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์’
เพราะในอดีตเคยกำหนดนิยามเรื่องค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำไว้ที่ 1 ต่อ 3 คือแรงงาน 1 คน สามารถมีรายได้พอเลี้ยงดูคนในครอบครัวได้ 3 คน ต่อมาเปลี่ยนนิยามใหม่เป็น 1 ต่อ 1 ในขณะที่องค์กรเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ได้เรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนวิธีคำนวณอัตราค่าจ้าง โดยให้ยกเลิกเขตจังหวัดมาใช้กรอบเดียวกันแทน
เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในประเทศไทยก็ซื้อสินค้าในราคาเดียวกัน
แต่การปรับขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้ที่ใช้คำว่านำร่อง นอกจากไม่มีหลักอะไรมาอธิบายแล้ว ยังทำให้ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ขยายช่องว่างเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่แตกต่างเฉพาะเขตจังหวัด แต่การปรับค่าจ้างครั้งนี้ลงลึกไปถึงระดับอำเภอ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ แค่อยู่คนละฟากถนนรายได้ก็ต่างกันแล้ว
‘สาวิตร แก้วหวาน’ ซึ่งได้นำเสนอสูตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากผลศึกษาของเครือข่ายแรงงาน โดย แรงงานหนึ่งคนจะต้องมีรายได้ 14,000 บาท/เดือน คำนวณจากค่าใช้จ่าย 219 บาท/วัน ดังนั้น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องอยู่ที่ 712บาท/วัน แต่เพื่อให้เป็นการพบกันครึ่งทางจึงปรับลดลงมาที่ 492 บาท/วัน
แต่เมื่อรัฐบาลกำหนดตัวเลขและวิธีการแบบ ‘ไร้กระบวนท่า’ ไม่มีหลักอะไรที่จะมาอธิบายแบบนี้ สาวิตรในฐานะประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย มองว่าเป็น นโยบายที่จะเกิดปัญหาและผลกระทบตามมา ไม่เฉพาะในส่วนของแรงงานเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ที่จะต้องมีการแข่งขันกันสูงด้วย
ในสายตาของสาวิตร จึงมองการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานในครั้งนี้ เป็นความผิดพลาดในทางการบริหารและเป็นความล้มเหลวของนโยบายค่าจ้างแรงงานของรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง