ผลสะเทือนทางการเมือง จาก ‘พิธา’ ถึงคนชั้น 14

23 ม.ค. 2567 - 08:54

  • วันตัดสินพิพากษา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คดีถือหุ้นไอทีวี

  • ผลการตัดสินยังไม่มีใครกล้าฟันธง เพราะมีทางออกได้หลายหน้า

  • จับตาเทียบเคียงคดี พิธา-ศักดิ์สยาม

DEEP SPACE 33 Pita Taksin-SPACEBAR-Hero.jpg

วันพรุ่งนี้ (24 มกราคม 2567) ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัยประเด็นการถือหุ้นไอทีวี ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าจะเข้าข่ายหุ้นสื่อในความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) ที่ทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็น สส.หรือไม่

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีของพิธา หรือ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่ผลออกมาแล้ว และคดีของพรรคก้าวไกล ที่เข้าคิวรอคำตอบอยู่ รวมถึงกรณี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่รอวันกลับบ้าน

ล้วนเป็นเรื่องการเมืองของคนการเมือง เมื่อเป็นเรื่อง ‘การเมือง’ ก็ย่อมออกได้ทั้งซ้ายและขวา ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมืองในช่วงนั้น ว่าทิศทางลมจะพัดพาไปทางไหน

เริ่มจากคดีค้างเก่าของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรมว.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย ที่สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีลง จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ศักดิ์สยาม ต้องถูกเว้นวรรค ไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้เป็นเวลาสองปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (8) ก็เพียงแค่ออกไปนั่งอยู่ข้างสนาม ในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้นเอง

เว้นเสียแต่จะถูกตามเช็คบิลในคดีอื่นๆ ที่ยาวเป็นหางว่าวต่อ ก็ต้องไปเผชิญชะตากรรมกันเอาเอง

ส่วนความผิดเฉพาะตัวของศักดิ์สยาม จากการถือหุ้นนอมินีจะส่งผลร้ายแรงไปถึงขั้นยุบพรรคภูมิใจไทย ฐานรับเงินบริจาค หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่นหรือไม่นั้น

อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ใช้คำว่า ‘ตุยส์’ บอกกับนักข่าวไปแล้ว

ถัดไปเป็นเรื่องของพรรคก้าวไกล ที่จะเริ่มนับหนึ่งจากคดีถือหุ้นไอทีวี ของพิธา ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำตัดสินในวันพุธที่ 24 มกราคมนี้ ซึ่งคำตอบไม่ออกซ้ายก็ขวา ไม่มีตรงกลาง

หากการถือหุ้นดังกล่าวของพิธา เข้าข่ายเป็นหุ้นสื่อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ก็จะขาดคุณสมบัติการเป็น สส.และทำให้ต้องพ้นจากการเป็นสส.ไป แต่หากไม่ผิดก็กลับมาทำหน้าที่ สส.ต่อได้

เช่นเดียวกับคดีการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพิธาและสส.พรรคก้าวไกล จะเข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่

หากไม่เข้าข่ายก็ถือว่าจบ แต่หากเข้าข่ายก็เพียงแค่ให้หยุดการกระทำดังกล่าว ส่วนใครจะนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นฟ้องร้องคดีอื่นโดยเฉพาะการร้องยุบพรรคต่อ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ผลจากคดีของ ‘ศักดิ์สยาม-พิธา’ และพรรคก้าวไกล ล้วนเป็นประเด็นในเชิงข้อกฎหมาย ต่างกันตรงที่รายละเอียดและเจตนาที่ไม่เหมือนกัน

ดังนั้น ผลคำตัดสินคดีศักดิ์สยามที่ออกมา แม้ไม่ใช่มติเอกฉันท์ แต่ก็เป็นที่สิ้นสงสัย

ส่วนคดีพิธา ที่จะมีผลออกมาในวันที่ 24 มกราคมนี้ ประเมินจากความเห็นผู้รู้ทั้งหลายแล้ว ยังให้น้ำหนักแบบก้ำกึ่ง ออกได้ทั้งซ้ายและขวา

แต่หากผลออกมาเป็นลบต่อพิธา ก็ถือว่าเจ๊ากันไปทั้ง ‘ศักดิ์สยาม-พิธา’ เพราะไปด้วยกันทั้งคู่ คนหนึ่งติดโทษแบนสองปี อีกคนหลุดเก้าอี้ สส.แต่ไม่มีโทษแบน สามารถกลับมาลงสมัคร สส.ได้อีกทันทีที่สนามเปิด 

ในทางกลับกัน หากพิธารอด..ก็คงไม่มีใครสงสัยอีกนั่นแหละ

เหตุผลจากเค้าโครงเรื่องในตัวคดี และคำวินิจฉัยในอดีตที่ศาลได้วางแนวเป็นบรรทัดฐานไว้ ทั้งการยกคำร้อง 23 สส.ในอดีต ที่ถือหุ้นสื่อในรูปของหนังสือบริคณห์สนธิ และกรณีคืนสิทธิสมัคร สส.ให้กับชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร สส.นครนายก

สุดท้ายโยงไปถึงคนชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่กำลังรอลงจากชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ กลับไปรับโทษต่อที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ หรือหลังวันที่ 22 กุมภาพันธ์ก็ตาม

หากทั้ง ‘ศักดิ์สยาม-พิธา’  และพรรคก้าวไกลไม่รอด ไม่ว่าจะเป็นการเดินตามตัวบทกฎหมายแบบเคร่งครัดก็ตาม คงไปห้ามความรู้สึกของผู้คนในสังคมไม่ได้ หากจะนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เรี่ยมาเทียบเคียงกัน

ย่อมเลี่ยงไม่พ้นคำครหาเรื่องบุญวาสนาไม่เท่ากัน!!

ในทางกลับกันหากทั้งพิธาและก้าวไกล ต่างหลุดบ่วงไปด้วยกัน อารมณ์ความรู้สึกจากอีกฝ่ายที่พุ่งเป้าไปยังคนชั้น 14 คงลดความร้อนแรงลง เพราะอย่างน้อยก็เป็นเรื่องที่ตลาดรับรู้ข้อมูลอยู่แล้ว จึงไม่มีอะไรต้องช็อกตลาด

เรื่องราวจากภูมิใจไทย ถึงก้าวไกลและ ‘ทักษิณ’ จึงน่าจะเป็นเหตุและผลของกันและกัน พอเทียบเคียง เป็นอิทัปปัจจยตาทางการเมือง ก็อาจนำไปสู่ผลสะเทือนทางการเมืองได้ประมาณนี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์