'ยิ่งลักษณ์’ จะกลับบ้านยังไง?? • ปรับ ครม.เมื่อไรดี ก่อนหรือหลัง พ.ค.67 • หุ้นไทยปีหน้า ระวังฤทธิ์มังกรสะบัดหาง

27 ธ.ค. 2566 - 09:11

  • หาวิธีพา ‘ยิ่งลักษณ์’ กลับบ้าน ไม่ให้กลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย

  • ปรับ ครม. เมื่อไรดี ก่อนหรือหลัง พฤษภาคม 2567

  • หุ้นไทยปีหน้า ระวังฤทธิ์มังกรสะบัดหาง รอรัฐมนตรีคลังตัวจริงออกโรง

DEEP-SPACE-19-SPACEBAR-Hero.jpg

‘ยิ่งลักษณ์’ จะกลับบ้านยังไง??

คงไม่มีคนไทยคนไหน ได้ของขวัญปีใหม่ 2567 ชิ้นใหญ่ ล้ำค่ามากไปกว่า ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลฏีกาแผนกคดีอาญา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมอบให้ โดยคำพิพากษายกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อ12 ปีก่อน

เหตุผลในการยกฟ้อง คือ ยิ่งลักษณ์ ไม่มีเจตนาพิเศษที่จะสร้างความเสียหายให้ถวิล การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นไปตามระเบียบ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว แม้จะใช้เวลาแค่ 4 วันในการโยกย้าย แต่ไม่พบพิรุธที่ส่อให้เห็นถึงการทุจริตต่อหน้าที่ ที่จะเสนอให้ พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น 

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุด มีคำตัดสินว่า ยิ่งลักษณ์ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ให้เพิกถอนคำสั่งโยกย้ายถวิล

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ เอกฉันท์ว่า ยิ่งลักษณ์ใช้ตำแหน่งหน้าที่ก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อเอื้อประโยชน์แห่งเครือญาติ ให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

แต่ศาลฏีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ชี้ว่า ‘ไม่อาจนำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว มาผูกพันให้ศาลนี้ต้องรับฟัง’

อย่างไรก็ตาม ยิ่งลักษณ์ยังกลับบ้านไม่ได้ทันที เพราะยังมีคดีค้างคาอยู่อีก 2 คดี คดีแรกคือ จำนำข้าว ที่ทำให้เธอหลบหนีออกนอกประเทศ ตั้งแต่กลางปี 2560 คดีนี้ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก 5  ปี ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2560

อีกคดีหนึ่ง คือ อนุมัติงบประมาณ 240 ล้านบาท เพื่อทำโรดโชว์สร้างอนาคตไทย โดยมิชอบด้วยกฎหมาย คดีนี้อยู่ในศาลฎีกา และมีการออกหมายจับแล้ว 

คดีแรกที่สิ้นสุดแล้ว มีอายุความ 15 ปี  ยิ่งลักษณ์ไม่รอให้หมดอายุความแน่ แต่ทำอย่างไร จึงจะกลับบ้านอย่างเท่ห์ ๆ แบบพี่ชาย ไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียว

ทักษิณ ชินวัตร อ้างเหตุอายุมาก มีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วย ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในการขอพระราชทานอภัยโทษ และขอไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่วันแรกที่เหยียบแผ่นดินไทยจนถึงวันนี้ 

ยิ่งลักษณ์ อายุแค่ 56 ปี ไม่เคยมีประวัติเจ็บป่วย รุนแรง เรื้อรัง จะอ้างว่ามีปัญหาสุขภาพ ทันทีที่กลับมาถึงประเทศไทย ทักษิณก็ใช้เหตุผลนี้ไปแล้ว จะใช้ซ้ำ ไม่มีข้อห้าม แต่น่าเกลียด และคนรู้ทันหมดแล้ว

เหลืออยู่ช่องเดียวคือ ขอกักตัวที่บ้าน แทนการเข้าคุก ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการคุมขังนอกเรือนจำ ที่กรมราชทัณฑ์เพิ่งประกาศออกมาสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง 

ระเบียบนี้ไม่มีข้อกำหนดว่า นักโทษที่จะได้รับอนุญาตให้ถูกคุมขังนอกเรือนจำ ต้องรับโทษมาแล้วเท่าไร เหลือโทษเท่าไร ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ปล่อยให้เป็นดุลพินิจของคณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง ที่มีรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธาน เป็นผู้พิจารณากลั่นกรอง เสนอให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์อนุมัติ

ช่องทางนี้ จึงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เร็วที่สุด ที่ยิ่งลักษณ์จะกลับบ้าน โดยไม่ต้องติดคุก ไม่ต้องเข้า โรงพยาบาลแบบพี่ชาย แค่เลือกว่า จะอยู่บ้านที่กรุงเทพ หรือเชียงใหม่ 

แต่ระวังจะเป็นฟางเส้นสุดท้าย ในอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน ที่มีความอึดอัด คับข้องใจกับการปฏิบัติต่อทักษิณ ชินวัตร ของรัฐบาล เป็นเชื้อไฟรออยู่แล้ว 

เหมือน การขายหุ้นชินคอร์ป เป็นฟางเส้นสุดท้าย นำไปสู่รัฐประหาร ปี 2549

เหมือน นิรโทษกรรมสุดซอย เป็นฟางเส้นสุดท้าย นำไปสู่การยึดอำนาจปี 2557

ปรับ ครม. เมื่อไรดี ก่อนหรือหลัง พ.ค.67

กระแสการปรับครม.นับวันจะพูดถึงกันหนาหูมากขึ้น แม้นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ ย้ำถึงรัฐบาล 314 เสียง มีเสถียรภาพเหนียวแน่นอยู่แล้วก็ตาม

แต่อีกด้านก็ไม่ถึงกับปิดประตูปรับครม.เสียทีเดียว เมื่อนายกฯ ย้ำหลังประชุมครม.นัดส่งท้ายปีว่า ‘อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน แต่วันนี้เรามีความสุขอยู่แล้วตรงนี้’

และเมื่อถามต่อหากได้ 25 เสียง จากประชาธิปัตย์จะดีขึ้นหรือไม่ นายกฯ ยังตอบแบบสงวนท่าทีเหมือนเดิมว่า 

‘ในแง่ของตัวเลขก็อาจจะดีขึ้น แต่ในแง่ของต้องมาแบ่ง ต้องมาเกลี่ยกระทรวงกันใหม่ มันก็ลำบากขึ้น มันไม่มีอะไรดีหมดหรอกครับ ยึดคำที่ผมพูดไว้แล้วกัน วันนี้ 314 เสียง พอแล้ว รัฐมนตรีทุกท่านทำงานเต็มที่อยู่แล้ว ผลงานก็เริ่มทยอยออกมาแล้ว’

ส่วนอนุทิน ชาญวีรกูล ‘เพื่อนเลิฟ’ เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูจะงง ๆ หรือจะทำเป็นไม่เข้าใจ เมื่อถูกถามมองอย่างไรกับที่นายกฯ พูดถึง 25 เสียง จากพรรคประชาธิปัตย์  

‘ไม่ทราบว่ามันคืออะไร แต่ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย เมื่อเราอยู่ในรัฐบาลก็จะสนับสนุนภารกิจของนายกฯ และรัฐบาลเพื่อทำงานให้กับบ้านเมืองอย่างเต็มที่’

ด้านศิษย์เก่าประชาธิปัตย์ เทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช อ่านการเมืองในห้วงเวลานี้ของรัฐบาลเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ว่า 

‘พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีไม้เด็ดไว้ขู่พรรคร่วม คือพรรคประชาธิปัตย์ ที่พร้อมเสนอตัวมาเป็นพรรคอะไหล่เสียบแทนได้ทันที ถ้าพรรคการเมืองใดถอนตัว หรือถูกปรับออกจากรัฐบาล’

อ่านทางจากความเห็นข้างต้น บวกกับสถานการณ์การเมืองปีมังกรทอง ที่จะเป็น ‘มังกรพ่นไฟ’ ของคนการเมืองในหลายเรื่องนับตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป จึงเชื่อว่าจะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของการเมืองอย่างแน่นอน

ส่วนจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไหนนั้น เหล่านักสังเกตการณ์ คอการเมืองให้ดูปมร้อนตั้งแต่ต้นปีในเดือนมกราคมเป็นต้นไป ที่จะมีการตัดสินคดีสำคัญ 3 คดี ของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งกรณีศักดิ์สยาม ชิดชอบ, พิธา ลิ้มเจิญรัตน์ และคดีพรรคก้าวไกล

จากนั้น จะเข้าสู่โหมดการพักโทษของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ หลังวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 หากไม่ลัดคิวใช้ระเบียบใหม่ราชทัณฑ์ตัดช่องน้อยไป ‘คุมขัง’ นอกเรือนจำเสียก่อน

สุดท้ายที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองจริง ๆ คือ หลังวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 วัน ‘ปิดสวิตซ์ สว.’ ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่ฝ่ายการเมืองจะเป็นอิสระจากสภาสูงนับจากวันนั้น

การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทางการเมือง จึงน่าจะอยู่ในสองช่วงคือ หลังเดือนมกราคม เมื่อศักดิ์สยาม แกนนำคนสำคัญของพรรคภูมิใจไทย พ้นบ่วงคดีในศาลรัฐธรรมนูญแล้ว อาจถึงเวลาต้องให้มีการสลับร่างสร้างชาติ เปลี่ยนตัวผู้เล่นทางการเมืองโดยเฉพาะในกระทรวงศึกษาธิการ ที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูล ชิดชอบ ยังทำหน้าที่ได้ขาด ๆ เกิน ๆ อยู่

ส่วนช่วงที่สอง หลังวันที่ 11 พฤษภาคมเป็นต้นไป น่าจะเป็นไฟต์บังคับของการปรับ ครม.ที่อาจถึงขั้นต้องปรับใหญ่ หรืออาจมีการ ‘ล้างไพ่’ ใหม่ด้วยซ้ำ

เอาเป็นว่าถ้าไม่มีการปรับเล็กหลังเดือนมกราคม ก็คงรอให้ปรับใหญ่พร้อมกันหลังเดือนพฤษภาคม

ทีนี้จะมีใครเข้าออกบ้าง หรือแม้แต่พรรค ‘อะไหล่’ อย่างประชาธิปัตย์ ถ้าสัญญาใจที่มีต่อกันยังเป็นสัญญาที่เหนียวแน่นอยู่ ก็ต้องเข้ามาร่วมรัฐนาวาในห้วงเวลานี้ โดยไม่ต้องไปเกลี่ยหรือแบ่งกระทรวงใหม่กับพรรคไหน เพราะมีโควตาที่เว้นว่างไว้ 2 เก้าอี้ รออยู่แล้ว ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ลงตัวพอดีกับจำนวน 25 เสียงของประชาธิปัตย์ 

สุดท้ายท้ายสุด การจะปรับเปลี่ยนใดๆ คงไม่เกี่ยวกับการตัดสินใจของนายกฯ เศรษฐา เพราะฉายา ‘สแตนด์ชิน’ เป็นสิ่งที่ยืนยัน แจ่มชัดอยู่ในตัวแล้ว ดังนั้น ใครที่ตั้งครม.ชุดนี้มา ก็คนๆ นั้นแหล่ะ ที่จะเป็นคนตัดสินใจ

หุ้นไทยปีหน้า ระวังเจออิทธิฤทธิ์ มังกรสะบัดหาง

เหลือวันทำการอีกวันเดียว 29 ธันวาคม 2566 ตลาดหุ้นไทยก็จะปิดทำการซื้อขายในปีกระต่าย ‘ขาเก’ไปแบบเซ็งๆ เสียที ท่ามกลางเสียงถอนหายใจของบรรดานักลงทุนที่ประสบความบอบช้ำไปตามๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นบรรดา VI หรือ เทรดเดอร์มือโปร

แต่ที่อาการสาหัสที่สุดคงหนีไม่พ้นบรรดา ‘แมงเม่า’ ที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการ Naked Short Sell ที่อาศัย โปรแกรมเทรด เป็นเครื่องมือในการทุบหุ้นกันเป็นที่สนุกสนาน ทิ้งไว้เพียงรอยเลือด และคราบน้ำตา

คงไม่มีปาฎิหารย์ใด ๆ เกิดขึ้นอีกแล้ว ถึงแม้จะมีความพยายามในการทำ ‘วินโดวส์ เดรสซิ่ง’ เพื่อทำราคาปิดหุ้นให้สวย หรือมีแรงซื้อหลงเข้ามาบ้างจากเม็ดเงินของนักลงทุนที่ต้องการซื้อ กองทุนลดหย่อนภาษี ทั้งกองทุน RMF และ SSFรวมทั้ง กองทุนน้องใหม่ Thai ESG ของบรรดา บลจ.แต่ก็คงดันดัชนีหุ้นไทยไปได้อีกไม่ไกล น่าจะปิดที่ระดับยืนเหนือ 1,400 จุดได้ไม่มากนัก กรอบบนคงไปได้ไม่เกิน 1,420 จุด 

ตลาดหุ้นไทยในปีนี้จึงกลายเป็นปีที่น่าผิดหวังที่สุดปีหนึ่งของนักลงทุน เพราะให้ผลตอบแทน ‘ติดลบ’ ถึง 17% เป็นรองบ๊วยอันดับที่ 68 จากทั้งหมด 69 ตลาดหุ้นหลัก ทั้งๆ ที่ในปีนี้มี 14 ตลาดหุ้นเท่านั้น ที่ให้ผลตอบแทนติดลบ

คงต้องยอมรับว่านักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มต้นปีด้วยความคาดหวังสูง และคิดว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะคึกคักวิ่งเป็นกระต่ายปราดเปรียว  เพราะมีปัจจัยสนับสนุนทั้งเรื่องการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมา การเปิดประเทศของจีน โดยเฉพาะเป็นปีของการเลือกตั้งใหญ่ 

แต่สุดท้ายก็อย่างที่ทราบกัน แม้ท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดี แต่เศรษฐกิจจีนอ่อนแอกว่าที่คิด หลังเลือกตั้งก็ต้องใช้เวลาถึงสี่เดือนในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดอาการชะงักงัน และขยายตัวต่ำกว่าคาดมาก 

ตรงกันข้ามกับตลาดหุ้นต่างประเทศ ปีนี้เหมือนฉายหนังคนละม้วน เพราะตลาดหุ้นโลกปรับขึ้นเฉลี่ยสูงถึง18% (วัดจากดัชนี MSCI All Countries) และมีถึง 25 ตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า 18% เช่น ญี่ปุ่น (+26%) ไต้หวัน (+25%) สหรัฐ (+23%) อินเดีย (+18%) 

พระเอกของปีนี้ คือ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เดินหน้าปรับตัวขึ้นค่อนข้างแรง โดยเฉพาะหุ้นสายเทค  ‘Magnificent Seven’ (Apple, Microsoft, Google, Amazon, Nvidia, Tesla, Meta) ใครที่มีหุ้นเหล่านี้ถือว่าได้ ‘แจ็คพอต’ เพราะให้ผลตอบแทนสูงถึง 75%

เพราะเหตุนี้ทำให้เม็ดเงินในตลาดหุ้นไทยที่เคยไหลมาจากต่างชาติ กลับถูกเทขายมาตลอดทั้งปี โดยมียอดขายสะสมเกือบสองแสนล้านบาท ในขณะที่ปีที่แล้วมียอดซื้อใกล้เคียงกันคือราว 1.98 แสนล้านบาท สรุปง่าย ๆ คือ ปีนี้ต่างชาติแทบจะขายหุ้นที่ซื้อไว้เมื่อปี 2565 หมดเกลี้ยง 

นอกจากปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในด้านเศรษฐกิจ ไม่เป็นผลบวกกับหุ้นไทยแล้ว ตลาดหุ้นไทยเองยังเผชิญกับวิกฤตความเชื่อมั่น ไล่มาตั้งแต่กรณีหุ้น MOREหุ้น STARK และ ผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ของบรรดาบริษัทจดทะเบียนหลายราย ที่ส่งผลกระทบมาถึงราคาหุ้น เช่น ALL มาจนถึง JKN

สุดท้ายปลายปี ยังโดนผลกระทบ จากเรื่องการขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นในมือ Naked Short Sell โดยอาศัยโปรแกรมเทรดแบบไม่เป็นธรรม ซึ่งสองกรณีหลัง ถึงแม้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตรวจสอบแล้วยืนยันว่าไม่พบว่ามีการกระทำลักษณะดังกล่าว แต่ก็ยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ จน ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ถึงกับต้องออกมา ‘ขู่’ และกดดันว่าอาจจะมีการทบทวนการใช้โปรแกรมเทรด

หากเราพยายามมองโลกในแง่ดี เมื่อดัชนีหุ้นไทยลงมาลึกถึงระดับนี้ ปีหน้าฟ้าใหม่ ตลาดหุ้นไทยในปีมังกรก็น่าจะมีโอกาสพลิกฟื้น และกลายเป็น ปี ‘มังกรทอง’ ได้เพราะเชื่อกันว่า นาทีนี้ Downside risk ของตลาดหุ้นไทยน่าจะเหลือไม่มาก หากประเมินจาก Forward P/E ปัจจุบันที่ 14 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 15 ปี ที่ 15 เท่า ถือว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับกำไรบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะเติบโตระหว่าง 11-15% ในปีหน้าทำให้เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ตลาดหุ้นไทยจะกลับสู่ขาขึ้นในปี 2567

แต่...เฮ้อ ทำไมต้องมีแต่

ก็เพราะเงื่อนไขสำคัญที่ตลาดหุ้นไทยจะกลับไปเป็นขาขึ้นได้ มังกรตัวนี้จะต้องคาบแก้ว 3 ประการ

แก้วดวงแรก คือ เศรษฐกิจโลก ต้องเริ่มสดใสขึ้น หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณยุติการขึ้นดอกเบี้ย และเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยลง โดยไม่ทำให้สหรัฐฯ ไม่เกิด Recession และเศรษฐกิจสามารถ Soft Landing ได้ ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกกลับมาใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและปรับดอกเบี้ยลง ในขณะที่รัฐบาลจีนก็เริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่  

แก้วดวงที่สอง คือ รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐา ต้องสามารถบริหารเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวในระดับ 3-4% ในปีหน้า โดยสามารถออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต หรือมาตรการด้านอื่น ๆ ที่จะกระตุ้นให้ การส่งออกของไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัว ซึ่งเมื่อรวมกับภาคท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี 

เมื่อผนวกรวมกับมาตรการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การลดค่าครองชีพ การพักหนี้เกษตรกร การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ

ทั้งหมดจะต้องดำเนินไปได้ โดยไม่เกิดอาการสะดุด หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเชิงลบ เช่น การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี จนทำให้เกิดแรงกระเพื่อม และทำให้เกิดอาการสะดุดทางการเมือง  

นอกจากนี้ รัฐบาล ยังต้องรักษาแรงเหวี่ยง หรือ ‘โมเมนตัม’ การเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ผลักดันให้เกิดการลงทุนรอบใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ และจัดการกับปัญหาโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

แก้วดวงที่สาม ซึ่งอาจจะเป็น โจทย์ที่เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในตลาดทุนในปีหน้า คือ การปรับโครงสร้าง และเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ ที่จะสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนให้ ‘ฟื้น’ กลับมา เพราะต้องยอมรับว่า ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ทั้งหน่วยงานกำกับอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกตั้งคำถาม และไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนมาก และดูจะหละหลวมในการตรวจสอบ กำกับ ให้ธุรกรรมการซื้อขายในตลาดหุ้นเป็นไปอย่างเป็นธรรมมากเท่าที่ควร 

ประกอบกับในปีหน้า จะมีจังหวะเวลาสำคัญที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างส่วนบนของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าจะเป็นตัวประธานกรรมการตลาดฯ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการและผู้จัดการตลาด ภากร ปิตธวัชชัย รวมทั้งกรรมการตลาดฯ ซึ่งเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างแน่นอน 

หากดูจากท่าทีและจังหวะการรุกคืบอย่างมีนัยสำคัญของ โต้ง กิตติรัตน์ มังกรตัวใหญ่ที่เริ่มจะสะบัดหาง...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์