นายกฯ เศรษฐาผ้าขาวม้าหลากสี ‘ทวิต’ ใน X แจ้งมาจาก ‘กรุงโรม’ อิตาลี แสดงท่าทีเป็นทุกข์เป็นร้อนมาก ‘เล่นใหญ่’ ถึงขนาดจะเรียกประชุม ‘ด่วน’ ครม.เศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการทันทีในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทย ที่มีสัญญาณบ่งชัดว่ากำลัง ‘อ่อนแรง’ ลงทุกทีหลังเห็นตัวเลข GDP ไตรมาสแรกปีนี้ของไทยออกมาต่ำที่สุดในอาเซียน
แต่สำหรับคนในแวดวงเศรษฐกิจที่ได้ยินส่วนใหญ่ก็ได้แต่ ‘ส่ายหัว’ เพราะตัวเลขที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ รายงานออกมาล่าสุดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้ถึง 1.5% ความจริงแล้วเป็น ‘ตัวเลขที่ดีเกินความคาดหมาย’ เสียด้วยซ้ำ เพราะส่วนใหญ่คิดว่าจะ ‘เลวร้าย’ กว่านี้เยอะ โดยหลายสำนักฯ คาดว่าจะเติบโตเพียง 0.8-1%
แต่ก็ต้องยอมรับว่าเมื่อไปเทียบกับเพื่อนบ้านแล้ว มันคงยากที่รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐาจะทำใจยอมรับได้ เพราะก่อนหน้านี้เคยโจมตีรัฐบาลของ ‘ลุงตู่’ แบบเสีย ๆ หาย ๆ เอาไว้ว่า ฉุดให้ประเทศล้าหลัง และทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ จนรัฐบาลชุดนี้ต้องเข้ามาเพื่อกอบกู้และกระตุ้นเศรษฐกิจให้พ้นจากอาการ ‘โคม่า’
มันจึงเป็นเรื่องน่าเศร้า เมื่อรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย พอมีโอกาสได้โชว์ฝีมือกลับตกอยู่ในสภาพ ‘คิดใหญ่ แต่ทำไม่เป็น’ บริหารเศรษฐกิจด้วยปาก และดำเนินนโยบายผิดทิศผิดทาง ซึ่งหากมองย้อนกลับไปจะพบว่า ปัญหาทั้งหมดในเวลานี้ก็มาจากรัฐบาลทำร้ายตัวเองทั้งนั้น
คงไม่เกินเลยไปหากจะบอกว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล นายกฯ เศรษฐา 1 ‘สอบตก’ ทั้งชุด ตั้งแต่ตัวนายกฯ ที่ควบตำแหน่งรมว.คลัง ไล่ไปจนถึงทีมงานเศรษฐกิจทั้งคณะ
เพราะที่ผ่านมา 7-8 เดือน นายกฯ เศรษฐา ไม่เพียงขยันผิดที่ มีอาการเสพติดบท ‘เซลล์แมน’ เดินสายขายฝัน หวังจะดึงการลงทุนมาจากต่างประเทศ แต่กลับ ‘ละเลย’ งานหลักในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และดูแลกระทรวงการคลัง แบบ ‘พาร์ทไทม์’ ปล่อยให้ รมช. ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ และ ‘เผ่าภูมิ โรจนสกุล’ เป็นมือไม้ทำงานให้ แต่ผลงานก็พิสูจน์แล้วอย่างที่เห็นเป็นประจักษ์
ขณะเดียวกันนายกฯ เศรษฐาก็ขยัน ‘ทำงานด้วยปาก’ จนทำให้เกิดความขัดแย้งในเชิงนโยบายด้านการเงินและการคลัง จากความพยายามกดดันแบงก์ชาติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ส่งผลเสียเพราะกลับไปสร้าง ‘ความไม่เชื่อมั่น’ ในนโยบายเศรษฐกิจของไทยในสายตาต่างชาติ กดดันให้เงินทุนไหลออกและตลาดหุ้นตกอยู่ในอาการ ‘ซึมเศร้า’ อย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
รัฐบาลยังสร้างความผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุดจากความพยายามเข็นนโยบาย ‘เรือธง’ แจกเงินหมื่นผ่าน ‘โครงการดิจิตอลวอลเล็ต’ ตามบัญชาของ ‘นายใหญ่บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ที่หวังจะสร้างชื่อให้พรรคเพื่อไทยให้กลับคืนมา เพราะเชื่อว่าโครงการนี้จะสามารถกระตุ้น GDP ให้โตได้ถึงปีละ 5% แต่ไป ๆ มา ๆ โครงการนี้กลับกำลังกลายเป็นสิ่งที่กำลังทำลายเศรษฐกิจไทยให้ตกอยู่ในสภาพเลวร้ายลงเรื่อย ๆ
ที่กล้าบอกแบบนี้ ก็เพราะโครงการนี้เป็นอภิมหาโครงการประชานิยมที่ต้องใช้เงินถึง 5 แสนล้านบาท จึงทำให้มีปัญหาอย่างมากในเรื่องแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งหลังจากเจอทางตันในการออก ‘พ.ร.บ.กู้เงิน’ รัฐบาลก็หันมาใช้วิธี ‘ไฮบริด’ ใช้แหล่งเงิน 3 แหล่งงบประมาณ คือ บริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 152,700ล้านบาท และเงินจากมาตรา 28 ของ ธ.ก.ส.วงเงิน 172,300 ล้านบาท โดยหวังว่าจะสามารถแจกเงินให้ประชาชน 50 ล้านคนให้ได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
ที่ผ่านมาเพราะความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้งบประมาณปี 2567 เพิ่งผ่านสภาฯ และเพิ่งสามารถเบิกจ่ายได้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจไทยไม่ขยายตัวเพราะไม่มีเม็ดเงินจากรายจ่ายภาครัฐลงไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
แต่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เพราะรัฐบาลต้องการกันเงินงบประมาณปี 2567 เอาไว้ถึงราว 1.75 แสนล้านบาท เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จึงจำเป็นต้องขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ‘ปรับลด’ หรือ ‘ชะลอ’ โครงการต่าง ๆ ที่ได้มีการจัดสรรงบประมาณไปแล้ว ทำให้เกิดอาการหยุดชะงักลงของการใช้จ่ายงบประมาณ และหากจะเสนอออก พรบ.โอนงบประมาณ ปกติต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือน ซึ่งคาดว่าจะยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวลงมากขึ้นไปอีก สุดท้ายจึงต้องกลับมาชั่งน้ำหนักกันใหม่ เพื่อไม่ต้องไปเบียดงบประมาณที่มีการจัดสรรไปแล้ว และปล่อยให้การใช้งบประมาณปี 2567 สามารถเดินต่อแบบไม่มีการสะดุด ล่าสุดสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง จึงเสนอขอทบทวนเปลี่ยนแผนใหม่อีก โดยเสนอให้จัดทำเป็น ‘ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2567 ’ แทน และนำเสนอขออนุมัติ ครม.ในวันนี้ (21 พฤษภาคม 2567) โดยมีกรอบงบประมาณเพิ่มเติม (งบฯกลางปี) 2567 วงเงินประมาณ 1.22 แสนล้านบาท
โดยคาดว่าจะมีการกัน ‘งบกลาง’ ที่กันไว้สำหรับรายจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนในปีนี้ ในวงเงินราว 9.5 หมื่นล้านบาท โดยจะขอกันมาสมทบอีกราว 5.3 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
คาดว่าหลังจากที่ ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมดังกล่าวแล้ว จะต้องส่งร่าง พ.ร.บ.ให้รัฐสภาเห็นชอบตามขั้นตอนเหมือนการจัดทำงบประมาณ ซึ่งหากสภาฯเห็นชอบก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่หากสภาฯไม่เห็นชอบร่างกฎหมายนี้ก็ตกไป
ผลจากการตั้งงบประมาณกลางปีเพิ่มเติมดังกล่าวคาดว่า จะทำให้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติม เพราะจะทำให้งบประมาณในปี 2567 เพิ่มจาก 3,480,000 ล้านบาท เป็น 3,600,000 ล้านบาท และต้องขาดดุลเพิ่มจาก 693,000 ล้านบาท เป็น 715,000 ล้านบาท
งานนี้คงทำให้ รมว.คลังป้ายแดง ‘พิชัย ชุณหวชิร’ ต้องเผชิญศึกในสภาฯครั้งแรกที่คงหนักหนาสาหัสอย่างแน่นอน เพราะต้องเข็นทั้ง พ.ร.บ.จัดทำงบประมาณเพิ่มเติมหรือ งบฯกลางปี 2567 จำนวน 1.22 แสนล้านบาท และ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2568 ให้ผ่านสภาฯภายใต้สถานการณ์การเมืองที่รัฐบาลอยู่ในช่วง ‘ขาลง’ แบบสุด ๆ จากมรสุมหลายเรื่อง
ถึงแม้รัฐบาลอาจจะมีเสียงสนับสนุนในสภาฯ ที่คงไม่มีปัญหาในการโหวตผ่านกฎหมายงบประมาณทั้ง 2 ฉบับ แต่คาดว่าคงถูกอภิปราย และโดนกระแสสังคมโจมตีอย่างหนักแน่นอน เพราะทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึง ระดับฝีมือของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลชุดนี้ ที่มี นายกฯ เศรษฐา เป็นผู้นำ ที่กลายเป็น ‘ผู้ทำลาย’ มากกว่า ‘ผู้กอบกู้’ เศรษฐกิจไทยในสายตาคนส่วนใหญ่ไปเสียแล้ว