หลังเซ็นสัญญาซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ รวดเดียว 45 ลำ การบินไทยก็ประกาศผลการดำเนินงานปี 2566 โดยมีรายได้ 161,067 ล้านบาท กำไรสุทธิ 28,123 ล้านบาท
รายได้และกำไรนี้มาจากการดำเนินงานล้วน ๆ ไม่ได้มาจากการขายทรัพย์สิน เหมือนปีก่อนหน้านี้
การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการบินและท่องเที่ยว โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ทำให้การบินไทยมีรายได้และกำไรพุ่งพรวด โดยมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.7% อัตราส่วนกาขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freightload Factor) เฉลี่ย 51.7 %
ก่อนเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย มีรายได้ในปี 2562 มากกว่าปี 66 แต่กลับขาดทุนถึง 7,983 ล้านบาท
การกลับมาของการบินไทยคราวนี้ เบื้องต้นเป็นผลมาจากการตัดสินใจของ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ให้การบินไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ และเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ ทำให้การบินไทย พ้นจากอำนาจนักการเมือง และข้าราชการประจำ เข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของศาลล้มละลาย
แต่คนที่พลิกฟื้นการบินไทย คือ คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู
การบินไทยภายใต้แผนฟื้นฟู มีผู้บริหารแผนประกอบด้วย ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ เป็นประธานคณะผู้บริหาร
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร, พรชัย ฐีระเวช, ศิริ จิระพงษ์พันธุ์ และไกรสร บารมีอวยชัย เป็นผู้บริหารแผน ต่อมา ศิริ และไกรสร ซึ่งเป็นตัวแทนเจ้าหน้าสถาบันการเงินลาออกไป เพราะมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการกู้เงิน จึงเหลือปิยะสวัสดิ์, ชาญศิลป์ ตัวแทนเจ้าหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ และพรชัย ผู้แทนกระทรวงการคลัง เป็นผู้บริหารแผน โดยมี ชาย เอี่ยมศิริ ลูกหม้อการบินไทย อดีตผู้บริหารการเงิน ที่เกษียณไปแล้ว กลับมารับตำแหน่งซีอีโอ
ปิยะสวัสด์ เคยพลิกการบินไทยจากสถานะการเงินที่ย่ำแย่ ขาดทุน 20,000 กว่าล้านบาท เมื่อปี 2552 จนกลับมามีกำไร ไต่อันดับขึ้นมาเป็นสายการบินชั้นแนวหน้าของโลก แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล จากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งทาบทามเขามากู้การบินไทย เป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปิยะสวัสดิ์ ถูกบีบให้ลาออก ในเดือนพฤษภาคม ปี 2555 ด้วยเหตุผลคลุมเครือที่อำพล กิตติอำพน ประธานบอร์ดการบินไทย ซึ่งเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีด้วยในตอนนั้น บอกว่า เขามีปัญหาการสื่อสารกับบอร์ด
นับตั้งแต่นั้นมาจนถึง ปี 2562 การบินไทยขาดทุนทุกปี มีกำไรปีเดียว คือ ปี 2559 กำไร 46 ล้านบาท ปี 2562 ขาดทุนถึง 12,000 ล้านบาท จนรัฐบาลตัดสินใจไม่อุ้มต่อไป ให้การบินไทยไปแก้ปัญหาเอง โดยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
ตามแผนฟื้นฟู ซึ่งมีอายุ 5 ปี นับจากเดือนมิถุนายน 2564 มีเงื่อนไขหลัก 2 ข้อที่ต้องทำก่อนออกจากแผนฯ คือ
- ส่วนของผู้ถือหุ้นหรือทุน ต้องเป็นบวก
- กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) เกิน 20,000 ล้านบาท ในรอบ 12 เดือน
ข้อ 2 ทำได้แล้ว ข้อแรกต้องเพิ่มทุนโดยการแปลงหนี้เป็นทุน และขายหุ้นให้ผู้ถือหุ้นเดิมและเจ้าหนี้ การบินไทย คาดว่า จะทำให้ทุนเป็นบวกและออกจากแผนฟื้นฟูได้ภายในปีนี้ ก่อนกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
อย่างไรก็ตาม แม้การบินไทยจะไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว แต่กระทรวงการคลังยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด 49% เมื่อออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว อำนาจการเมืองอาจจะกลับมาทวงคืน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2555