ใครว่ารัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนหลัก ไม่มีฝีมือในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจ คงต้องกลับไปทบทวนตัวเองใหม่เสียแล้ว !!!
เพราะหลังจาก 5 เดือนผ่านไป รัฐบาลก็มีผลงานด้านการบริหารเศรษฐกิจเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนเป็นรูปธรรม คือการทำให้ตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย หรือ GDP รายไตรมาสเริ่มติดลบ และอาจจะต่อเนื่องถึง 2 ไตรมาสติดกัน จนทำให้ก้าวย่างเข้าไปสู่แนวโน้มของการถดถอยทางเทคนิค หรือ ที่เรียกว่า Technical Recession ได้สำเร็จ
นิยามของคำว่า ‘ภาวะถดถอยทางเทคนิค’ หรือ Technical Recession ของเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นเมื่ออัตราการขยายตัวของ GDP จากไตรมาสหนึ่งไปอีกไตรมาสหนึ่ง (Quarter on Quarter Growth) ติดลบติดต่อกันสองไตรมาส ซึ่งแสดงให้เห็นเศรษฐกิจกำลังมีปัญหา ‘เงินฝืด’ และอาจจะต้องมีนโยบายด้านการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายมากขึ้น โดยการลดอัตราดอกเบี้ย หรือ ใช้นโยบายการคลัง อัดฉีดเม็ดเงินเพื่อไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
ก่อนหน้านี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ ประมาณการตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ว่ามีอัตราการเติบโตราว 1.5% ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 2 ที่อยู่ในระดับ 1.8% และมีสัญญาณเศรษฐกิจที่บ่งบอกว่าตัวเลข GDP ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ก็อาจจะปรับตัวลงต่อเนื่องอีกไตรมาส ซึ่งเท่ากับ GDP ของไทยจะหดตัวลงต่อเนื่องถึง 2 ไตรมาสติดต่อกัน
ที่ผ่านมาประเทศไทยสูญเสียเวลาไปกับการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งค่อนข้างนานถึงกว่า 3 เดือน กว่านายกฯเศรษฐาจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเป็นไปด้วยความล่าช้า เพราะแม้แต่ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี2567 จนถึงเวลานี้ก็ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ก่อนนำเข้าสู่วาระ 2-3 ทำให้กว่าจะมีงบประมาณออกมาใช้อย่างเร็วที่สุดก็คือราวเดือนพฤษภาคม
แต่ก็เป็นเรื่องแปลก เพราะทั้ง ๆ ที่รู้ว่า พ.ร.บ.งบประมาณจะล่าช้า แต่รัฐบาลเองก็กลับไม่กระตือรือล้นที่จะผลักดันมาตรการด้านเศรษฐกิจออกมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการส่วนใหญ่ที่ออกมากลับไปเน้นในเรื่องของการตรึงราคาพลังงาน และคุมราคาสินค้าเสียมากกว่า เพราะดูเหมือนรัฐบาลจะเอาไข่ทั้งหมดไปใส่ในกระตร้าใบเดียวอย่างที่ฝ่ายค้านโจมตี จึงหมกมุ่นและพยายามผลักดันนโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทที่เคยหาเสียงเอาไว้ให้สำเร็จให้ได้ โดยไม่เคยมีแผนสำรองอื่น ๆ
ตรงกันข้ามรัฐบาลกลับพยายามตอกย้ำภาพความเลวร้ายของเศรษฐกิจไทย โดยผลิตชุดความคิดที่จะทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต จากวาทกรรมเชิงเปรียบเทียบที่รุนแรงกว่าความเป็นจริง จนทำให้คนไทยต่างตกอยู่ในอาการโรค ‘ซึมเศร้า’ ทางเศรษฐกิจไปโดยปริยายแบบไม่รู้ตัว
เริ่มตั้งแต่ นายกฯ เศรษฐาบอกว่า เศรษฐกิจไทยกำลังวิกฤตอาการหนัก ต้องใช้วิธีการกระตุ้นหัวใจ ไม่ใช่แค่ปล่อยให้นอนหยอดน้ำข้าวต้มแบบที่ผ่านมา
ต่อมาเลขาธิการนายกฯ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ก็มาระบุว่าเศรษฐกิจไทยกำลังตกอยู่ในสภาพ ‘กบต้ม’ ที่กำลังจะตายในไม่ช้า และ รองนายกฯรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ภูมิธรรม เวชยชัย ก็ออกมาขู่สำทับว่า วิกฤตเศรษฐกิจของไทยคราวนี้ อาจจะร้ายแรงถึงขนาดใกล้เคียงกับวิกฤติ ‘ต้มยำกุ้ง’ เมื่อปี 2540
ล่าสุด หนักหนาสาหัสกว่าเดิมเข้าไปอีก เมื่อระดับเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
เผ่าภูมิ โรจนสกุล ถึงขนาดเปรียบเทียบว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเป็นมะเร็งร้ายจำเป็นต้องให้ทำ ‘คีโม’ โดยใช้ยาแรง คือการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต
ทั้งหมดจึงกลายเป็นตลกร้ายในสายตาของนักลงทุนและผู้คนในแวดวงตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลก จนบางคนมองว่ามันอาจเป็น ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ ที่แสนเลวร้าย เพราะดูจะไม่ใช่เรื่องปกติที่ รัฐบาลของประเทศหนึ่งจะยอมลงทุนทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ โดยการประกาศว่าเศรษฐกิจตัวเองวิกฤต ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์ที่แท้จริงยังคงไม่ได้เดินไปถึงจุดนั้น เพียงเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการจะกู้เงินถึง 5 แสนล้านบาท เพื่อแจกเงินดิจิทัลให้คน 50 ล้านคน
แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อมาถึงวันนี้สิ่งที่รัฐบาลและทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยพยายามตอกย้ำให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติกำลังจะกลายเป็นจริง !!! เพียงใช้ฝีปากของคนในรัฐบาล โดยไม่ต้องอาศัยฝีมือทำงาน และทั้งหมดจะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ ‘เรือธง’ แจกเงินดิจิตอลหมื่นบาทของพรรคเพื่อไทยยังเดินหน้าต่อไป...