หุ้นไทยหลอนยา ลงแล้ว ลงอีก ลงต่อ - ฝ่ายค้านระวังแพ้แตก ยื้อพิจารณากฎหมายงบปี 67 - 15 ธ.ค.ดีเดย์ รถไฟทางคู่ล่องใต้

14 ธ.ค. 2566 - 08:43

  • บริหารเกิน 3 เดือน แต่เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนไม่ได้ หุ้นไทยเลยหลอนยา ลงแล้ว ลงอีก ลงต่อ

  • ฝ่ายค้านระวังแพ้แตก ยื้อพิจารณากฎหมายงบปี 2567 เงื่อนเวลากับเกมสภา พลาดท่าได้ง่าย ๆ

  • 15 ธ.ค.ดีเดย์ รถไฟทางคู่ล่องใต้ ผลงานส่วนหนึ่งของรัฐบาลชุดที่แล้ว

economy-thailand-set-settha-stock-falls-deep-space-SPACEBAR-Hero.jpg

หุ้นไทยหลอนยา ลงแล้ว ลงอีก ลงต่อ

ตลาดหุ้นไทย ในยามนี้ตกอยู่ในอาการหมดสภาพเต็มที คือ ‘ลงแล้ว ลงอยู่ และยังคงลงต่อไป...’

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET ที่ขึ้นไปทำจุดสูงสุด เมื่อวันที่ 10 มกราคมปีนี้ ที่ระดับ1,691.41 จุด ในช่วงปลายรัฐบาล ‘ลุงตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่มาถึงวันพุธที่ผ่านมา (13 ธันวาคม 66) ดัชนี SET โดยแรงเทขายถล่มหนัก จนดัชนีทรุดลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ระดับ 1,357.97 จุด สวนทางภาวะตลาดหุ้นอื่น ๆ ที่เขาขึ้นกันทั้งโลก 

ในขณะที่ปริมาณการซื้อขายก็ย่ำแย่ ลดลงจากวันละ 6.81 หมื่นล้านบาทตอนต้นปี เหลือเพียง 3-4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

ถึงวันนี้ตลาดหุ้นไทย จึงกลายเป็นตลาดที่เลวร้ายที่สุดตลาดหนึ่งของโลก คือ ดัชนี ติดลบไปถึง 334 จุด หรือเท่ากับติดลบถึง 19.75% เรียกว่าตลาดเข้าสู่ภาวะ ตลาดหมี หรือ Bear Market ไปแล้ว ในทางเทคนิค

สอบถามบรรดากูรูในวงการ ต่างส่ายหัว บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ตลาดฯ กำลังหมดความเชี่อมั่น!!!

การเข้ามาเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยที่มี นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน นั้น ได้สร้างความคาดหวังเอา ๆ ไว้สูงว่า จะเข้ามาช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย จากนโยบายขายฝันในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการ มาตรการแก้หนี้ครัวเรือน และอีกสารพัดมาตรการเชิงประชานิยม ลดค่าไฟฟ้า น้ำมัน

แต่ผ่านไป 3 เดือน หลังแถลงนโยบาย เริ่มเห็นเค้าลางของ ‘นโยบายล่องหน ไม่ตรงปก’ ในหลาย ๆ เรื่อง บางเรื่องก็แก้ปัญหาแบบวนไปวนมาแต่ไม่จบสักเรื่อง แถมบางเรื่องยังทำท่าจะส่งผลกระทบในทางลบไปยังภาคเอกชนเสียอีก 

ไล่มาตั้งแต่ เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ที่ยังไม่รู้ว่าจะผ่านออกมาเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ได้เมื่อไร ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 แผนการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และค่าแรงขั้นต่ำ ที่ทำท่าจะไม่จบง่าย ๆ หรือแม้แต่เรื่องการลดค่าไฟฟ้า และพลังงาน ก็ทำได้แค่ตรึงราคาระยะสั้น ๆ แต่ยังไม่เห็นรูปธรรมในการปรับโครงสร้างพลังงงานทั้งระบบ แถมยังจะหาเรื่องไปทะเลาะสิงคโปร์ เรื่องซื้อไฟฟ้าจากลาวเสียอีก 

ขณะเดียวกัน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นก็แทบไม่มีให้เห็น ซ้ำร้ายมาตรการบางเรื่องกลับผิดทิศผิดทาง กลายเป็นตัวฉุดและชะลอกำลังซื้อในช่วงปลายปีเสียอีก เช่น นโยบาย E-refund ที่จะกระตุ้นกำลังซื้อสินค้า เพื่อให้นำไปลดหย่อนภาษี ซึ่งแทนที่จะให้ใช้ในปีนี้ กลับไปเริ่มมาตรการเอาหลังปีใหม่   

ยิ่งไปกว่านั้น ในทางการเมือง ภาพการเดินสายทั้งพูด และบรรยาย ตลอดจนการลงพื้นที่ และเดินสายไปต่างประเทศ ก็ดูจะเป็นกิจกรรมสร้างภาพ มากกว่าการลงมือทำงาน  บางครั้งยิ่งพูดก็ยิ่งสร้างปัญหาเสียมากกว่า

ยิ่งนานวันก็ยิ่งตอกย้ำความเชื่อว่า นายกฯ เศรษฐา เป็นเพียงนายกฯ ขัดตาทัพ ไม่ใช่ตัวจริงเสียงจริง แต่มีเงาร่างของ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ทับซ้อนเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนเพียงแค่รอจังหวะ ความพร้อมในการเปลี่ยนตัว  

การเมืองและเศรษฐกิจ ภาพสะท้อน คือ ตลาดหุ้นไทยตกอยู่ในอาการ ‘ว้าวุ่น’ ส่งผลให้ดัชนีเริ่มซึม และไหลลงลึกขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายร่างเป็น ‘ตลาดหมี’ อย่างที่เห็นอยู่ในเวลานี้

มิหนำซ้ำในสภาวะตลาดปัจจุบันที่ถูกอิทธิพลจากเทคโนโลยี ที่มีการใช้ โปรแกรมเทรดดิ้ง ที่เข้ามามีบทบาทในการซื้อขายโดย AI ก็ยิ่งทำให้ตลาดถูกกำหนดทิศทางได้ง่าย เพราะเมื่อตลาดขาดความเชื่อมั่นในอนาคตจึ งมีแรงขายมากกว่าแรงซื้อ ทำให้ตลาดปรับตัวลง และโปรแกรมเทรดดิ้ง ก็กลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้มีแรงขายจากการทำ ‘Short Sell’ มากขึ้นไปอีก ตลาดยิ่งไหลลงลึกและแรงมากขึ้น 

มีเสียงเรียกร้องของนักลงทุนรายย่อย ที่ขอให้มีมาตรการออกมาระงับการทำShort Sell หรือการยืมหุ้นมาขาย เหมือนที่ทางการเกาหลีใต้ทำและขอให้มีการยกเลิกโปรแกรมการซื้อขายหรือ ROBOT ถึงขนาดพยายามจะประท้วง โดยงัดมาตรการ ‘นัดหยุดเทรด’ จนเล่นเอานายกฯ เศรษฐา ที่สวมหมวกเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่ง ออกอาการเหวี่ยงแรง อารมณ์บ่จอย และส่ง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษาของนายกฯ เศรษฐา ที่เคยนั่งเป็น กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าไปหาทางแก้ปัญหา

มีการประชุมหารือและแถลงยืนยันแบบยืนกระต่ายขาเดียวจากทั้ง ตลท. และ กลต. หลายครั้ง โดยยืนยันว่าการทำ Short Sell หรือการยืมหุ้นมาขาย และการใช้โปรแกรมการซื้อขายหรือ ROBOT ไม่ใช่ตัวการถล่มหุ้นไทยแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่นักลงทุนตั้งข้อกังขาว่ามีต้นสายปลายเหตุมาจาก ROBOT และ Short Sell

สิ่งที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ตลาดหุ้นไทยก็เลยตกอยู่ในสภาพ ‘ลงแล้ว ลงอยู่ และลงต่อไป’  เพราะตลาดขาดความเชื่อมั่น จนเกิดอาการ ‘หลอนยา’ เพราะนักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ปักใจเชื่อไปแล้วว่า ไอ้เจ้าโปรแกรมเทรดดิ้ง คือ ผู้ร้าย และเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการ Short Sell ในตลาดฯ อย่างรุนแรง เพื่อทำกำไรในช่วง ‘ขาลง’

หากจะพลิกฟื้นสถานการณ์นี้ นอกจากประเด็นทางการเมืองที่ต้องลบภาพการเป็น นายกฯ ขัดตาทัพ และเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ออกมาเป็นรูปธรรมแล้ว เพื่อลดอาการหลอนยาของบรรดานักลงทุน แทนที่จะทำอย่างเดิม ซึ่งก็คงได้ผลลัพธ์แบบเดิม มีแนวคิดของการใช้ ‘ทฤษฎี Placebo Effect’  หรือสร้างปรากฎการณ์ ‘ยาหลอก’ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้ฟื้นกลับมา โดยการให้ ตลท.ออกมาตรการควบคุม ‘โปรแกรมเทรดดิ้ง’ แทนที่จะทำเพียงเข้าไปตรวจสอบที่ไม่ได้ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นเหมือนที่ผ่านมา  

คงเพราะเหตุนี้ ล่าสุด ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง จึงมีการโพสต์ข้อความบน Facebook  เหมือนเป็นการโยนหินถามทางออกมาว่า ‘เลิก Program Trading…จะดี’ เพื่อต้องการดูปฎิกิริยาจากตลาดฯ แต่จะเอาจริงหรือไม่ 

คงต้องดูคำตอบสุดท้ายจาก ภากร ปิตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ที่นั่งอยู่บนเก้าอี้นี้ในวาระที่สองซึ่งกำลังร้อนเป็นไฟ จนไม่รู้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งได้ครบวาระหรือไม่...

ฝ่ายค้านระวังแพ้แตก ยื้อพิจารณากฎหมายงบปี 67

งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ล่าช้ามาเป็นเวลาเกือบสามเดือนแล้ว เพราะประเทศได้เข้าสู่ปีปฏิทินงบประมาณใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

โดยความล่าช้าที่ว่า แม้จะเกิดจากปัญหาทางการเมือง อันเนื่องมาจากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ล่าช้า แต่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความล่าช้าเพิ่มขึ้นอีก จากการไปปรับรื้องบประมาณที่รัฐบาลชุดเดิมจัดทำไว้

เดิมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 มกราคม 2566 เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท แต่เมื่อรัฐบาลเศรษฐา เข้ามาบริหารประเทศได้เพิ่มกรอบงบประมาณเป็น 3.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น1.3 แสนล้านบาท 

ทั้งนี้งบประมาณที่เพิ่มขึ้น มาจากประมาณการรายได้การจัดเก็บภาษีเพิ่ม 3 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 1 แสนล้านบาท มาจากการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น ที่รัฐบาลชุดเดิมตั้งไว้ที่ 5.93 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 6.93 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลเศรษฐา ต้องไปกู้มาชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้ให้เหตุผลการตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มไว้กว้าง ๆ ว่า เพื่อรองรับการดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล

เมื่อมีการปรับรื้อตัวเลขใหม่ สำนักงบประมาณ ก็ต้องให้กระทรวง กรม กองต่าง ๆ ไปทบทวนตัวเลขของแต่ละหน่วยงานและเสนอเข้ามาใหม่ ซึ่งดูจากปฏิทินการจัดทำงบประมาณ สำนักงบประมาณจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในวันอังคารที่ 26 ธันวาคมนี้ ก่อนส่งให้สภาพิจารณา ซึ่งได้ล็อควันพิจารณาวาระแรก ไว้ในวันที่ 3-4 มกราคม 2567 

ล่าสุดพรรคฝ่ายค้าน โดยณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ได้ขอหารือต่อที่ประชุมสภาฯ วานนี้(13 ธันวาคม 2566) ขอให้ประธานสภาฯ เลื่อนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 3 มกราคม 2567 

โดยขอให้ยึดแนวทางของอดีตประธานสภาฯ ชุดที่แล้ว ที่ขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ และสส. ดำเนินการวิเคราะห์งบประมาณให้ถ้วนถี่ หากพิจารณาในช่วงดังกล่าวอาจจะทำงานไม่ทัน เนื่องจากติดช่วงวันหยุดยาววันขึ้นปีใหม่ได้ ซึ่งเชื่อว่าจะไม่กระทบการพิจรณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ให้ล่าช้า เพราะในวาระสองและวาระสาม สามารถบริหารจัดการให้ปฏิทินทำงานเป็นไปตามกำหนดได้

ฟังดูก็น่าเห็นใจฝ่ายค้านอยู่ เพราะกว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จะพิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ และส่งต่อไปให้สภาก็เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน จึงไม่มีเวลาพอไปทำการบ้าน วิเคราะห์ตัวเลขต่างๆ ได้ทัน

แต่ครั้นจะให้ขยับเวลาออกไปอีก การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้าอยู่แล้ว ก็ต้องทอดเวลาออกไปอีก ซึ่งคงไม่มีใครอยากเห็น โดยเฉพาะหลายนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ปักหมุดเอาไว้ในเดือน พฤษภาคม 2567 ที่ต้องใช้จ่ายจากจากเงินงบประมาณใหม่ คงไม่ยอมให้ขยับเวลาออกไปแน่

ดังนั้นหากจะให้เลื่อนการพิจารณาในวาระแรกออกไป คงต้องอยู่ในเงื่อนไขของปฏิทินการจัดทำงบประมาณเดิม คือ นำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันที่ 17 เมษายน 2567 ซึ่งต้องไปบีบเวลาพิจารณาในวาระ 2-3 ให้กระชับ จะยื้อลากยาวหรือไปเล่นแร่แปรธาตุเหมือนที่ผ่านมาอีกไม่ได้

ทั้งหลายทั้งปวง เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 กำหนดกรอบเวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเอาไว้ ให้สภาผู้แทนราษฎรต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน นับแต่วันที่ร่างฯ มาถึงสภาฯ แต่ถ้าพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา ‘ให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัตินั้น’ และให้เสนอร่างฯ นั้นต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณา

นั่นเท่ากับว่า การแปรญัตติปรับลดงบประมาณรายมาตราในวาระ 2-3 ที่ทำไว้ก็จะสูญเปล่าทันที เพราะต้องนำร่างเดิมที่รัฐบาลเสนอมาส่งต่อไปให้วุฒิสภาทั้งดุ้น ในขณะที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้วุฒิสภา มีอำนาจแค่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น โดยไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ ได้

ทำให้นึกถึงคำว่า ‘เทคนิคทางกฎหมาย’ ที่สภาชุดที่แล้วมีการแก้ไขกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งสส. เรื่องสูตรหารร้อย กับสูตรหารห้าร้อย ที่มีการแก้ไขกลับไปกลับมา จนสุดท้ายมีการ ‘ดึงเช็ง’ รอให้เวลาครบ 180 วัน จึงได้นำร่างเดิมที่เสนอไว้ไปประกาศใช้เป็นกฎหมาย

ในรัฐบาลชุดนี้อาจไม่มีเรื่องปาฏิหาริย์กฎหมาย แต่ฝ่ายค้านคงต้องเผื่อเรื่องเทคนิคทางกฎหมายไว้บ้าง หากจะเลื่อนหรือขยับเวลาพิจารณากฎหมายงบประมาณออกไป  

ระวังจะแพ้แตกเอาได้

15 ธ.ค.ดีเดย์ รถไฟทางคู่ล่องใต้

วันที่ 15 ธันวาคม รถไฟทางคู่นครปฐม - ชุมพร จะเปิดเดินรถตลอดเส้นทาง 421 กิโลเมตร การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปรับเวลาเดินรถสายใต้ใหม่ 60ขบวน ลดเวลาเดินทาง ถึงจุดหมายเร็วขึ้น 1.30  ชั่วโมง

ประเทศไทยมีทางรถไฟ 4,044 กิโลเมตร ส่วนใหญ่สร้างก่อนปี 2500 เป็นทางเดี่ยว รถไฟต้องรอหลีกทางเป็นช่วง ๆ เสียเวลา ถึงปลายทางสายเป็นปกติ จะสายมากหรือน้อยเท่านั้น 

การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี เกิดขึ้นในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี การลงทุนรถไฟทางคู่เฟสแรก เป็นเมกะโปรเจกต์ขนส่งระบบราง ที่เริ่มลงมือมาตั้งแต่ปี 2562 

รถไฟทางคู่ 4 เส้นทาง สร้างทางใหม่ขนานกับทางเดิม ประกอบด้วย 

สายฉะเชิงเทรา - แก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร ขนสินค้าจากภาคอีสานไปท่าเรือแหลมบัง สร้างเสร็จใช้งานแล้ว  

สายเหนือ ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 145 กิโลเมตร 

สายอีสาน มาบกะเบา( สระบุรี) -ชุมทางถนนจิระ (นครราชสีมา) ระยะทาง132 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับทางคู่ ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น  ระยะทาง187 กิโลเมตร ซึ่งสร้างเสร็จและเปิดเดินรถแล้ว  และสายใต้ นครปฐม -ชุมพร 421 กิโลเมตร 

สร้างใหม่ 2  เส้นทาง คือ เด่นชัย-เชียงของ 326 กิโลเมตร และ บ้านไผ่ – นครพนม 355  กิโลเมตร

รวมทางรถไฟที่เกิดขึ้นใหม่ 1,600 กิโลเมตร ส่วนใหญ่สร้างเกือบเสร็จแล้ว ยกเว้นสองสายที่สร้างใหม่ ที่ต้องรออีกหลายปี

รถไฟทางคู่นครปฐม - ชุมพร เป็นทางคู่สายแรกที่เปิดใช้ตลอดเส้นทาง ยกเว้นช่วง นครปฐม – ราชบุรี ระยะทาง 80 กิโลเมตรที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง  จะเสร็จเดือนเมษายนปีหน้า 

วันที่ 15 ธันวาคม 2566 จึงนับเป็นวันเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของรถไฟไทยที่ถือกำเนิดเมื่อ 127 ปี  ก่อน แต่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ไม่มีการลงทุนพัฒนาทันสมัย เพราะให้ความสำคัญกับการคมนาคมด้วยรถยนต์มากกว่า

รัฐบาลนี้ ประกาศแล้วว่าจะสานต่อเดินหน้ารถไฟทางคู่เฟส 2  โดยเฉพาะสายอีสาน จากขอนแก่น - หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อไปยังป สปป.ลาว 

อย่างไรก็ตาม มีแต่ ‘ฮาร์ดแวร์’ คือ ทางรถไฟทางคู่อย่างเดียว ไม่ทำให้การเดินทาง ขนส่งด้วยรถไฟ ลดต้นทุน ลดเวลาได้ หากไม่มี ‘ซอฟต์แวร์’ หรือการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์