วุฒิสมาชิกมรดก คสช.กับรถไฟเที่ยวสุดท้าย

9 เม.ย. 2567 - 08:23

  • ได้เวลาแยกย้ายของวุฒิสมาชิก สาย คสช. ทำงานครบวาระตามกฎหมาย

  • จากนี้ไปคือการส่งผ่านไปสู่ สว. เลือกตั้งชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

  • แต่ยังต้องติดตามกันต่อว่า การรักษาการ จนกว่ามี สว.ชุดใหม่ยาวนานแค่ไหน

revolutionary-government -thailand-SPACEBAR-Hero.jpg

วันนี้ 9 เมษายน วุฒิสภาชุดมรดกคสช.หรือสภาสูงที่มักถูกตั้งคำถามมาตลอดว่า ‘สว.มีไว้ทำไม’ ประชุมนัดพิเศษส่งท้ายก่อนปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 10 เมษายนนี้ จากนั้นก็พักยาวจนกว่าจะกลับมาเปิดสมัยวิสามัญขึ้นอีกครั้งในราวเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน

แต่สำหรับการประชุมร่วมสองสภาหรือรัฐสภา ตลอดอายุของสว.ชุดนี้คงจะไม่มีขึ้นอีก ดังนั้น การประชุมรัฐสภาในวันศุกร์ที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา จึงเป็นครั้งสุดท้ายของสว.ชุดปัจจุบัน 

เพราะกว่าสภาจะกลับมาเปิดสมัยประชุมปีที่ 2/1 ก็ในวันพุธที่ 3 กรกฎาคมโน่น ซึ่งเป็นเวลาที่คาบเกี่ยวกับการได้สว.ชุดใหม่พอดี ตามปฏิทินของ กกต.ที่คาดว่าจะมีการประกาศรายชื่อได้ไม่เกินกลางเดือนกรกฎาคมเช่นกัน

ดังนั้น ภารกิจของสว.ชุดที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.จำนวน 250 คน ที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี2560 ก็จะสิ้นสุดลงในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ แต่จะยังอยู่ทำหน้าที่รักษาการต่อไปจนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 109

ก่อนจะปิดฉากมรดกชิ้นสุดท้ายของคสช.มีภารกิจที่เหลือให้สว.ชุดนี้ได้ทำส่งท้ายอีกไม่กี่เรื่อง เนื่องจากต้องปิดสมัยประชุมลงเสียก่อน จึงได้เห็น ‘ความขมีขมัน’ ของประธานวุฒิสภา ‘พรเพชร วิชิตชลชัย’ นัดหมายประชุมเพิ่มเติม เพื่อพิจารณาผลการศึกษาที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบ ก็ส่งให้รัฐบาลไปดำเนินการต่อ

ส่วนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ถ้าสามารถนำกลับเข้าสู่วาระ 2-3 ได้ทันในช่วงเปิดสภาสมัยวิสามัญ และไม่แก้ไขมากจนเกินไป ก็อาจจะได้มีส่วนร่วมบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์สีรุ้งไปด้วยกัน

แต่ที่จะร่วมทำคลอดด้วยไม่ทันแน่ ๆ คือ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่ตั้งไว้สูงที่สุดนับตั้งแต่มีประเทศไทยมา เพราะแม้จะมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาวาระแรกก็ตาม แต่ยังต้องรอพิจารณาในวาระ 2-3 อีก

อย่างมากวุฒิสภา ก็คงได้แค่ ‘ลูบ ๆ คลำ ๆ’ อย่างที่ประธานฯ พรเพชร บอกไว้จะขอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี2568 ไปศึกษาล่วงหน้าก่อน เพราะกว่าสภาผู้แทนราษฎร จะลงมติเห็นชอบในวาระ 3 ส่งให้วุฒิสภาพิจารณา ก็น่าจะเป็นปลายเดือนสิงหาคมหรือไม่ก็ต้นเดือนกันยายน ถึงตอนนั้น สว.ชุดนี้คงกลับบ้านกันไปหมดแล้ว

แต่ในความเป็นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่เกือบจะทุกเรื่องต้องผ่านการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อมีข้อสงสัยที่จะนำไปสู่การได้เสียทางการเมืองเกิดขึ้น ตัวอย่างจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครบ 8 ปีตอนไหน ก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นกัน

ดังนั้น สว.ชุดมรดกชิ้นสุดท้ายของคสช.ที่จะครบวาระและต้องอยู่ทำหน้าที่รักษาการต่อ ซึ่งไม่รู้จะยาวนานขนาดไหน ยิ่งหากมีการร้องเรียนผลเลือกตั้งสว.ชุดใหม่กันวุ่นวาย รับรองไม่ได้เสียที ก็อาจมีการตั้งคำถามถึง ‘ขอบเขตขัณฑสีมาอำนาจรักษาการ’ ว่าทำอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะยังทำได้อยู่อีกหรือไม่?

ไม่ได้ตั้งประเด็นขึ้นมาหาเรื่อง เพราะในรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เขียนเอาไว้ชัดว่า 

ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

เพราะเคยมีตัวอย่างจากเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีที่ว่าให้ตีความกันมาแล้ว ก็เลยยกมาตั้งเป็นประเด็นเผื่อๆ เอาไว้ก่อน ยิ่งตอนนี้มีบางกระแสพูดถึงการล้มดีลกันหนาหูอยู่ด้วย

ถึงเวลานั้น อาจจะมีนักกฎหมายชี้ว่ายังเป็นสว.ต่อเนื่อง อำนาจเต็มยังอยู่ สายสะดือมาตรา 272 ยังไม่ขาดก็ได้

เอาเป็นว่า การเมืองดำเนินมาถึงช่วงเวลานับถอยหลัง สว.ชุดมรดกคสช.กันแล้ว บทบาทที่เคย ‘โลดโผนโจนทะยาน’ ของสว.ชุดนี้ ที่เคย ‘ออกฤทธิ์ออกเดช’ ถูกกล่าวหาเป็นร่างทรง คสช.ไม่ว่าจะเป็นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 2 คน การแต่งตั้งองค์กรอิสระ หรือแม้แต่การแก้ไขรัฐธรรรมนูญ การแก้ไขกฎหมายลูก และการผ่านกฎหมายสำคัญต่าง ๆ ที่ถูกมองทำตามใบสั่ง

ทั้งหมดจะถูกบันทึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกหน้าหนึ่ง

วันนี้รถไฟเที่ยวสุดท้ายของสว.ชุดนี้ได้มาถึงแล้ว ก่อนจะส่งมอบภารกิจให้ สว.ชุดที่มาจากการเลือกตั้งแบบพิสดารให้มาขับเคลื่อนสภาสูงสร้างบันทึกการเมืองหน้าใหม่กันต่อไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์