หากใครได้ฟัง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ‘ปุ๋ง’ สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ที่สามารถก้าวข้ามชั้นขึ้นสู่เก้าอี้รัฐมนตรีได้จากแรงหนุนส่งในฐานะ ลูกสาวกำนัน ‘ป้อ’ วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ผู้มากบารมีเจ้าของโรงแป้งมันที่โคราช ที่เพิ่งประกาศภารกิจและแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยไปเมื่อวันก่อน คงต้องยอมรับว่า เป็นคำประกาศที่ ‘ห้าวหาญ’ มาก ในการตั้งเป้าหมายเชิงท้าทาย ที่จะปั้มรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยให้ได้ถึง 3.5 ล้านล้านบาท โดยจะดึงต่างชาติให้มาเที่ยวเมืองไทยให้ได้ถึง 40 ล้านคน !!!
น้องปุ๋ง บอกว่า นายกฯ ถุงเท้าหลากสี เศรษฐา ทวีสิน มั่นใจในศักยภาพของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย และพร้อมที่จะมีนโยบายและมาตรการที่จะสนับสนุนในทุกๆทางที่จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นจริง
หากดูในรายละเอียด เป้าหมายดังกล่าว จะมีรายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่จะเข้ามาไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน กลับไปเท่าสถิติสูงสุดของไทยที่เคยทำไว้ในปี 2562 ซึ่งจะสร้างรายได้ราว 2.3 ล้านล้านบาท ในขณะที่จะมีการท่องเที่ยวในประเทศอีกราว 200-220 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ราว 1.2 ล้านล้านบาท
เท่ากับเป็นการฉีกเป้าหมายเดิมที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ชนิดกระจุยกระจาย จากเดิมที่ ททท.ตั้งเป้ารายได้เอาไว้ที่ 3 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน ที่จะสร้างรายได้ราว 1.92 ล้านบาท และ จากไทยเที่ยวไทย ราว 200 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ราว 1.08 ล้านล้านบาท
คงไม่ใช่เรื่องผิดที่ รมว.ปุ๋ง จะตั้งเป้าหมายที่แสนท้าทายเช่นนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ททท.ต้องมุ่งมั่น ทุ่มเทการทำงาน เพื่อพยายามผลักดันตัวเลขไปให้ไปถึงเป้าหมายให้สำเร็จ แต่คำถามสำคัญก็คือ เราได้ประเมินตัวเองหรือยังว่า เรามีศักยภาพเพียงพอที่จะก้าวไปถึงจุดนั้น โดยเฉพาะในบริบทเศรษฐกิจโลกในเวลานี้
จำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนต่อปี หมายความว่า ในแต่ละเดือน จะต้องมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3 ล้านคน และอย่างน้อย 4 เดือน ในช่วงHigh Season จะต้องมีนักท่องเที่ยวเข้ามาสูงถึง 4 ล้านคน
แต่หากจะสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวไทยให้คึกคักตลอดทั้งปี แบบ High Season All Year Round Tourism Destination คือเที่ยวได้ทั้งปี ตลอด 365 วัน ก็ต้องมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3.3 ล้านคน หรือ วันละราว 1แสนคน
แน่นอนว่าตลาดเป้าหมายของไทยนอกจากมาเลเซียเพื่อนบ้านของเราที่เข้ามาสูงสุดในเวลานี้แล้ว ดูเหมือนรัฐบาลจะคาดหวังเอาไว้สูงมากว่า นักท่องเที่ยวจากจีนจะกลับมาเที่ยวไทยคึกคักเหมือนหลายปีก่อน จากปัจจัยสนับสนุนที่จะมีการยกเว้นวีซ่าถาวรระหว่างกันในราวเดือนมีนาคมนี้ โดยตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวจากจีนในปีนี้เอาไว้สูงถึง 8 ล้านคน
แต่ถามว่าถึงนาทีนี้ ถึงแม้จะมีการยกเว้นวีซ่าถาวรระหว่างกัน แต่เรามั่นใจได้อย่างไรว่า นักท่องเที่ยวชาวจีน จะแห่มาเที่ยวไทยเหมือนช่วงในอดีต เมื่อมองจากบริบททางเศรษฐกิจของจีนเองที่กำลังมีปัญหาหลายด้าน รวมทั้งสภาพการแข่งขันในตลาดท่องเที่ยวที่เราเริ่มมีคู่แข่งที่มาแรงอย่าง เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศอาเซียนอื่น ๆ
หันกลับมามองย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวของไทยในฐานะ ‘ความหวังของหมู่บ้าน’ ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมราว 2 ล้านล้านบาท พลาดเป้าไปราว 3.8 แสนล้านบาท ถึงแม้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 28 ล้านคน เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวไม่ได้สูงเท่าประมาณการที่ตั้งไว้
ถ้าฟังจากการแถลงข่าว 7 นโยบายที่จะพลิกโฉมการท่องเที่ยวนั้น ตั้งแต่ การทำให้ไทยเที่ยวได้ทั้งปีตลอด 365 วัน การใช้ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว การเน้นเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ร่วมกับท้องถิ่น และ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับอาเซียนแล้ว ดูเหมือน กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ดูจะมีความพยายามที่จะส่งเสริมในเรื่องของ สปอร์ต เอ็นเตอร์เทนเมนท์ โดยเน้นเรื่องการเป็นเจ้าภาพจัดอีเวนต์กีฬาระดับนานาชาติหลายๆรายการ
แต่คำถามใหญ่ ก็คือ เราจะสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจาก 28 ล้านขึ้นมาอีก12 ล้านคน เป็น 40 ล้านคนได้จริงหรือ?
ยกเว้น รัฐบาลจะกล้าคิดใหญ่ Think Big ให้น้อง ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร ที่ดูเรื่องนโยบายซอฟต์ พาวเวอร์ ผลักดันให้นำ ‘มวยไทย’ ที่เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ ที่เป็นที่ยอมรับ และรู้จักกันทั่วโลกอยู่แล้ว มาเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเป็นเจ้าภาพจัดอีเวนต์ มหกรรมมวยไทยชิงแชมป์โลก ระดับนานาชาติ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกในช่วงปลายปีนี้
ก็คงต้องยอมรับว่า ในสภาพที่รัฐบาลยังไม่มีความหวังอะไรให้พอจะมั่นใจว่าจะมีนโยบายหรือมาตรการเด็ดอะไรมาพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้เริ่มไปต่อได้ ไม่อยู่ในสภาพชะงักงัน ‘ติดหล่ม’ อยู่กับความหวังเรื่อง พ.ร.บ.กู้เงินมาแจก เหมือนที่เป็นอยู่ในเวลานี้ การกลับมาพึ่งการท่องเที่ยวที่เป็น ‘ความหวังของหมู่บ้าน’ ก็ยังคงเป็นท่าไม้ตายที่ยังใช้ได้เสมอ...