ฮาวทูกู้โลกรวน - วิธีที่ 27: Storytelling (รักษ์โลก...โคตะระแพง)

18 ก.พ. 2568 - 08:33

  • เรื่องเล่าอัพความเขียว โม้อย่างเดียวหรือเปล่า?

  • “รักษ์โลก” อย่าเอาแต่ฝอย ถึงเวลาแล้วที่ต้องรักแบบแสดงออก

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-storytelling-love-the-earth-expensive-SPACEBAR-Hero.jpg

ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก

วิธีที่ 27: Storytelling (รักษ์โลก...โคตะระแพง)

เรื่องเล่าอัพความเขียว โม้อย่างเดียวหรือเปล่า?

แนะนำ: Action “รักษ์โลก” อย่าเอาแต่ฝอย ถึงเวลาแล้วที่ต้องรักแบบแสดงออก

027 Storytelling.jpg
Photo: ฮาวทูกู้โลกรวน - วิธีที่ 27: Storytelling (รักษ์โลก...โคตะระแพง)

WHAT (เกิดอะไรขึ้นอ่ะ?)

ทำไมทุกครั้งที่พูดถึงสินค้ารักษ์โลก Eco-friendly ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ราคามักไม่ค่อยเป็นมิตรกับเงินในกระเป๋าสตางค์สักเท่าไหร่

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-storytelling-love-the-earth-expensive-SPACEBAR-Photo01.jpg

“ไข่ไก่ออร์แกนิกฟองละ 15 ไข่ไก่ธรรมดาฟองละ 6”

“ผ้าเช็ดหน้าทำจากฝ้ายออร์แกนิกผืนเล็กๆ สนนราคาเฉียด 1,000 บาท” (ซื้อแล้วปาดเหงื่อ แถมไว้ซับน้ำตา)

“แก้วน้ำที่ใช้ซ้ำ ราคาราว 500 บาท ขณะที่แก้วพลาสติก…ฟรี!” (แค่แก้วน้ำก็แพงกว่าอาหารหนึ่งมื้อไปแล้ว)

...นี่แหละที่หลายคนบ่นว่า “รักษ์โลก” โคตะระแพง!!! และจบปัญหานี้ด้วยการมีวิถีชีวิตแบบเดิมๆ

แต่ถ้าใครเบื่อแบบเดิมๆ ในฐานะผู้บริโภคที่เลือกซื้อ-เลือกใช้ ก็คงต้องเล่นบทโคนันเพื่อสืบหรือแยกให้ออกว่า “แพง” เพราะใช้ประโยชน์ได้จริง “แพง” เพราะใช้ซ้ำได้อย่างคุ้มค่า หรือที่ “แพง” เพราะการโฆษณา (ชวนเชื่อ)

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-storytelling-love-the-earth-expensive-SPACEBAR-Photo02.jpg

เพราะ ณ วันนี้ก็ต้องยอมรับว่าผู้บริโภคยุคใหม่ให้ค่ากับสินค้าและบริการที่มี Storytelling สร้างเรื่องราวน่าสนใจ ยิ่งดราม่ายิ่งปัง (ดูจากในโซเชียลทุกแพลตฟอร์มก็เห็น) ยิ่งแบรนด์ไหนชูจุดขายว่า “รักษ์โลก” Storytelling นี่แหละที่จะอัพราคาดึงคนหัวใจสีเขียวมาซื้อ-มาช้อป เพราะความรักและห่วงใยต่อโลกจึงยอมจ่าย

แม้ราคาจะสูงดุจยอดเขาเอเวอเรสต์ แต่ถ้ามันสมเหตุสมผล คนซื้ออย่างเราก็พร้อมเปย์เพื่อโลก ส่วนจะจ่ายแพง (กว่า) แค่ไหน ผลสำรวจจากศูนย์วิจัยกสิกร ชี้ว่าคนไทยยอมจ่ายให้สินค้ารักษ์โลก หากแพงไม่เกิน 20% ของสินค้าปกติ

Eco-Product-02-04-21.jpg

เรื่องเล่าอัพความเขียว โม้อย่างเดียวหรือเปล่า

นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลทำให้แบรนด์ต่างๆ ใช้เทคนิค Storytelling สร้างเรื่องราวทำให้สินค้าของพวกเขาดูมีคุณค่าราวกับว่าเรากำลังซื้อไอเทมจากหนัง Sci-Fi ที่ช่วยปกป้องโลก แล้วเคยสงสัยไหมว่าตัวสินค้าจริงๆ มันรักษ์โลกแค่ไหน? หรือแค่ฟอกเขียว (Greenwashing) มาอย่างแยบยล?

WHY (เกี่ยวไร?)

รู้ว่าโลกร้อน…แต่ใจห้ามร้อน เรามาดูเหตุผลที่ทำให้สินค้ารักษ์โลกมีราคาแพง (กว่า) สินค้าปกติกัน

สินค้าปกติ > ยิ่งถูกยิ่งดี ยิ่งซื้อใช้เยอะ ยิ่งผลิตมาก ยิ่งสร้างก๊าซเรือนกระจกอื้อ แล้วก็กลายมาเป็นขยะที่ไม่มีการจัดการ ไม่เก็บกลับ ไม่ใช้ซ้ำ เพราะทุกอย่างถูกคิดมาแบบวันเวย์ (One Way) แค่ใช้แล้วทิ้ง! 

แต่ความเป็นจริง...ทุกอย่าง “มีราคาที่ต้องจ่าย”

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-storytelling-love-the-earth-expensive-SPACEBAR-Photo04.jpg

สินค้าปกติไม่ได้คำนวณต้นทุนทางธรรมชาติที่เสียไป ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป (แถมใช้อย่างไม่รู้คุณค่า) การทิ้งรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) การปล่อยมลพิษทำอากาศเสีย ก่อโรคภัยกระทบสุขภาพทั้งคนและสัตว์ ความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่ขยายออกไป ซึ่งไม่ใช่แค่ผลิต ขายแล้วจบ! แต่หมายถึงความรับผิดชอบต่อขยะที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตัวเอง หรือที่เรียกว่า Extended Producer Responsibility (EPR) รวมถึงการไม่ได้ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา มันไม่ยั่งยืน!!

สินค้ารักษ์โลก > คิด คำนวณ หาของทดแทน ใช้ของจากธรรมชาติ ลดการปล่อยก๊าซฯ ลด Carbon Footprint รับผิดชอบเก็บกลับ Extended Producer Responsibility และใช้แนวคิด Circular Economy ในการทำธุรกิจ ซึ่งทุกขึ้นตอนที่ทำเพื่อโลกทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) นั้นคือการลงทุน จึงเกิดต้นทุนที่สูงกว่า (High Manufacturing Costs)

เช่น เสื้อผ้าที่ทำจากฝ้ายออร์แกนิก ไม่ใช้สารเคมีในการปลูก แต่ต้องใช้แรงงานเพิ่มขึ้นกว่าการปลูกฝ้ายทั่วไป ต้องกำจัดวัชพืชด้วยมือแทนที่จะใช้ยาฆ่าหญ้า ลองนึกภาพทีมงาน 10 คนเดินสาละวนกำจัดวัชพืชและแมลงในสวน เราจะรู้สึกว่า “ค่าแรง” นี่แหละที่ทำให้ราคาผ้าฝ้ายออร์แกนิกไปไกล

อีกเหตุผลคือ กฎแห่งความต้องการ (Law of Demand) เมื่อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังมีตลาดเล็กกว่าสินค้าทั่วไป ผู้ผลิตจึงต้องตั้งราคาสูงเพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนการผลิตและการดำเนินงานในระยะเริ่มต้น

HOW (ทำอย่างไรล่ะทีนี้?)

แนะนำให้ Action “รักษ์โลก” อย่าเอาแต่ฝอย ถึงเวลาแล้วที่ต้องรักแบบแสดงออก รักษ์โลกแบบตะโกน ถึงเวลาที่ต้องลด ละ เลิก การใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมดาที่ทำลายโลกให้แหกต่อไปเรื่อยๆ แล้วหันมาเลือกใช้ เลือกจ่าย เลือกซื้อเพื่อให้โลกได้อะไรกลับคืนไปบ้าง เช่น

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-storytelling-love-the-earth-expensive-SPACEBAR-Photo03.jpg

เลือกซื้อสินค้าที่มีการรับประกันความยั่งยืน

  • ลองมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีการรับรองจากองค์กรหรือมาตรฐานที่ชัดเจน เช่น สัญลักษณ์ออร์แกนิก, Fair Trade หรือ Zero Waste ซึ่งแสดงถึงความรับผิดชอบในกระบวนการผลิต รวมถึงการใช้วัสดุที่ยั่งยืน
  • หลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของการฟอกเขียว (Greenwashing) โดยหาข้อมูลเชิงลึกว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีมาตรการดูแลสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่

ลดการใช้สินค้าใช้แล้วทิ้ง

  • ใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้ เช่น ถุงผ้า แก้วน้ำที่ใช้ซ้ำได้ หรือหลอดดูด ที่ทำจากวัสดุยั่งยืน
  • เลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้พลาสติก เช่น สินค้าที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้

สนับสนุนแบรนด์ที่มี Storytelling ที่จริงใจ

  • เลือกซื้อจากแบรนด์ที่มีเรื่องราวน่าสนใจและดำเนินการที่มีจริยธรรมในการดูแลโลก ไม่ใช่แค่การสร้างเรื่องราวแค่เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าหรือสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี

เน้นการใช้สิ่งที่มีอยู่แล้ว

  • เมื่อสินค้าหรือของใช้ที่เรามีอยู่แล้วยังสามารถใช้งานได้ ก็ควรที่จะใช้มันไปจนกว่าจะหมดอายุการใช้งาน ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสิ่งใหม่
  • เปลี่ยนทัศนคติจาก “การซื้อเพิ่ม” มาเป็น “การใช้ให้คุ้มค่า” และลดการสะสมของสิ่งของที่ไม่ได้ใช้

ส่งเสริมการรีไซเคิลและการใช้ซ้ำ

  • หมั่นเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ หรือนำไปใช้ใหม่ได้ ซึ่งช่วยลดการเกิดขยะและการใช้ทรัพยากรใหม่ๆ
  • หากเป็นไปได้ควรเลือกซื้อสินค้าที่ใช้วัสดุที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล หรือวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่าย

รักษ์โลกไม่ได้หมายถึงการจ่ายแพงเสมอไป แต่มันคือการตัดสินใจในชีวิตประจำวันที่มีผลกระทบในระยะยาว ถ้าทุกคนเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดและเลือกซื้อสิ่งที่มีความรับผิดชอบต่อโลก ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องจ่ายแพงเกินไปและช่วยโลกได้จริงๆ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์