ตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2024 ถึงต้นปี 2025 เราได้สัมผัสกับอากาศเย็นสบายนานกว่าหลายปีที่ผ่านมา นั่นเป็นเพราะประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว (ตามปกติแบบที่ควรจะเป็น) และที่อากาศเย็นสบาย (หนาวน้อยแต่หนาวนะ) นานหน่อย ก็เพราะผลของ "ปรากฏการณ์ลานีญา" ที่แม้จะมาช้า...แต่ก็มานะ!
ทศวรรษนี้โลกของเราเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนพร้อมเปิดบันทึกหน้าในประวัติศาสตร์ใหม่ (พร้อมฉายซ้ำ) ทั้งไฟไหม้ป่า พายุถล่ม น้ำท่วมใหญ่ และคลื่นความร้อน (Heat wave) ที่คร่าชีวิตมนุษย์และสัตว์นับไม่ถ้วน

เราเคยได้ยินเรื่องของ "ลานีญา" และ "เอลนีโญ" หรือแม้แต่คำว่า "โลกร้อน" แต่จริงๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างไร? มันจะหยุดอยู่แค่นี้จริงหรือ? หรือโลกพักร้อนชั่วครู่...แล้วเราจะเจอกับอะไรต่อไป?
ในปี 2025 นี้ เราเผชิญกับ "ปรากฏการณ์ลานีญา" ราวสัปดาห์แรกๆ ของปี และกำลังจะจบลงในเร็วๆ นี้ หลายคนอาจสงสัยว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้? จะเป็นปีที่สงบสุข? หรือจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต? นี่คือเรื่องราวที่เราอยากจะเล่าให้ฟัง ผ่านข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะมาถึงและเตรียมพร้อมกับอนาคตที่ไม่แน่นอน
โลกร้อน: ปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์
หากย้อนกลับไปในปี 2024 เราจะพบว่าโลกเราได้เผชิญกับปรากฏการณ์ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เพราะสภาพอากาศสุดขั้ว ที่มีปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" เป็นหนึ่งใจปัจจัยที่ช่วยเร่งให้โลกเราร้อนทะลุขีดจำกัด โดยอุณหภูมิของโลกในปีนั้นสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสจากค่าเฉลี่ยเป็นครั้งแรก ซึ่งหมายความว่าโลกได้ก้าวเข้าสู่ภาวะที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์
ถึงขนาดที่บางสื่อรายงานว่า Paris Agreement ล้มเหลว หรือหมายถึงโลกไม่สามารถบรรลุข้อตกลงปารีสที่จัดทำขึ้นภายใต้กรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกให้ต่ำกว่าระดับ 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และความพยายามที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเพื่อป้องกันผลกระทบที่ร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศล้มเหลว ทว่า ก็เร็วไปที่จะตัดสินเช่นนั้น เพราะตามสนธิสัญญานั้นโลกต้องร้อนเกิน 1.5 องศาต่อเนื่องกันมากกว่าหนึ่งปี (เป็นการประเมินด้วยสถิติและค่าเฉลี่ย) จึงจะมีการสรุป
ที่น่าสังเกตคือ อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ไม่ได้หมายความว่าโลกจะร้อนตลอดไป เพราะเมื่อเราอยู่ใน "ภาวะเอลนีโญ" โลกจะร้อนขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ จากนั้นอุณหภูมิจะลดลงบ้าง แต่เมื่อไรที่เอลนีโญหายไป เราจะเข้าสู่ช่วง "ภาวะลานีญา" ที่ทำให้โลกเย็นลงชั่วขณะเช่นเดียวกัน พูดง่ายๆ คือโลกร้อนหรือเย็นไม่ยั่งยืน

ลานีญาคืออะไร?
ลานีญาเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกเย็นลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสลมและสภาพอากาศทั่วโลก โดยจะทำให้เกิดฝนตกหนักในบางพื้นที่ และบางครั้งก็ทำให้เกิดอุณหภูมิที่ต่ำลง ทำให้เกิดฤดูหนาวที่ยาวนานขึ้นในบางภูมิภาค
“ลานีญา คือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่วัดจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลใจกลางมหาสมุทรแปซิฟิก โดยใช้อุณหภูมิเฉลี่ยเป็นเกณฑ์กำหนด หากอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกิน 0.5 องศาเซลเซียส จะเข้าสู่ภาวะลานีญา แต่หากสูงกว่าค่าเฉลี่ยเกิน 0.5 องศาเซลเซียส จะเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ แต่ถ้าอยู่ระหว่างช่วง 0.5 ถึง -0.5องศา เรียกว่าภาวะปกติ (Neutral)”
นิยามปรากฏการณ์แบบเข้าใจง่าย โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และรองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วยให้เห็นภาพความต่างมากขึ้น

พักร้อนใกล้หมด: ลานีญาครั้งนี้มาสาย และอยู่ไม่นาน
หลายคนอาจคุ้นเคยกับการที่ "ลานีญา" จะทำให้เกิดฝนตกหนักในช่วงฤดูฝนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด ปรากฏการณ์นี้ยังส่งผลต่ออุณหภูมิทั่วโลก โดยการที่ "น้ำทะเลเย็น" ลงสามารถช่วยลดอุณหภูมิของโลกได้ชั่วขณะ ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าโลกจะได้ "พักร้อน" กับเค้าบ้าง แต่ในความจริงแล้วมันแค่เป็นช่วงที่เราได้ "หยุดพัก" จากภาวะที่ร้อนระอุ
ในปี 2025 นี้ โลกเข้าสู่ภาวะลานีญาที่ค่อนข้างอ่อน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลมีการลดลง แต่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยเดิม ซึ่งทำให้โลกไม่ร้อนเท่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้เย็นลงอย่างถาวร
ถึงแม้ว่าเราจะเห็นการปรับตัวของสภาพอากาศในบางส่วน แต่ต้องบอกว่าเราก็ยังคงเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาค หรือพายุที่มีความรุนแรงมากขึ้น เช่นเดียวกับ "Rain Bomb" ที่เกิดขึ้นในปี 2024 ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและความเสียหายรุนแรงทั่วภูมิภาคต่างๆ

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากลานีญา?
เมื่อการเข้าสู่ภาวะลานีญากำลังจะจบลงในปี 2025 เราจะเข้าสู่ "ภาวะปกติ" หรือ Neutral ซึ่งคือสภาวะที่อุณหภูมิของน้ำทะเลไม่สูงหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจนเกินไป อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในอนาคตยังไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่ชัด ว่าเราจะเจอกับอะไรในปีถัดๆ ไป
จากแบบจำลองขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA: National Oceanic and Atmospheric Administration) คาดว่าลานีญาจะอยู่กับเราถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จากนั้นอุณหภูมิผิวน้ำทะเลจะสูงขึ้นจนเข้าสู่ภาวะปกติ หมายถึงฤดูฝนยังไม่มา แต่ลานีญาก็อาจโบกมือลาไปก่อนแล้ว และเป็นลานีญาที่เบาบางมาก (ช่วงพีคจริงคือเดือนมกราคม)

จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากลานีญาจบลง
ตามแบบจำลอง หลังจากลานีญาจบ โลกเข้าภาวะปกติ 5-6 เดือน โลกเราจะเริ่มเสี่ยงต่อการโดนเอลนีโญเล่นงานอีกครั้ง อุณหภูมิผิวน้ำทะเลจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนอาจเกิน 0.5 องศาเซลเซียส และหลังจากนั้นจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิด "เอลนีโญ" ในอนาคตอันใกล้ โดยอาจเกิดขึ้นในช่วงปี 2026 หรือ 2027 ซึ่งหากเป็นเอลนีโญที่รุนแรงก็อาจส่งผลกระทบต่อโลกอย่างหนัก
จะทำอย่างไรเมื่อเอลนีโญ(กลับ)มาอีกครั้ง?
ต้องยอมรับว่า โลกเรากำลังเข้าสู่ยุคที่ไม่สามารถคาดเดาสภาพอากาศได้แน่ชัด ทุกครั้งที่เกิด "เอลนีโญ" หรือ "ลานีญา" โลกจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความร้อนและอุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างไม่แน่นอน สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่การป้องกันน้ำท่วมในเมืองต่างๆ ไปจนถึงการปรับตัวในด้านเกษตรกรรมที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้
การปรับตัวเพื่ออนาคตแบบยั่งยืน
ความท้าทายที่เราต้องเผชิญคือ การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งการลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาเกษตรกรรมที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการเสริมสร้างระบบน้ำและโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเป็นภาพใหญ่ในเชิงนโยบาย (เร่งด่วน)
ส่วนการปรับตัวระดับบุคคล ครอบครัว อยากให้เน้นเรื่องการใช้พลังงานทดแทน การปลูกต้นไม้ เรื่องของขยะ รวมถึงอาหาร และการสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกคนเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เราจะต้องทำไปพร้อมๆ กัน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของทุกคนบนโลกใบนี้ หากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ไปดูวิธีง่ายๆ ได้ที่ ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก
ท้ายที่สุดแล้ว เราไม่สามารถหยุดการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการปรับตัวและทำให้โลกของเรายั่งยืนขึ้น เราจะต้องร่วมมือกันเพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าในอนาคต ด้วยการมีความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อม และเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพราะไม่ใช่แค่เพื่อเรา แต่เพื่อคนรุ่นหลังด้วย
แม้ว่าปี 2025 นี้ โลกจะ "พักร้อน" จากภาวะเอลนีโญ (ที่จะมาถึงในไม่ช้า อาจเป็นปี 2026 หรือ 2027) แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากปีที่ผ่านมาคือ การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติไม่ได้หยุดนิ่ง และโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างไม่หยุดยั้ง ปีนี้นับเป็นเวลาที่เราต้องเร่งปรับตัวสุดขีด และต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะโลกของเราไม่เคยหยุดหมุน...และการปรับตัวคือกุญแจสำคัญในการรับมือกับสิ่งที่มาถึง