สัปดาห์นี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนปี 2568 อย่างเป็นทางการ ท่ามกลางคำถามสำคัญที่วนเวียนในใจของประชาชนว่า “ปีนี้จะ ท่วม หรือ แล้ง?” แม้ปริมาณฝนในช่วงต้นฤดูเหมือนจะตกชุก แต่ภาพรวมตลอดปีสะท้อนถึงความเปราะบางและความไม่แน่นอนของสภาพอากาศที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
ฝนปี 2568 ปริมาณเฉลี่ยใกล้เคียงค่าปกติ แต่ตกไม่สม่ำเสมอ
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปริมาณฝนรวมตลอดทั้งปี 2568 จะใกล้เคียงกับค่าปกติ โดยฝนรวมมากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 5 ช่วงต้นฤดูฝนจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 5-10
ส่วนในเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม คาดว่าจะมีฝนตกชุกที่สุดในรอบปี และมีโอกาสเกิดพายุหมุนเขตร้อน 1-2 ลูกเคลื่อนผ่านภาคเหนือและอีสาน เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกลางกรกฎาคม ประเทศไทยตอนบน ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน อาจเผชิญกับ “ฝนทิ้งช่วง” ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะในเขตนอกชลประทานซึ่งเสี่ยงเกิด “ภัยแล้งซ้ำซาก” หากไม่มีการจัดการน้ำที่ดีพอ จึงขอให้เกษตรกรและประชาชนวางแผนใช้น้ำอย่างเหมาะสม

2568 ไม่ท่วมใหญ่...แต่ใช่ว่าจะรอดจากอุทกภัย
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเตือนภัยและการจัดการน้ำ จากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุชัดว่า ปีนี้ไม่มีแนวโน้มเกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่ไม่ใช่ว่าเหตุอุทกภัยจะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะพื้นที่ไหล่เขาและชุมชนเมืองคือจุดเปราะบางที่ควรเฝ้าระวังภัยจากน้ำไหลหลาก รวมถึง “น้ำท่วมขังรอระบาย” โดยเฉพาะในเขตชุมชนเมืองของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ประกอบกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งทำให้โลกยังมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนถึงตอนนี้ ยังทำให้บางพื้นที่ของไทยจะเสี่ยงเจอฝนตกหนักฉับพลันในระยะเวลาสั้นๆ เพียงจุดเดียว หรือที่เรียกว่า ระเบิดฝน (Rain bomb) ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในบางพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ การขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างไร้ทิศทางและขาดพื้นที่สำหรับกักเก็บน้ำชั่วคราว ยิ่งทำให้ระบบระบายน้ำไม่สามารถรองรับปริมาณฝนที่ตกมากในระยะสั้นได้ จึงจำเป็นต้องวางแผนจัดสรรพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ไว้เป็น “แหล่งพักน้ำ” ก่อนเข้าสู่ระบบระบายน้ำหลัก
ทางด้านกรมชลประทาน เผยสถานการณ์น้ำปัจจุบัน ระบุว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 42,615 ล้าน ลบ.ม. หรือ 56% ของความจุอ่างรวมกัน สามารถรองรับน้ำได้อีก 33,722 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งภาพรวมสถานการณ์น้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทุกปี
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ว่าใน “ฤดูฝน” เป็นช่วงเสี่ยงภัยพิบัติที่สุด โดยประเทศไทยรั้งอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งล้วนเป็นประเทศในวงแหวนแห่งไฟแปซิฟิกที่มีแนวโน้มเกิดแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง โดยไทยเผชิญธรณีพิบัติภัยมากถึง 1,112 เหตุการณ์ในปี 2567 ที่ผ่านมา แบ่งเป็นแผ่นดินไหวถึง 947 เหตุการณ์ และเหตุการณ์แผ่นดินถล่ม-น้ำป่าไหลหลากอีก 160 เหตุการณ์ นอกจากนี้ยังพบพื้นที่เสี่ยงดินถล่มที่มีมากถึง 25% ของพื้นที่ประเทศ หรือกว่า 142,000 ตารางกิโลเมตร ทำให้ “ฤดูฝน” ไม่ใช่เพียงฤดูเกษตรหรือแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตอีกต่อไป แต่กลายเป็น “ฤดูแห่งความเสี่ยงภัย” ที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ทั้งภัยธรรมชาติแบบฉับพลัน และผลกระทบระยะยาวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
ทั้งนี้ ภัยพิบัติที่เคยเกิดเป็นข่าวห่างไกลในอดีต วันนี้กลายมาเป็นเรื่องใกล้ตัวในหลายพื้นที่ ทั้งชนบทและเขตเมือง เช่น รอยเลื่อนแผ่นดินไหวบริเวณภาคเหนือ ดินโคลนถล่มในภาคเหนือและอีสาน หรือกรณีน้ำป่าและน้ำท่วมเฉียบพลันในภาคใต้ ซึ่งบ่งชี้ถึง “ความเปราะบางเชิงภูมิศาสตร์” ที่ไม่อาจมองข้ามได้

งบประมาณ 370 ล้านบาทพอไหม? ทำได้แค่ไหน?
ด้านแนวทางการรับมือ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่ามีการเสนอการของบประมาณกลางวงเงิน 370 ล้านบาท ของกรมทรัพยากรธรณี เพื่อเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ โดยนายกรัฐมนตรีได้เซ็นต์อนุมัติแล้ว ทั้งนี้ เพื่อเสริมความสามารถในการเฝ้าระวังและรับมือภัยพิบัติ มีแผนติดตั้งเครื่องตรวจจับการเคลื่อนตัวของดิน 140 สถานีในปีนี้ (และขยายเป็น 600 สถานีในอนาคต) รวมถึงพัฒนาระบบเตือนภัยในระดับชุมชน อย่างไรก็ตาม พื้นที่เสี่ยงที่ครอบคลุมกว้างขวางทั่วประเทศ ย่อมทำให้เกิดคำถามว่า งบประมาณดังกล่าวเพียงพอหรือไม่? และสามารถนำไปใช้ได้ทันต่อสถานการณ์จริงหรือเปล่า?
ทางรอดของไทยต้องมองไกล บูรณาการ-มีส่วนร่วม-ใช้เทคโนโลยี
สำหรับการแก้ปัญหาภัยพิบัติในบริบทของสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน จำเป็นต้องวางรากฐานใหม่ที่เน้นความยั่งยืนในระยะยาว อาทิ การพัฒนาระบบเตือนภัยแบบเรียลไทม์ ด้วยเทคโนโลยี AI และการตรวจจับทางธรณีวิทยา ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการเฝ้าระวังและจัดทำแผนฉุกเฉินในท้องถิ่น ผลักดันกฎหมายกำหนดพื้นที่รับน้ำชั่วคราวในเมืองใหญ่ เพื่อรองรับน้ำฝนและป้องกันน้ำท่วมเฉียบพลัน และบูรณาการความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยเฉพาะกับประเทศอาเซียนในแนววงแหวนแห่งไฟ ซึ่งประสบภัยพิบัติคล้ายกัน
ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมรับมือฤดูฝน 2568 อย่างจริงจัง ทั้งในแง่ของการบริหารจัดการน้ำ ความร่วมมือระดับภูมิภาค และการเสริมศักยภาพท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถรับมือกับน้ำท่วม ฝนหนัก ภัยพิบัติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน
ฝนอาจไม่มาก...แต่วิกฤติยังมี บทสรุปของปี 2568
นับว่ายังโชคดีที่ประเทศไทยในปี 2568 อาจไม่ต้องเผชิญ “น้ำท่วมใหญ่” แบบที่เคยเกิดในอดีต แต่ยังมีความเสี่ยงจากฝนตกหนักเฉียบพลัน Rain bomb น้ำท่วมขังรอระบาย และฝนทิ้งช่วง ที่ต้องวางแผนจัดการให้ดี โดยเฉพาะการกักเก็บน้ำในช่วงฝนชุก เพื่อเตรียมรับมือภัยแล้งในปลายปีถึงต้นปี 2569 ซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงด้านน้ำและอาหารของประเทศในระยะยาว
ท้ายที่สุดแล้วการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่เรื่องของ “ปริมาณฝน” แต่คือเรื่องของ “ระบบและการบริหารจัดการ” ที่ต้องปรับตัวให้ทันกับธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว...และอาจสายไปที่จะย้อนกลับ