ปี 2025 ครึ่งปีแรก โลกเหมือนถูกทดสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากความปั่นป่วนของธรรมชาติ ตั้งแต่ไฟป่าพายุหิมะปกคลุมยุโรป (มกราไม่ปรานี)น้ำท่วม ไปจนถึงเหตุการณ์ที่ไม่เคยอยู่ในสมการความเสี่ยงอย่าง “อุบัติเหตุเครื่องบินตกจากหลุมอากาศ” ที่รุนแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศเตือนมานานแล้วว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของ “สภาพอากาศสุดขั้ว” หรือ Extreme Weather แต่ในปีนี้สัญญาณเตือนกลับเปลี่ยนเป็นภัยพิบัติจริงที่ปรากฏชัดใน 4 รูปแบบหลักต่อไปนี้

1. ไฟป่าภัยข้ามพรมแดน
ควันไฟจากแคนาดาถึงนิวยอร์ก สหรัฐฯ และประกาศภาวะฉุกเฉิน
ไฟป่าในแคนาดา เกิดขึ้นบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นในช่วงหลัง ล่าสุดในดือนมิถุนายน 2025 กลายเป็นประเด็นระดับโลก เมื่อควันไฟเคลื่อนตัวไกลข้ามพรมแดนมาถึงเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างนิวยอร์ก และชิคาโก จนควันพิษและ PM2.5 คละคลุ้งทั่วเมือง ส่งผลให้คุณภาพอากาศร่วงลงมาอยู่ในระดับ “อันตรายต่อสุขภาพ” เป็นเวลาหลายวัน ขณะที่ในเอเชีย เกาหลีใต้ก็เผชิญกับวิกฤตไฟป่าที่ลุกลามอย่างรุนแรงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
สาเหตุสำคัญของไฟป่าปีนี้เกิดจากอุณหภูมิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ร่วมกับความแห้งแล้งที่ยาวนาน กลายเป็นตัวเร่งให้ไฟป่าปะทุเร็วและขยายวงกว้าง ซึ่งเผาทำลายป่าไปแล้วราว 1.9–2.0 ล้านเฮกตาร์ สอดคล้องกับงานวิจัยที่ชี้ว่าไฟป่าในแคนาดา “เชื่อมโยงกับโลกร้อนแบบคู่ขนาน”
โดยภาพรวมสถานการณ์ไฟป่าในเดือนมิถุนายน 2025 สูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2023 ซึ่ง NASA ตรวจจับ Hotspot สูงถึง 4 เท่าค่าเฉลี่ยช่วงต้นมิถุนายน พบจำนวนไฟป่ากว่า 200 จุด ซึ่งในกลางปีนี้มีมากกว่าครึ่งยังไม่สามารถควบคุมได้

2. หลุมอากาศ
สภาพอากาศสุดขั้วเพิ่มโอกาสเครื่องบินตก
แม้ว่าสภาพอากาศสุดขั้วจะไม่ใช่สาเหตุโดยตรงของการเกิดเครื่องบินตก แต่อยู่ในระดับ “เพิ่มความเสี่ยง” ไฟลต์เคราะห์ร้าย ซึ่งสาเหตุมาจากพายุรุนแรง คลื่นความร้อน หรือกระแสลมแรง หรือ Jet stream ที่ผันผวนและสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางอากาศได้หลายทาง
งานวิจัยจาก University of Reading พบว่าความปั่นป่วนระดับรุนแรงเพิ่มขึ้น 55% ในแถบมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และอุณหภูมิสูงผิดปกติในชั้นบรรยากาศจาก “โลกร้อน” ทำให้ Jet stream แปรปรวนและเกิด Clear-air Turbulence มากขึ้น
ขณะที่งานวิจัยจาก Reading University พบว่า หลุมอากาศรุนแรงเพิ่มขึ้นถึง 55% ในรอบ 40 ปี สะท้อนว่าชั้นบรรยากาศโลกเริ่มไม่เสถียรจาก “โลกร้อน” ทำให้สายการบินต้องปรับตารางบินและนโยบายความปลอดภัยเครื่องบินให้รองรับสภาพอากาศสุดขั้วในอนาคต
นอกจากนี้ “พายุฟ้าคะนอง พายุเฮอริเคน พายุหิมะ” ยังเพิ่มความเสี่ยงทั้งตอนขึ้นบิน ลงจอด และขณะบินผ่านระบบพายุ โดยอาจรบกวนระบบนำทาง ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนวิถีบิน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า ดังเช่นกรณีเครื่องบินโดยสารของสายการบิน Delta ที่เกิดอุบัติเหตุขณะลงจอดที่สนามบินโตรอนโต ของแคนาดา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 จากสภาพอากาศที่มีหิมะตกหนักและลมแรง ทำให้เครื่องบินลื่นไถลขณะลงจอด มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 17 คน โดย 3 คนอาการสาหัส ขณะที่พฤษภาคม ปีที่ผ่านมา มีเที่ยวบิน SQ321 เจอกระแสลมแรงฉับพลันกลางอากาศและตกฮวบโดยไม่ทันตั้งตัว ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 บาดเจ็บกว่า 70 ราย ซึ่งเป็นภัยจาก Turbulence รุนแรงขึ้นเพราะ “โลกร้อน”
อีกทั้งผลจาก “อุณหภูมิสูงจากคลื่นความร้อน” ยังทำให้อากาศเบา แรงยกน้อยลง และเครื่องบินต้องใช้รันเวย์ยาวขึ้น หรืออาจต้องจำกัดจำนวนผู้โดยสารหรือกระเป๋าเดินทาง ส่วน “ควันจากไฟป่า” เพราะสภาพอากาศสุดขั้ว หรือ Extreme Weather ยังลดทัศนวิสัย ทำให้ระบบเซ็นเซอร์บางอย่างแสดงค่าผิดพลาด และเป็นสาเหตุของการยกเลิกเที่ยวบินหรือเปลี่ยนเส้นทางบินอีกด้วย

3. น้ำท่วมฉับพลัน
น้ำท่วมใหญ่เอเชีย ไทย จีน ปากีสถาน เท็กซัส ไม่มีใครรอดพ้นจากมรสุม
ปี 2025 ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ทั้งภาคเหนือของไทยอย่างเชียงราย น่าน เมืองอู่ฮั่น เมืองกุ้ยโจวของจีนนครมุมไบของอินเดีย พื้นที่ราบลุ่มในปากีสถาน และล่าสุดเท็กซัส ฝั่งสหรัฐฯ ต่างถูกฝนถล่มและแม่น้ำล้นตลิ่ง ทำให้น้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้ผู้คนหลายล้านคนต้องอพยพจากที่อยู่อาศัย มีผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิต บ้านเรือนและร้านรวงเสียหาย พร้อมทั้งระบบสาธารณูปโภคพังทลาย เกิดโรคติดเชื้อ โรคที่มากับน้ำ และการแพร่กระจายของสิ่งสกปรก สารเคมี รวมทั้งยาปฏิชีวนะ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว

4. คลื่นความร้อน
ยุโรปลุกเป็นไฟ เกาหลีใต้เผชิญ “เลิฟบั๊ก” ระบาดวิทยาในเมืองใหญ่
ปี 2025 ครึ่งปีแรกพบว่าอุณหภูมิในกรุงเอเธนส์แตะ 43 องศาเซลเซียสในช่วงเดือนมิถุนายน หลายประเทศในยุโรปเผชิญคลื่นความร้อน อุณหภูมิตั้งแต่ 30-50 องศาฯ เมืองเอลกรานาโดของสเปนทำสถิติใหม่อุณหภูมิสูงในเดือนมิถุนายนที่ 46 องศาฯ สาเหตุจากภาวะความกดอากาศสูงกักความร้อนผนวกกับการสะสมความร้อนในเมือง (Urban Heat Island) ขณะที่ทางเกาหลีใต้ต้องเจอกับฝูงแมลง “เลิฟบั๊ก”จำนวนมหาศาลในกรุงโซล สะท้อนความผิดปกติทางชีวนิเวศจากความร้อนผิดฤดูกาล
รายงานจาก Copernicus Climate Change Service ระบุว่า มิถุนายน 2025 เป็นเดือนมิถุนายนที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีบันทึกในยุโรป ผลกระทบที่ตามมาคือการเพิ่มภาระโรงพยาบาล ภาคพลังงานต้องรับภาระการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น และระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน
บทวิเคราะห์: “น้ำท่วมเท็กซัส” บอกอะไรเราบ้าง?
ฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันในรัฐเท็กซัส ล่าสุดมียอดผู้เสียชีวิตพุ่งถึง 78 รายและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่แค่ขนาดของพายุ แต่คือสัญญาณเตือนว่าโลกกำลังเปลี่ยนเร็วเกินที่เราจะตามทัน
ปริมาณฝนจากเหตุการณ์หนักสุดในพื้นที่นี้เพิ่มขึ้นถึง 20% ตั้งแต่ปี 1970 ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มทั่วโลก และหนึ่งในตัวการสำคัญคืออุณหภูมิผิวน้ำในอ่าวเม็กซิโกที่อุ่นผิดปกติ ทำให้พายุมีความชื้นสูงและปล่อยฝนมหาศาลในเวลาอันสั้น เป็นผลโดยตรงจาก “ภาวะโลกร้อน”
— ดร.คริสตินา ดาห์ล จาก Climate Central เผย
แม้สหรัฐฯ จะมีเทคโนโลยีพยากรณ์อากาศและระบบรับมือภัยพิบัติชั้นนำของโลก แต่เหตุการณ์นี้เผยให้เห็นช่องโหว่ที่น่าตกใจ ดาห์ลเตือนว่า “อเมริกายังไม่พร้อม” สำหรับภัยพิบัติระดับนี้ และจะยิ่งไม่พร้อมหากโลกร้อนยังดำเนินต่อไป
ขณะที่หน่วยงานสำคัญอย่าง FEMA และ NOAA กลับถูกตัดงบประมาณ กระทบทั้งการรับมือทันทีและการพยากรณ์ล่วงหน้า ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะเมื่อประเทศที่มีความพร้อมสูงยังล้มเหลว แล้วประเทศอื่นล่ะพร้อมแค่ไหน?

เมื่อภัยพิบัติไม่ใช่เรื่อง “ผิดปกติ” อีกต่อไป
เหตุการณ์หายนภัยเหล่านี้มิใช่เรื่องแปลก แต่สะท้อนถึง “ความปกติใหม่” หรือ New Normal ที่โลกร้อนกำลังนำพามาอย่างถาวร และข้อบ่งชี้ว่ามนุษย์ต้องเร่งปรับตัว (คล้ายการเกิดขึ้นของ Covid-19) โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกออกแถลงการณ์เตือนเมื่อต้นเดือนนี้ว่า “โลกยุคใหม่เริ่มแล้ว! คลื่นความร้อนจะไม่หายไป และเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน”แต่หากเรายังมองว่าเป็นเพียงเหตุการณ์ท เกิดเฉพาะจุด การปรับตัวก็จะล่าช้าเกินไป และอันตรายก็จะเพิ่มมากขึ้น
บทเรียนจากครึ่งปีแรก: เปลี่ยนวิธีคิดก่อนภัยจะเปลี่ยนโลก
การจัดการความเสี่ยงต้องคิดข้ามเส้นพรมแดน : ควันจากไฟป่าที่ข้ามประเทศ การระบาดของแมลงที่โยงกับสภาพอากาศ หรือหลุมอากาศบนเครื่องบิน ล้วนบอกเราว่า ภัยจาก “สภาพอากาศสุดขั้ว” ไม่จำกัดเฉพาะท้องถิ่นอีกต่อไป
ระบบเตือนภัยต้องแม่นยำและชัดเจนกว่าเดิม : ประเทศที่ลงทุนในระบบพยากรณ์ล่วงหน้าและแพลตฟอร์มเตือนภัยแบบเรียลไทม์ จะรับมือกับวิกฤตได้ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
ความยั่งยืนไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อม แต่คือการอยู่รอดของสังคม : นโยบายโลกร้อนต้องไม่แยกออกจากระบบสาธารณสุข การวางผังเมือง ระบบคมนาคม และการกระจายความเสี่ยงในเศรษฐกิจ
การปรับตัวเตรียมรับมือกับหายนะแบบใหม่ตามแนวทางที่ประเทศต่างๆ
หลายประเทศทั่วโลกได้ตื่นตัวและทยอยนำ มาตรการปรับตัวเชิงยุทธศาสตร์ (Climate Adaptation) มาใช้จริง เช่น
- บังกลาเทศ ลงทุนสร้างระบบเตือนภัยพายุขนาดใหญ่ (cyclone preparedness) ศูนย์พายุ แนวคันกั้นน้ำชายฝั่ง และสวนลอยน้ำ (Floating Gardens) เพื่อให้เกษตรกรหากินได้แม้เวลาน้ำท่วมอย่างหนัก
- เนเธอร์แลนด์ ใช้กลยุทธ์ Room for the River ให้แม่น้ำล้นผ่านพื้นที่โล่งแทนการสร้างเขื่อนอย่างเดียว ซึ่งช่วยลดการเกิดน้ำท่วมในเมืองได้พร้อมกับเพิ่มพื้นที่สีเขียว
- ออสเตรเลีย ติดตั้งระบบเฝ้าระวังสภาพอากาศ จัดตั้งชุมชนให้มีแผนเผชิญเหตุสุดขั้ว และเชื่อมโยงกรมพยากรณ์กับหน่วยกู้ภัยเพื่อเตือนล่วงหน้าและตอบโต้ได้เร็วขึ้น
- ญี่ปุ่น ส่งดาวเทียมดวงใหม่ ลุยภารกิจจับตาโลกร้อนอัปเดทข้อมูลแบบเรียลไทม์
เครื่องมือเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่น และระบบเตือนภัยล่วงหน้า สามารถลดผลกระทบจากภัยพิบัติ และช่วยรักษาความปลอดภัยชีวิตประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หายนะครึ่งปีแรกของปี 2025 กำลังส่งเสียงเตือนว่าโลกเข้าสู่ยุคภัยพิบัติซ้ำซาก เหมือนธรรมชาติกำลัง “เอาคืน” ต่อให้เราอยู่ห่างไกลจากพายุในเท็กซัส ไม่ได้อยู่ในเมืองที่น้ำท่วมในจีน ก็ไม่มีใครอยู่ห่างจากผลกระทบของโลกร้อนได้...แม้แต่คนเดียว