วันที่ 6 พฤษภาคมของทุกปีคือ วันงดลดอาหารสากล หรือ International No Diet Day วันที่ดูเผินๆ อาจเหมือนแค่โอกาสให้ใครหลายคน “หลุด” จากสูตรไดเอ็ทที่เคร่งครัด อารมณ์ชีทเดย์ (Cheat Day) หรือวันที่เราได้กินของที่อยากกินแบบไม่ต้องรู้สึกผิด แต่ความจริงแล้ว วัน No Diet มีจุดเริ่มต้นมาจากประเด็นทางสังคมที่ลึกซึ้งกว่านั้น
วัน No Diet ถูกริเริ่มขึ้นในปี 1992 โดย Mary Evans Young นักเคลื่อนไหวชาวอังกฤษ ที่เคยประสบกับโรคคลั่งผอม (Anorexia) เธอตั้งคำถามต่ออุตสาหกรรมความงามที่หล่อหลอมให้ผู้หญิง (และผู้ชายจำนวนมาก) ซึ่งรู้สึกผิดกับรูปร่างของตัวเอง จนนำไปสู่พฤติกรรมการกินที่เป็นอันตรายต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต
แต่ถ้าเรามองให้ลึกยิ่งขึ้นไปกว่านั้น วัน No Diet ไม่ได้แค่เปิดโอกาสให้ใครหลายคน “หลุด” จากสูตรไดเอ็ทที่เคร่งครัด แต่ยังเป็นการทบทวนว่า เรากำลังกินเพื่ออะไร และอาหารแบบไหนที่ดีจริงๆ สำหรับทั้งเราและโลกใบนี้
เมื่อค่านิยมเรื่อง “ไดเอ็ท” มีผลต่อโลกมากกว่าที่คิด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา คำว่า “ไดเอ็ท” ไม่ได้แปลว่า กินเพื่อสุขภาพ อย่างเดียวอีกต่อไป แต่มักพ่วงมาด้วยชุดค่านิยมบางอย่าง เช่น หุ่นดีคือความสำเร็จ กินคลีนเท่ากับมีวินัยในชีวิต พอความหมายของ “การกิน” ถูกโยงเข้ากับคุณค่าทางสังคม มันจึงกลายเป็นเครื่องมือของการตลาดที่ทรงพลังอย่างไม่น่าเชื่อ นี่แหละที่ทำให้ไดเอ็ทบางรูปแบบ อย่างเช่น คีโต หรือโลว์คาร์บ ซึ่งเน้นการหลีกเลี่ยงข้าว แป้ง และหันไปกินเนื้อสัตว์และไขมันมากขึ้น กลายเป็นกระแสนิยมโดยที่ผู้คนอาจไม่ทันได้ตั้งคำถามว่า การเลือกกินแบบนี้มีผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง?
สูตรไดเอ็ทหลายประเภทโดยเฉพาะที่เน้นการบริโภคเนื้อสัตว์ในปริมาณมาก มีผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการผลิตเนื้อสัตว์ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มหาศาล และการปล่อยขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ไดเอ็ทต่างๆ

การผลิต “เนื้อสัตว์” มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูงกว่าการผลิต “พืช” หลายเท่า
รู้หรือไม่ว่า อุตสาหกรรมปศุสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อวัวแสนอร่อย ปล่อยคาร์บอนฯ และเขมือบพื้นที่ป่ามหาศาล องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า การผลิตเนื้อสัตว์มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 7.1 กิกะตัน CO₂ เทียบเท่าต่อปี หรือประมาณ 14.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมด
การศึกษาโดยใช้ข้อมูลจากหลายประเทศ พบว่าการผลิตอาหารจากสัตว์ (เนื้อสัตว์, นม, ไข่) มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 57% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบอาหารทั้งหมด ขณะที่การผลิตอาหารจากพืชมีส่วนเพียง 29%
อุตสาหกรรมปศุสัตว์ส่งผลกับโลกอย่างแรง ทั้งทางตรง คือปล่อยก๊าซมีเทน (CH4) คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ สู่ชั้นบรรยากาศ ส่วนทางอ้อม คือการใช้ที่ดินเพื่อการปศุสัตว์ นั่นหมายถึงพื้นที่ของป่าจะมีน้อยลง ต้นไม้ที่เคยช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้ขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศก็ลดลง ขณะที่ปุ๋ยเคมีที่ใช้ในการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ผลิตก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ยังไม่นับรวมการแปรรูปอาหาร รวมไปถึงการขนส่ง
แถมมีความตลกร้าย อย่างการตด เรอ และของเสียจากตัวสัตว์ที่ปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งมีศักยภาพทำให้โลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20 กว่าเท่า แม้ในปัจจุบันมีวิธีการผลิตเนื้อหมูแบบออร์แกนิกที่สุด ก็ยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าพืชถึง 8 เท่า!!
\>> อ่านต่อได้ใน ฮาวทูกู้โลกรวน - วิธีที่ 2: เป็นสัตว์กินพืช (และ 'ตัวกินไก่')
ดังนั้น ถึงแม้จะดูเหมือนว่าการกินเพื่อรูปร่างที่ดีและสุขภาพที่ดีกำลังเป็นการเลือกที่ดีที่สุด แต่ถ้ามองในมุมของความยั่งยืนแล้ว การเลือกกินอาหารที่มีผลกระทบต่อโลกน้อยลง เช่น การเลือกพืชผักท้องถิ่น หรือการปรุงอาหารเองจากวัตถุดิบสดใหม่ อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และการกินที่หลากหลาย ยืดหยุ่น และไม่ยึดติดกับสูตรอาหารเฉพาะสาย อาจเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

กินอย่างไม่รู้สึกผิด = กินอย่างยั่งยืน?
หนึ่งในผลข้างเคียงของการไดเอ็ทแบบเข้มงวด คือความรู้สึกผิดที่แทรกซึมอยู่ในการกินแต่ละมื้อ เรากลัวข้าว เรากลัวของทอด เรากลัวแม้กระทั่งผลไม้บางชนิดที่มีน้ำตาลทั้งที่เป็นอาหารธรรมชาติ
เมื่อเรากินด้วยความรู้สึกผิด ความสุขในการกินหายไป และมักตามมาด้วยพฤติกรรมที่ไม่นำไปสู่ความยั่งยืน เช่น การซื้ออาหารคลีนในบรรจุภัณฑ์พลาสติกมากมาย การเทอาหารทิ้งเพราะกินไม่ได้ตามสูตร หรือการหลีกเลี่ยงอาหารพื้นบ้านที่แท้จริงแล้วดีต่อร่างกายและระบบนิเวศอย่างยิ่ง
การกลับมากินแบบไม่รู้สึกผิด ฟังดูเหมือนเรื่องส่วนตัว แต่ในภาพรวมมันช่วยให้เรากินอาหารที่หลากหลายขึ้น ลองเปิดใจให้กับเมนูที่เรียบง่าย ไม่ผ่านกระบวนการมาก ไม่ต้องขนส่งข้ามทวีป อาหารที่ไม่ต้องมีฉลากว่า “ซูเปอร์ฟู้ด” แต่ปลูกใกล้บ้าน เติบโตตามฤดูกาล และแทบไม่มีขยะเหลือทิ้ง นั่นคือหัวใจของโภชนาการแบบยั่งยืน (Sustainable Diet) ที่องค์กรอนามัยโลก และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ต่างสนับสนุน การกินที่ดีต่อสุขภาพและดีต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

ความหลากหลายของพืช กับความมั่นคงของระบบอาหาร
ไดเอ็ทที่ดีต่อโลก ไม่ได้หมายถึงการกินมังสวิรัติเสมอไป แต่หมายถึงการเพิ่มความหลากหลายของพืชในจานอาหาร ซึ่งไม่ใช่แค่การกินผักเยอะ แต่เป็นการกินผักหลายชนิดในแต่ละมื้อ ยิ่งคนกินพืชหลากหลายมากเท่าไร ยิ่งทำให้เกษตรกรปลูกพืชหลากชนิดมากขึ้น ช่วยลดการใช้สารเคมี ป้องกันการระบาดของโรคในแปลงเพาะปลูก และส่งผลดีต่อดินในระยะยาว ที่สำคัญคือช่วยสร้าง “ความมั่นคงทางอาหาร” ให้กับชุมชน
ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ของพืชผักพื้นบ้านจำนวนมาก ทั้งผักริมรั้วที่คนรุ่นใหม่อาจลืมไปแล้ว เช่น ผักแขยง ชะอม ยอดตำลึง พืชเหล่านี้ไม่เพียงปลูกง่ายแต่ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง และแทบไม่มีต้นทุนสิ่งแวดล้อมแฝง บางครั้งการเลือกกลับไปกินของเดิมที่บ้านเราปลูกเองได้ กินผำ แหนเป็ด อาจยั่งยืนกว่าการค้นหา “อาหารแห่งอนาคต” ที่ยังต้องขนส่งข้ามโลกและบรรจุในซองพลาสติก
วัน No Diet คือการขยายความหมายของคำว่า “สุขภาพดี”
คำว่า “สุขภาพดี” ไม่ได้แปลว่า “ต้องผอม” เสมอไป สุขภาพดีไม่ควรจำกัดอยู่ที่รูปร่าง น้ำหนัก หรือภาพบนโซเชียลมีเดีย แต่ควรครอบคลุมถึงความสบายใจในการใช้ชีวิต และการกินอาหารที่ดีต่อใจ ดีต่อกาย และดีต่อโลกในระยะยาว
\>> อ่านต่อได้ใน “สุขภาพดี โลกดี” คำนี้ไม่เกินจริง! รู้จัก Sustainable Wellness ความไม่มีโรค สร้างโลกให้ประเสริฐได้อย่างไร?

ดังนั้น วัน No Diet จึงไม่ใช่แค่วันปล่อยผีเรื่องอาหารการกิน แต่เป็นโอกาสที่ดีในการทบทวนว่า...เรากำลังไดเอ็ทเพื่ออะไร บางที...การกินที่ไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ต้องมีสูตรตายตัว ไม่ต้องนับแคลอรี อาจเป็นก้าวแรกของระบบอาหารที่สมดุลและยั่งยืนที่สุดก็เป็นได้