ไทยอาจเกิด ‘น้ำท่วมหนัก’ ใน 4-5 ปี จาก ‘โลกเดือด’ ชวนชุบชีวิตโลกก่อนสายเกินไป

9 มีนาคม 2567 - 09:04

Reviving-earth-pulse-finding-ways-for-sustainable-resilience-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าไทยกำลังจะประสบกับวิกฤตสภาพอากาศ อาจเกิดพายุ ฝนตกหนัก และน้ำท่วมครั้งใหญ่เร็วกว่าที่คาด

  • ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร ระบุว่าปัญหาของการสร้างความยั่งยืนคือการคอร์รัปชัน

  • ภาคอุตสาหกรรมสะท้อนปัญหารัฐบาลไม่ออกกฎหมายรองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ทันท่วงที

  • หลายบริษัทมองการบริหารเพื่อความยั่งยืนเป็นเพียงกิจกรรมระยะสั้น โดยไม่ตระหนักว่าคือการลงทุน ถือเป็นความเสี่ยงและเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน

หลายคนคงได้เห็นข่าวแล้วว่า ปี 2023 เป็นปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนที่สุดทำลายสถิติที่มีการบันทึกมา และล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดสูงกว่าเดือนมกราคมที่ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย

ความเดือดของโลกดูไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัว หรือทุเลาลงแม้แต่น้อย ที่ผ่านมาคำว่า ‘โลกร้อน’ จึงอาจไม่แรงพอให้ใครสนใจ แต่วันนี้เราเปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘โลกเดือด’ จากคำเตือนของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส ที่กล่าวว่า “ยุคแห่งโลกเดือดได้มาถึงแล้ว” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 เพราะจากการติดตามของนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศทั่วโลกพบตัวเลขอุณหภูมิที่สูงเกินพิกัดจากที่เคยคาดไว้ก่อนหน้านี้ และหายนะทางสภาพอากาศมากมายได้เกิดขึ้นแล้วทั่วโลกซึ่งไม่เคยหนักหนาแบบนี้มาก่อน ดังนั้นหลังจากนี้ยังมีหายนะที่ไม่คาดคิดรออยู่ข้างหน้า

แล้วประเทศไทยล่ะ คนไทยตระหนัก เข้าใจ เห็นความสำคัญ และพร้อมจะลงมือทำแค่ไหน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หน่วยงานและบริษัทต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดในการทำงานเพื่อปรับตัวในการเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้คนอยู่ได้ องค์กรอยู่ได้ และโลกไม่บอบช้ำไปมากกว่านี้ ในงาน Reviving Earth Pulse : NOW or NEVER 

รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้พูดถึงการฟื้นคืนกลับสู่สภาพปกติของเมือง (Resilience) การสร้างความยั่งยืน (Sustainable) และชุมชนน่าอยู่ในอนาคต (Future-Proof Livable Communities) กล่าวว่าที่ผ่านกรุงเทพมหานครเจอวิกฤตมาหลายครั้งแต่สามารถฟื้นคืนกลับสู่สภาพปกติได้ในระดับหนึ่งแต่ยังมีวิกฤตที่ยังส่งผลกระทบอยู่

สิ่งสำคัญคือการร่วมมือกันของรัฐบาล ภาคการศึกษา อุตสาหกรรม และประชาชน ปัญหาคือตอนนี้ไม่มีความสมดุลใน 4 กลุ่มนี้ เช่น พึ่งพารัฐบาลมากไป ภาคการศึกษากับรัฐบาลไม่ทำงานด้วยกัน ประชาชนไม่คิดถึงระยะยาวแต่คิดแค่ระยะสั้นเป็นหลักเพราะการเอาชีวิตรอดถึงวันพรุ่งนี้ยังเป็นเรื่องลำบาก การจะให้คิดถึง Net Zero ในอีก 30 ปีจึงคิดไม่ถึง ดังนั้นทั้งหมดนี้จึงต้องร่วมมือกันเพื่อนำไปสู่การฟื้นคืนกลับสู่สภาพปกติ

ผู้ว่าฯชัชชาติ แสดงภาพสเก็ตหนึ่งที่คนต่างสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้จนใกล้หมด เพราะคิดว่าทุกคนล้วนเป็นเจ้าของจะสูบมาใช้เท่าไหร่ก็ได้ แต่เมื่อนำภาพกลับหัวจะคล้ายกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในปัจจุบัน ไม่มีใครสนใจเพราะอากาศเป็นของทุกคนนี่คือสิ่งสำคัญต่อความยั่งยืน (Sustainable)

Reviving-earth-pulse-finding-ways-for-sustainable-resilience-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: ผู้ว่าฯชัชชาติ กับภาพคนสูบน้ำกลับหัวเป็นการปล่อยก๊าซ

“ผมเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ ผมเชื่อว่าปัญหาที่สำคัญที่สุดของความยั่งยืน (Sustainable) ของบ้านเราอาจไม่ใช่เรื่องเทคนิค แต่ Corruption Index หรือดัชนีชี้วัดการคอร์รัปชัน เป็นตัวชี้ความยั่งยืนที่ดี ผมเชื่อว่าคอร์รัปชันกับความยั่งยืนเกี่ยวข้องกัน ถ้าเรายังมีคอร์รัปชัน ยังไม่โปร่งใส ยากที่เราจะมีความยั่งยืน เพราะนโยบายจะเป็นระยะสั้น จะเน้นแต่เรื่องประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้นถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการคอร์รัปชัน เรื่องความโปร่งใส ผมเชื่อว่าเราทำเรื่องความยั่งยืนลำบาก บางทีมิตินี้ไม่ได้ถูกพูดถึง…ถ้ารัฐบาลอยากจะจริงจังเรื่องความยั่งยืน จริงจังเรื่องคอร์รัปชันด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ พูดถึงคือหลักการของกลยุทธ์ที่ดี คือ 1.วิเคราะห์ข้อมูล 2.แนวนโยบาย 3.แผนการนำไปปฏิบัติ ที่ผ่านมาปัญหาสำคัญคือมีการวางแนวนโยบายแต่ไม่นำไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง

สำหรับการสร้างชุมชนน่าอยู่ในอนาคต ผู้ว่าฯชัชาติ มองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของกรุงเทพมหานครและต่อประเทศชาติ ถ้าไม่น่าอยู่รับรองว่าไปไม่รอดในอนาคต โดยกรุงเทพมหานครได้วาง 9 นโยบายหลัก คือ สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพดี เดินทางดี ปลอดภัยดี บริหารจัดการดี สังคมดี เศรษฐกิจดี โปร่งใสดี และเรียนดี เช่นการจัดการขยะ นำมารีไซเคิล การปรับปรุงสวนสาธารณะของชุมชน การขุดลอกท่อย่อย 

โลกเดือดทำลายสถิติต่อเนื่อง

นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์อุณหภูมิโลกในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 จากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ จะทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน และทำให้วิกฤตสภาพอากาศรุนแรงขึ้น

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำงานร่วมกับ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ฉายภาพให้เห็นว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2567 อุณหภูมิโลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสูงกว่ายุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม 1.77 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ความเชื่อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลกอยู่ที่ 84% (ข้อมูลจาก Stistica 2021) ซึ่งประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ กลับเชื่อน้อย เพียง 79% (และยังมีความกังวลว่าผู้นำคนใหม่มีแนวโน้มที่จะไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้)

Reviving-earth-pulse-finding-ways-for-sustainable-resilience-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: รศ.ดร.เสรี กับภาพกราฟอุณหภูมิเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ทำลายสถิติ

ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อประชาชนในด้านชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องเผชิญกับอากาศร้อนเท่านั้น แต่ในภาคธุรกิจกำลังจะล้มละลายจากการไม่สนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้

สิ่งที่ทั่วโลกกำลังวางเป้าหมายร่วมกันคือการลดการปล่อยก๊าซเพื่อยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งจากการคาดการณ์ของ IPCC มีความเป็นไปได้ที่อุณหภูมิจะสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2040 และเกิน 2 องศาเซลเซียสภายในปี 2058 อยู่ที่ 84%

รศ.ดร.เสรี จึงมองว่ายังมีความหวังที่ทั่วโลกจะร่วมกันทำได้ โดยภาคที่มีความสำคัญที่สุดคือพลังงาน โดยเฉพาะการใช้พลังงานจากถ่านหิน ซึ่งที่ผ่านมาในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการลดใช้ถ่านหิน

ผลกระทบต่อประเทศไทย

รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิโลกสูงเกินพิกัดคือจะก่อให้เกิดภัยพิบัติทางสภาพอากาศอย่างรุนแรงซึ่งยากจะคาดการณ์และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย และผลกระทบตามมาคือความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของชาวนา ทำมากได้น้อยยังมีฐานะยากจน แม้ข้าวราคาดี ตันละ 12,000-15,000 บาทแต่ชาวนายังจน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

เมื่อจำลองความเสี่ยงและผลกระทบต่อประเทศไทย ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมาก คือ จะทำให้เกิดฝนตกหนักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และเกิดแผ่นดินทรุด เมื่อนำมารวมกันแล้วมีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมหนักคล้ายปี 2554 เร็วขึ้น ในรอบ 10 ปี จากเดิมในรอบ 50 – 70 ปี

“ผมคิดว่าใน 4 – 5 ปีนี้แหละ มันจะเกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง เราติดตามข้อมูลมาโดยตลอด”

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Reviving-earth-pulse-finding-ways-for-sustainable-resilience-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: รศ.ดร.เสรี กับภาพการคาดการณ์ปริมาณฝนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา /ระดับน้ำทะเลบริเวณประเทศไทย/ แบบจำลองน้ำท่วมหนักลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ดังนั้นการที่จะเดินไปสู่เป้าหมายของการฟื้นฟูสภาพอากาศ คือทุกคน ทุกองค์กรเริ่มวางแผนและลงมือทำ ยิ่งลงมือทำเร็วยิ่งผ่านฉากทัศน์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เร็ว ซึ่งการเปลี่ยนผ่านจะต้องมีการจ่ายภาษีคาร์บอน ตามพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภาคอุตสาหกรรมปล่อยก๊าซมากสุด

ภาคอุตสาหกรรม มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย เกือบ 70% มาจากภาคพลังงาน อีก 10.28% มาจากกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์

Reviving-earth-pulse-finding-ways-for-sustainable-resilience-SPACEBAR-Photo05.jpg
Photo: รศ.ดร.วีริศ กับภาพกราฟสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย

รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรงไฟฟ้ากำลังพยายามลดการปล่อยก๊าซ โดยกำลังศึกษาการใช้ถ่านหินควบคู่กับแอมโมเนีย และใช้ก๊าซธรรมชาติคู่กับไฮโดรเจน ซึ่งในนิคมมาบตาพุดที่เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ภายในอีก 2 – 3 ปีจะใช้ถ่านหินกับแอมโมเนีย และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะต่อท่อใต้ทะเลนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเก็บไว้ในหลุมที่เคยขุดก๊าซขึ้นมา ซึ่งจะเกิดขึ้นในอีก 13 ปีข้างหน้า ส่วนโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่จะหมดอายุสัมปทาน เตรียมพัฒนาเป็นนิคมพลังงานทดแทนสมบูรณ์แบบ

สิ่งที่น่าจะสำคัญที่สุดคือโครงสร้างและกฎหมายของรัฐ ตั้งแต่แรกเรามองว่าเรื่องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) การลดคาร์บอน เป็นสิ่งสำคัญ มีโครงการต่างๆที่เกี่ยวข้อง แต่พอจะทำมีแนวคิดกฎหมายใหญ่เกิดขึ้น แต่ยังไม่เคยเกิดขึ้นจนจะ 3 ปีแล้ว ถ้าเกิดขึ้นได้ คนที่พร้อมจะลงทุนทำโซลาร์ฟาร์ม วินด์ฟาร์ม พร้อมจะจ่ายไฟ RE 100 (พลังงานหมุนเวียน 100 %) ให้ประเทศมีอยู่แล้ว แต่กฎหมายไทยยังไม่อนุญาตให้เอกชนจ่ายไฟ RE100 เข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าของรัฐบาล”

“การนิคมอุตสาหกรรมมีโรงงานกว่า 5,000 โรงงาน เราสงสัยว่า ทั้งหมดปล่อยก๊าซมาเท่าไหร่ เราจะออกกฎหมายหรือระเบียบเหมือนคนเช็กสุขภาพได้ไหม คำตอบคือไม่ได้ เพราะกฎหมายแม่ยังไม่ออก ถ้าปลายปีนี้กฎหมายโลกร้อนออก หน่วยงานต่างๆของภาครัฐก็สามารถไปผูกกับกฎหมายแม่ได้ แล้วดึงมาใช้เป็นระเบียบต่างๆได้ ปลายปีนี้ทุกคนต้องเช็กสุขภาพตัวเอง อาจจะมี Carbon Tax (ภาษีคาร์บอน) สิ่งที่ดีอย่างหนึ่งก็คือว่าถ้าเรารู้ว่าใครปล่อยเป็นหลัก เราก็สามารถออกระเบียบเพื่อไปบังคับให้เขาพยายามลดขึ้นมาได้ มันจะเข้าสู่ Net Zero ก็ต้องรู้ว่าเขาปล่อยมาเท่าไหร่ มันยังไม่มีคำตอบนี้เลย”

บริษัทจะเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนอย่างไร

ขยับมาในภาคธุรกิจโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ ที่ถูกกำหนดให้บริหารงานโดยคำนึงถึง ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) มีข้อมูลว่าจากกว่า 800 บริษัทมีเพียงกว่า 200 บริษัทที่รายงานเกี่ยวกับความยั่งยืนและสามารถยืนยันได้เพียง 55 บริษัทเท่านั้น

อาจารย์อนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน กล่าวว่า “ปัญหาที่พบเวลาไปคุยกับบริษัทคือ เมื่อถามว่าทำไมต้องทำเรื่องความยั่งยืน 80% ตอบว่าเพราะตลาดหลักทรัพย์บังคับ ที่จริงแล้วที่ กลต.บังคับเพราะมันคือความเสี่ยง นี่คือความเข้าใจที่ต้องคุยกับผู้บริหารบริษัท”

Reviving-earth-pulse-finding-ways-for-sustainable-resilience-SPACEBAR-Photo06.jpg
Photo: อาจารย์อนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน

“เมื่อบริษัทไม่มีความเข้าใจ ไม่มีข้อมูล ไม่มีความรู้ จึงไม่นำไปสู่การบริหารจัดการแบบเชิงกลยุทธ์ เลยบริหารเป็นครั้งๆ ถูกบังคับอะไรมาก็ทำแบบนั้น ภาระที่เกิดคือเรื่องความยั่งยืนเป็นงานเพิ่ม งานฝาก งานบังคับ ไม่ใช่งานของฉัน และได้รางวัลก็พอ เพราะฉะนั้นองค์กรทำเรื่องนี้ไม่มีความยั่งยืน นี่คือปัญหาที่สำคัญ”

“หลายบริษัทบอกว่า ESG ไม่มีเงินเลยทำไม่ได้ แต่ผมอยากจะบอกว่าเราทำ ESG เพื่อให้มีเงิน มันไม่ใช่แค่เรื่องจิตสำนึก เพราะฉะนั้นเมื่อคุณทำให้มีเงินแล้วมันถึงเป็นเรื่องของความยั่งยืน อยากให้เข้าใจเสียใหม่ ถ้าไม่ทำมีปัญหา ไปต่อไม่ได้”

“ถ้าทำแล้วเกิดคุณค่า มันคือการลงทุนแต่ถ้าทำแล้วเสียเปล่ามันคือค่าใช้จ่าย เพราะฉะนั้น ESG เป็นการลงทุน”

อาจารย์อนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน

ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องผนึกกำลังจาก 3 ภาคส่วน คือ รัฐ เอกชน และประชาชน เมื่อบริษัททำก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ออกกฎหมาย ระเบียบ เมื่อร่วมกันแล้วถ้าประชาชนไม่สนใจ ไม่ซื้อสินค้าจากบริษัทก็ไม่สามารถไปต่อได้ ดังนั้นบริษัทต้องสร้างผลิตภัณฑ์และดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน รัฐบาลต้องออกกฎหมายควบคุม และประชาชนสนับสนุนสินค้าและบริการเหล่านั้นเพื่อสร้างความยั่งยืนไปพร้อมกัน

แล้วคุณล่ะ เชื่อเรื่องโลกเดือดไหม เห็นความสำคัญแค่ไหน และจะทำอย่างไร...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์