วิกฤตฝุ่นพิษ! เอเชียเจอคุณภาพอากาศแย่ติดอันดับ 100 เมืองมลพิษเยอะสุด

20 มีนาคม 2567 - 10:03

research-finds-only-10-countries-meet-who-air-quality-standard-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ประเทศส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการกำจัด ‘PM2.5’ ขององค์การอนามัยโลก

  • จากข้อมูลของ ‘IQAir’ ระบุว่า 100 เมืองที่มีมลพิษเลวร้ายที่สุดในโลกอยู่ใน ‘เอเชีย’

  • จาก 100 เมืองเหล่านี้พบว่ามี 83 เมืองอยู่ในประเทศ ‘อินเดีย’ และทั้งหมดมีคุณภาพอากาศเกินกว่าหลักเกณฑ์คุณภาพอากาศของ WHO มากกว่า 10 เท่า

เมื่อ ‘อากาศ’ ที่ใช้หายใจกลับกลายเป็นมลพิษ…วิกฤตใหญ่ที่ทั่วโลกต้องตระหนัก

รายงานฉบับใหม่เผยว่ามีเพียง 10 ประเทศจาก 134 ประเทศและภูมิภาคที่ทำการสำรวจเท่านั้น ที่ปฏิบัติตามมาตรฐานคุณภาพอากาศระดับสากล รวมทั้งปฏิบัติตามขีดจำกัดขององค์การอนามัยโลก (WHO) สำหรับการจำกัดฝุ่นละอองอนุภาคขนาดเล็กในอากาศที่ถูกขับออกจากรถยนต์ รถบรรทุก และกระบวนการอุตสาหกรรม  

10 ประเทศดังที่ว่านั้น ได้แก่ ฟินแลนด์ เอสโตเนีย เปอร์โตริโก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เบอร์มิวดา กรีเนดา ไอซ์แลนด์ มอริเชียส และเฟรนช์โปลินีเซีย

ทั้งนี้พบว่า มลพิษทางอากาศที่ร้ายแรงนั้นเลวร้ายลงในหลายพื้นที่ เนื่องจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและผลกระทบพิษจากควันไฟป่า 

งานวิจัยนี้ศึกษาเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ ‘PM2.5’ ซึ่งเป็นมลพิษที่มีอนุภาคที่สุดแต่ก็อันตรายที่สุดด้วย โดยพบว่ามีเพียง 9% ของเมืองมากกว่า 7,800 แห่งเท่านั้นที่มีคุณภาพอากาศตรงตามมาตรฐานของ WHO ซึ่งกำหนดระดับ ‘PM2.5’ เฉลี่ยต่อปีไว้ว่าไม่ควรเกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ตามรายงานของ ‘IQAir’ องค์กรคุณภาพอากาศของสวิสที่ดึงข้อมูลจากสถานีตรวจสอบมากกว่า 30,000 แห่งทั่วโลกระบุว่า “ประเทศส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานนี้สำหรับมาตรการกำจัด ‘PM2.5’ ฝุ่นละอองจิ๋วที่มีขนาดเล็กกว่าความกว้างของเส้นผมมนุษย์ เมื่อสูดดมเข้าไปอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด มะเร็ง หอบหืด โรคทางเดินหายใจอื่นๆ เป็นต้น และการเสียชีวิตมากมาย”

แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วอากาศของโลกจะสะอาดกว่าในช่วงศตวรรษที่ผ่านมามาก แต่ก็ยังมีสถานที่หลายแห่งที่ระดับมลพิษเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ตามรายงานของ ‘IQAir’ ระบุว่า “ประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดแห่งหนึ่งอย่างปากีสถานซึ่งพบว่ามีระดับ ‘PM2.5’ สูงกว่ามาตรฐานของ WHO มากกว่า 14 เท่า (ระดับปลอดภัยที่ WHO กำหนด = 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ตามมาด้วยอินเดีย ทาจิกิสถาน และบูร์กินาฟาโซ เป็นประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดรองลงมา” 

แม้แต่ในประเทศที่ร่ำรวยและกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ความคืบหน้าในการลดมลพิษทางอากาศก็ยังถูกคุกคาม อย่างเช่น  

  • แคนาดา ซึ่งถูกมองว่ามีอากาศที่สะอาดที่สุดในโลกตะวันตกมายาวนาน ก็กลับกลายเป็นประเทศที่มีฝุ่น ‘PM2.5’ เลวร้ายที่สุดในปีที่แล้ว เนื่องจากไฟป่าทำลายล้างประเทศ ส่งผลให้เกิดควันพิษกระจายไปทั่วประเทศและปกคลุมหลายพื้นที่ในสหรัฐฯ ด้วย 
  • ขณะที่ในประเทศจีน การปรับปรุงคุณภาพอากาศก็ยังคงมีความซับซ้อนในปีที่แล้ว เนื่องจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยรายงานพบว่าระดับ ‘PM2.5’ เพิ่มขึ้น 6.5%

ประเทศใน ‘เอเชีย’ ติดอันดับ ‘มลพิษทางอากาศสูงสุด’ ในปี 2023

info_research-finds-only-10-countries-meet-who-air-quality-standard.jpg

จากข้อมูลของ ‘IQAir’ ระบุว่า 100 เมืองที่มีมลพิษเลวร้ายที่สุดในโลกอยู่ใน ‘เอเชีย’ และจาก 100 เมืองเหล่านี้พบว่ามี 83 เมืองอยู่ในประเทศ ‘อินเดีย’ และทั้งหมดมีคุณภาพอากาศเกินกว่าหลักเกณฑ์คุณภาพอากาศของ WHO มากกว่า 10 เท่า 

ในปี 2023 พบว่าคุณภาพอากาศโดยเฉลี่ยในบังกลาเทศเกินหลักเกณฑ์ด้านความปลอดภัยของ WHO เกือบ 16 เท่า ทำให้บังกลาเทศกลายเป็นประเทศที่มี ‘คุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก’ ตามมาด้วยปากีสถานและอินเดีย โดยอินเดียครองอันดับ 9 ใน 10 อันดับแรกของเมืองที่มีมลพิษมากที่สุด 

รายงานยังระบุอีกว่าทั่วประเทศอินเดียประกอบด้วยประชากร 1.3 พันล้านคนหรือ 96% ใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยคุณภาพอากาศแย่ๆ แบบนี้ซึ่งสูงกว่าระดับที่ WHO กำหนดถึง 7 เท่า 

ขณะที่เอเชียกลางและเอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นภูมิภาคของประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดทั้ง 4 ประเทศในปีที่แล้ว ได้แก่ บังกลาเทศ ปากีสถาน อินเดีย และทาจิกิสถาน 

นอกจากนี้ รายงานประจำปีของ ‘IQAir’ ยังเผยว่า พื้นที่เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกเมื่อปีที่แล้วคือ ‘เมืองเบกูซาไรในอินเดีย’ วัดระดับค่าฝุ่น ‘PM2.5’ เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 118.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าระดับของ WHO ถึง 23 เท่า ขณะเดียวกันก็พบว่า ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกา ก็ยังขาดการตรวจวัดคุณภาพอากาศที่เชื่อถือได้ 

‘วิกฤตฝุ่นพิษ’ กำลังกลายเป็นปัญหาระดับโลก

มลพิษทางอากาศนั้นได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วประมาณ 7 ล้านคนต่อปี ซึ่งมากกว่าโรคเอดส์และมาลาเรียรวมกันเสียอีก

และภาวะนี้มักเกิดขึ้นหนักที่สุดในประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงสกปรกเป็นพิเศษในการทำความร้อน สร้างแสงสว่าง และการปรุงอาหารในครัวเรือน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มระดับมลพิษทางอากาศ

วิกฤตสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพอากาศ นำไปสู่ไฟป่าที่รุนแรงมากขึ้นในหลายภูมิภาค ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของลมและฝน ซึ่งส่งผลต่อการแพร่กระจายของสารมลพิษ ยิ่งอากาศร้อนจัดรุนแรงขึ้นและบ่อยครั้งขึ้นก็ยิ่งทำให้มลพิษเพิ่มขึ้น  

ในปี 2021 WHO ได้ลดแนวปฏิบัติสำหรับระดับ ‘PM2.5’ ที่ ‘ปลอดภัย’ ลงเหลือ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และด้วยมาตรการนี้ก็ทำให้หลายประเทศ เช่น ประเทศในยุโรปทำความสะอาดอากาศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ 

แต่ถึงแม้จะใช้แนวทางที่เข้มงวดกว่านี้ก็อาจไม่สามารถกำจัดความเสี่ยงของมลพิษทางอากาศที่ร้ายกาจได้ทั้งหมด งานวิจัยที่เผยแพร่โดยนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ เมื่อเดือนที่แล้วพบว่า “ไม่มีระดับ ‘PM2.5’ ที่ปลอดภัยเลย แม้แต่การสัมผัสเพียงเล็กน้อยที่สุดก็นำไปสู่การรักษาตัวในโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้นสำหรับอาการต่างๆ เช่น โรคหัวใจและโรคหอบหืด 

“น่าเสียดายที่สิ่งต่างๆ ถดถอยลงไปแล้ว…วิทยาศาสตร์ค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษทางอากาศ แต่เราก็เคยชินกับการมีมลพิษในระดับที่สูงเกินกว่าจะดีต่อสุขภาพได้ เรายังทำการปรับเปลี่ยนไม่เร็วพอ” กลอรี ดอลฟิน ฮามส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอเมริกาเหนือของ ‘IQAir’ กล่าว  

ฮามส์เสริมว่า “ประเทศต่างๆ ควรกำหนดมาตรการให้ผู้คนเดินมากขึ้นและพึ่งพารถยนต์น้อยลง แก้ไขแนวทางปฏิบัติด้านป่าไม้เพื่อช่วยลดผลกระทบจากควันไฟป่า และดำเนินการให้เร็วขึ้นเพื่อเปิดรับพลังงานสะอาดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล…”  

ขณะที่ ไอดาน ฟาร์โรว์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสด้านคุณภาพอากาศขององค์กรสิ่งแวดล้อมและสันติภาพ ‘กรีนพีซ’ (Greenpeace International) กล่าวว่า “จำเป็นต้องมีการตรวจสอบคุณภาพอากาศที่ดียิ่งขึ้นเช่นกัน…ในปี 2023 มลพิษทางอากาศยังคงเป็นหายนะด้านสุขภาพทั่วโลก ชุดข้อมูลทั่วโลกของ ‘IQAir’ เป็นเครื่องเตือนใจที่สำคัญถึงผลลัพธ์ของความอยุติธรรม และความจำเป็นในการปรับใช้แนวทางแก้ไขมากมายที่มีอยู่สำหรับปัญหานี้”  

Photo by Prakash SINGH / AFP

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์