ชีวิตดีๆ ที่(ไม่)ลงตัว รายงานความสุขไทยติดอันดับโลก แต่ความรู้สึกคนไทยยังติดลบ?

21 เม.ย. 2568 - 07:00

  • “กึ่งสุขกึ่งทุกข์” รีวิวความสุขไทยๆ แบบไม่ใส่ฟิลเตอร์ เรา(บางคน)อาจแฮปปี้แค่สงกรานต์กับวันเงินเดือนออก

ecoeyes-world-happiness-report-2025-thailand-is-happiness-up-feelings-down-SPACEBAR-Hero.jpg

ในช่วงหลายปีมานี้คำว่า “ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” กลายเป็นมีมมากกว่าความจริง ตรงกับสิ่งที่สะท้อนจากรายงานความสุขโลกประจำปี 2025 (World Happiness Report 2025) ที่มาตอบคำถามคาใจว่า คนไทยตอนนี้...สุขจริงหรือสุขปลอม?

ยังไม่ต้องรีบตอบ เพราะผลการจัดอันดับโลกครั้งนี้มีอะไรน่าสนใจมากกว่าที่คิด และเราจะมาวิเคราะห์ไปพร้อมๆ กัน

ทุกๆ ปีเนื่องในวันแห่งความสุขสากล (International Day of Happiness) เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) จะเผยแพร่รายงานความสุขโลกประจำปีที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และพันธมิตร โดยใช้ข้อมูลจาก Gallup World Poll ซึ่งเป็นผลการสำรวจจากทั้งหมด 147 ประเทศ โดยรวบรวมข้อมูลจากผู้ตอบแบบสอบถาม 1,000 คนต่อประเทศต่อปี จากการใช้วิธีคำนวณคะแนนความสุข (Happiness Score) ที่วัดค่าเฉลี่ยของคะแนนที่ประชาชนให้บนสเกล 0-10 อิงจาก Cantril Ladder (Cantril’s Self-Anchoring Scale) เป็นค่าเฉลี่ยจากช่วงเวลา 3 ปี เพื่อสะท้อนแนวโน้มที่แท้จริง พร้อมกรองอารมณ์ชั่ววูบออกไป เหลือแค่ “มวลความสุขในระยะยาว"

บอกไว้ก่อนว่าไม่ใช่แค่ความรู้สึกว่าแฮปปี้หรือไม่แฮปปี้ในแต่ละวัน แต่เกณฑ์การจัดอันดับความสุขในรายงานความสุขโลก 2025 (World Happiness Report 2025) ใช้ 6 ปัจจัยหลัก (Six Key Factors) ประกอบด้วย

  1. Social Support การสนับสนุนทางสังคม > มีคนให้พึ่งพาในยามลำบาก
  2. GDP per Capita ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว > รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรที่สะท้อนคุณภาพชีวิต
  3. Healthy Life Expectancy การอยู่ดีมีสุข > อายุขัยเฉลี่ยที่ดีต่อสุขภาพ 
  4. Freedom to Make Life Choices เสรีภาพในการตัดสินใจชีวิตตัวเอง > ความมีเสรีภาพในการเลือกชีวิต
  5. Generosity ความเอื้ออาทร > การให้และการช่วยเหลือผู้อื่น
  6. Perceptions of Corruption ความไว้ใจต่อระบบ > การรับรู้การทุจริตรัฐบาลและภาคธุรกิจ

ซึ่งผลที่ได้คือ “ฟินแลนด์” ยังครองบัลลังก์ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก 8 ปีซ้อน ขณะที่ “ประเทศไทย” ขยับขึ้นมา 9 อันดับ อยู่ที่อันดับ 49 ของโลก ด้วยคะแนนเฉลี่ย 6.22 คะแนน และนับเป็นประเทศที่มีพัฒนาการอันดับสูงที่สุดในเอเชีย

ภาพ.jpg
Photo: World Happiness Report 2025

ยุโรปโซนที่แฮปปี้ที่สุดในโลก

เราคงได้แต่นั่งอิจฉาประเทศที่คนอาบซาวน่าเป็นกิจวัตร เดินป่าเป็นงานอดิเรก และไม่มีใครกลัวว่าขอคืนภาษีจะไม่ผ่าน ใช่แล้ว ฟินแลนด์ยังคงครองอันดับ 1 ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกแบบขาดลอย ด้วยคะแนนเฉลี่ย 7.74 จากเต็ม 10 และรั้งแชมป์ประเทศที่สุขที่สุดในโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 8

ที่ตามมาติดๆ แบบทีมยุโรปยูไนเต็ดคือ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ เหมือนโลกนี้จะบอกเป็นนัยว่า “สุขนิยม” มักอยู่ในเขตอากาศหนาวจัดแต่ใจอบอุ่น ส่วนสหรัฐฯ อันดับร่วงต่ำสุดในประวัติการณ์ (ร่วงมาที่อันดับ 24 ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ จากที่เคยอยู่อันดับ 11 ในปี 2012)

ประเทศไหนทุกข์ระทมระดับโลก?

รั้งท้ายตารางปีนี้คือ “อัฟกานิสถาน” อันดับโหล่ของโลกที่มีคะแนนความสุขเฉลี่ยเพียง 1.36 ส่วนที่เหลือใน Bottom 5 ก็เป็นประเทศที่มีความไม่มั่นคงรอบด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ไม่ว่าจะเป็น เซียร์ราลีโอน (3.00) เลบานอน (3.19) มาลาวี (3.26) และซิมบับเว (3.40)

ecoeyes-world-happiness-report-2025-thailand-is-happiness-up-feelings-down-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: บรรยากาศการเล่นสงกรานต์ปี 2025 / พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์

แล้วไทยอยู่ตรงไหนของโลก?

สำหรับสยามเมืองยิ้มที่เพิ่งฉลองสงกรานต์ฉ่ำๆ ไป อยู่ที่อันดับ 49 กระโดดขึ้นจากอันดับที่ 58 มาแบบแอบเซอร์ไพรส์ และไม่ได้ขึ้นเพราะดวง แต่ขึ้นเพราะโครงสร้างบางอย่างเริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะคะแนนด้านการสนับสนุนทางสังคมที่คนไทยยังเหนียวแน่น (แบบครอบครัวละครตอนเย็น) ส่วนประเทศอื่นในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ ได้อันดับ 34 และเวียดนาม อันดับ 46

ชีวิตดีจริงหรือคิดไปเอง?

ผลสำรวจความสุขของไทยในปีที่โลกยังวุ่นวาย แบบแปลไทยเป็นไทยก็คือ แม้เงินเดือนจะยังเท่าเดิม น้ำมันจะแพง อากาศจะร้อนเหมือนอยู่ในเตาอบ แต่สังคมรอบข้างที่โอบล้อมพูดให้กำลังใจหนึ่งประโยค ก็กลายเป็นพลังบวกที่ทำให้เรายังรู้สึกว่า “โอเค...อยู่ได้”

ecoeyes-world-happiness-report-2025-thailand-is-happiness-up-feelings-down-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: บรรยากาศการเล่นสงกรานต์ปี 2025 / ณัฐพล โลวะกิจ

ไทยแลนด์ดินแดนแห่งความสุขที่ไม่เท่ากัน (แต่ยังมีหวัง)

ประเทศไทยได้คะแนนเฉลี่ย 6.22 พอจะบอกได้ว่าเรายังอยู่ในโซน “กลางๆ” ของโลก แต่ลึกๆ ในแต่ละปัจจัย มันคือความสุขที่ไม่กระจายอย่างเท่าเทียม อาทิ

  • คะแนนเรื่องการสนับสนุนทางสังคมสูงมาก แต่เสรีภาพในการเลือกชีวิต อยู่ที่อันดับ 121
  • ความเชื่อมั่นในระบบ ติดอันดับ 83 ส่วนด้านเศรษฐกิจ (GDP) ก็กึ่งๆ ยังไม่ฟื้นเต็มตัว
  • สำหรับเรื่องที่น่าห่วงของคนไทยคือ อายุขัยอย่างมีสุขภาพดีลดลงแบบมีนัยสำคัญ นั่นแปลว่าแม้คนไทยจะอายุยืนขึ้น แต่สุขภาพกลับแย่ลง

ฟังดูเหมือนเรากำลังใช้ “ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล” พยุงชีวิตให้ไปรอด ในขณะที่ “ระบบสาธารณะ” ยังไม่สามารถแบกรับน้ำหนักความสุขของประชาชนได้เต็มที่

แล้วเรื่องนี้เกี่ยวกับความยั่งยืนอย่างไร?

ประเด็นความสุขใน World Happiness Report 2025 เปรียบเหมือนกระจกสะท้อนเรื่องของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ  หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่มีทั้งหมด 17 เป้าหมายใหญ่ เพื่อทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นสำหรับทุกคนภายในปี 2030

พูดง่ายๆ คือ SDGs คือเช็กลิสต์ระดับโลกที่ทุกประเทศ ต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแน่นอนว่าต้องมีเรื่องของ “คุณภาพชีวิตและความสุขของผู้คน”

ทุกประเด็นที่กล่าวใน World Happiness Report 2025 จึงเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะความยั่งยืน (SDGs) ไม่ใช่แค่เรื่องปลูกต้นไม้หรือรีไซเคิล แต่มันคือการทำให้คนอยู่ได้ดีในทุกด้าน “ยาวนาน” และ “เท่าเทียม” รวมถึงต้อง ส่งต่อ ทั้งหมดนี้ให้คนรุ่นถัดไป

ดังนั้น ถ้าจะให้โยงเข้ากับ SDGs เข้ากับรายงานนี้ เราอาจต้องใช้คำว่าเป้าหมายโลกของไทยยัง “กึ่งสุขกึ่งทุกข์” อยู่ เนื่องจาก

  • SDG 3: สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี อันดับสุขภาพของไทยลดลงแบบน่าห่วง ถึงแม้จะอายุยืนขึ้น แต่ถ้าป่วยง่าย เครียดง่าย และนอนไม่พอ ก็ไม่ถือว่าเป็นการมีชีวิตที่ “สุข” จริง
  • SDG 8: งานที่มีคุณค่าและเศรษฐกิจที่เติบโต รายได้ต่อหัวของคนไทยยังอยู่ในระดับกลางๆ แปลว่าค่าครองชีพยังเล่นมุก “เงินเดือนออกวันนี้ ใช้พรุ่งนี้หมด” ได้อยู่ทุกเดือน
  • SDG 10: ลดความเหลื่อมล้ำ ความสุขของคนไทยไม่ได้กระจายเท่ากันทั้งประเทศ คนเมืองอาจมีคาเฟ่ให้หนีไปหาความสงบในวันเหนื่อยใจ แต่คนชนบทล่ะ?
  • SDG 16: สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง คะแนนด้าน “ความไว้ใจต่อระบบ” ของไทยยังต่ำ จนคนเริ่มมีคำถามว่าเชื่อได้แค่ไหนกับระบบที่ควรดูแลเรา?

สิ่งที่รายงานความสุขโลกสื่อออกมาไม่ได้มีแค่ “ใครแฮปปี้ที่สุดในโลก” แต่กำลังกระซิบกับเราเบาๆ ว่า โครงสร้าง ของความสุขเรายังบอบบาง พอเจอแรงสั่นสะเทือนอย่างโควิด น้ำท่วม แผ่นดินไหว ค่าครองชีพ หรือความไม่แน่นอนทางการเมืองเข้าไปก็อาจพังได้ง่ายๆ คล้าย “ตึก สตง.ถล่ม”

แล้วความสุขแบบ “กึ่งสุขกึ่งทุกข์” ของไทยที่แฮปปี้ปีละไม่กี่ครั้ง (ตอนเงินเดือนออกกับสงกรานต์) ใครจะมาแก้ไขหรือทำให้เราสุขนิยม(ยั่งยืน)กว่านี้…คำถามนี้ยังไม่มีใครตอบได้ แต่ปีหน้ารายงานฉบับใหม่จะกลับมาอีกครั้ง พร้อมคำตอบจากสิ่งที่เราทำตั้งแต่วันนี้

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์