กางเกงในแม่มด (Witches’ Knickers) สแลงยั่วๆ ของถุงพลาสติกที่ติดกิ่งไม้

30 ม.ค. 2568 - 04:46

  • ถ้าเรายังใช้พลาสติกเหมือนเดิม ภายในปี 2050 ทะเลจะมี “พลาสติก” มากกว่า “ปลา”

  • ด้วยปริมาณขยะถุงพลาสติกที่มากมายและปลิวว่อนติดพุ่มไม้ รั้ว สายไฟ ทำให้ชาวไอริชคิดสแลง “Witches’ Knickers” หรือ “กางเกงในแม่มด”

  • อนามัยโพล สำรวจหัวข้อ “พฤติกรรมการใช้พลาสติก” พบคนไทยร้อยละ 7 ใช้พลาสติกมากกว่า 7 ชิ้นต่อวัน

ecoeyes-witches-knickers-plastic-bag-slang-2-SPACEBAR-Hero.jpg

ถุงพลาสติก ไอเทมสามัญที่แจกจ่ายกันตามท้องตลาดยันห้างร้าน สร้างปัญหามากมายให้กับสิ่งแวดล้อม สะสมมาตั้งแต่ปี 1962 ที่มีการจดสิทธิบัตร “ถุงก๊อบแก๊บ” ถุงอเนกประสงค์ที่จะมาเป็นตัวตายตัวแทนของถุงกระดาษ ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในอดีต ด้วยน้ำหนักที่เบา เนื้อเหนียว ทนทาน และหลักใหญ่ใจความสำคัญก็เพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่า

ecoeyes_how_to_heal_the_planet_7re_reduces_microplastics_SPACEBAR_Photo01.jpg

มีข้อมูลที่น่าตกใจจาก World Economic Forum เผยว่า ถ้าเรายังใช้พลาสติกเหมือนเดิม ภายในปี 2050 (เบญจเพสของเด็ก Gen Beta) ในทะเลจะมี “พลาสติก” มากกว่า “ปลา” เสียอีก

ecoeyes-witches-knickers-plastic-bag-slang-2-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ขยะถุงพลาสติกที่ปลิวมาติดตามพุ่มไม้ รั้วลวดหนาม สายไฟ ทำให้ชาวไอริช คิดสแลงล้อเลียนว่า “Witches’ Knickers” หรือ “กางเกงในแม่มด”

ที่มาสมญา “กางเกงในแม่มด”

ด้วยปริมาณขยะถุงพลาสติกที่มากมายและปลิวว่อนติดตามพุ่มไม้ รั้วลวดหนาม สายไฟ ทำให้ชาวไอริช คิดสแลงเรียกเจ้าขยะถุงพลาสติกที่ลอยเคว้งในทำนองล้อเลียนว่า “Witches’ Knickers” หรือแปลเป็นไทยว่า “กางเกงในแม่มด” สะท้อนถึงเรื่องราวของปัญหามลพิษและวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single Use Plastic) จากนั้นไม่นาน ประเทศไอร์แลนด์ก็รณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง

นอกจากไอร์แลนด์แล้ว ที่แอฟริกาใต้ก็มีถุงพลาสติกจำนวนมากเกลื่อนกลาดลูกตา จนมีการเปรียบเทียบเชิงตลกขบขันว่าถุงพลาสติกเหล่านั้นคือ “ดอกไม้ประจำชาติพันธุ์ใหม่”

ขณะที่ประเทศไทยเราก็น่าจะมีคำเรียกหรือฉายาอยู่บ้าง (แต่ยังนึกไม่ออก)

ecoeyes-witches-knickers-plastic-bag-slang-2-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: กรมควบคุมมลพิษ เผยคนไทยใช้ถุงพลาสติก 4.5 หมื่นล้านใบต่อปี

คนไทยใช้ถุงพลาสติก 4.5 หมื่นล้านใบต่อปี 

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ที่เก็บสถิติการใช้ถุงหูหิ้ว ปี 2016 พบว่าประเทศไทยใช้ถุงพลาสติก 45,000 ล้านใบต่อปี  

  • 40% (18,500 ล้านใบ) มาจากตลาดสดและร้านค้าแผงลอย 
  • 30% (13,500 ล้านใบ) มาจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ 
  • 30% (13,500 ล้านใบ) มาจากร้านขายของชำทั่วไป

ขณะที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการสำรวจอนามัยโพล หัวข้อ “พฤติกรรมการใช้พลาสติก” (พฤษภาคม 2024) ด้วยคำถามที่น่าสน ดังนี้ 

ใน 1 วัน คุณใช้พลาสติกชนิดใดบ้าง ? คำตอบที่ได้คือ

  • ถุงพลาสติกหูหิ้ว 292 คน (ร้อยละ 72.64) 
  • ขวดน้ำพลาสติก 232 คน (ร้อยละ 57.71) 
  • หลอดพลาสติก 175 คน (ร้อยละ 43.53) 
  • ถุงพลาสติกร้อน/เย็น 153 คน (ร้อยละ 38.06) 
  • แก้วน้ำพลาสติก 97 คน (ร้อยละ 24.13) 
  • กล่องข้าวพลาสติก (ใช้แล้วทิ้ง) 82 คน (ร้อยละ 20.40) 
  • ช้อนส้อมพลาสติก 66 คน (ร้อยละ 16.42) 
  • อุปกรณ์พลาสติกในห้องน้ำ 51 คน (ร้อยละ 12.69) 
  • ถุงซิปล็อกพลาสติก 37 คน (ร้อยละ 9.20) 
  • กล่องโฟม 36 คน (ร้อยละ 8.96) 
  • ไม่ใช้พลาสติกประเภทใดเลย 17 คน (ร้อยละ 4.23) 
  • อื่นๆ 3 คน (ร้อยละ 0.75)

จากผลสำรวจจะเห็นได้ว่า ถุงพลาสติกหูหิ้วและขวดน้ำพลาสติกเป็นสิ่งที่ใช้กันมากที่สุดในชีวิตประจำวัน ขณะที่มีผู้ตอบที่บอกว่าไม่ใช้พลาสติกประเภทใดเลยมีเพียงร้อยละ 4.23 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาพลาสติกในชีวิตประจำวันอย่างสูง

ปริมาณพลาสติกที่ใช้ใน 1 วัน (เฉพาะผู้ที่ตอบว่าใช้พลาสติก)

จากผู้ตอบแบบสำรวจ 369 คน ที่ตอบว่ามีการใช้พลาสติก เมื่อถามถึงปริมาณพลาสติกที่ใช้ ใน 1 วัน พบว่าปริมาณการใช้พลาสติก เป็นดังนี้ 

  • 1-2 ชิ้นต่อวัน ร้อยละ 49 
  • 3-4 ชิ้นต่อวัน ร้อยละ 27 
  • 5-6 ชิ้นต่อวัน ร้อยละ 17 
  • 7 ชิ้นต่อวันขึ้นไป ร้อยละ 7
ecoeyes-witches-knickers-plastic-bag-slang-2-SPACEBAR-Photo03.jpg

คุณรับภาชนะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวจากแหล่งใดบ้าง

  • ร้านสะดวกซื้อ  172 คน (42.79%)
  • ร้านอาหาร 169 คน (42.04%)
  • ร้านกาแฟ  136 คน (33.83%)
  • ตลาด/รถพุ่มพวง  136 คน (33.83%)
  • ร้านขายของชำ 125 คน (31.09%)
  • หาบเร่/แผงลอย  93 คน (23.13%)
  • ร้านอาหารเดลิเวอรี  90 คน (22.39%)
  • ห้างสรรพสินค้า/ซุปเปอร์มาร์เก็ต  71 คน (17.66%)

เมื่อคุณใช้พลาสติกเสร็จแล้ว คุณจัดการกับพลาสติกเหล่านั้นอย่างไร

  • เก็บไว้ใช้/ขาย  255 คน (63.43%) 
  • แยกทิ้งในถังที่จัดไว้ให้  158 คน (39.30%) 
  • ทิ้งรวมกับถังขยะทั่วไป  116 คน (28.86%) 
  • กำจัดด้วยการเผาบริเวณบ้าน  15 คน (3.73%) 
  • อื่นๆ  14 คน (3.48%)

คุณช่วยลดขยะพลาสติกในแต่ละวันอย่างไรบ้าง

  • ใช้ ถุงผ้า ใส่ของเมื่อไปตลาด ร้านค้า ฯลฯ  269 คน (66.92%) 
  • ใช้แก้วน้ำ ภาชนะส่วนตัว แทนการใช้พลาสติก  260 คน (64.68%) 
  • คัดแยกขยะพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิล  242 คน (60.20%) 
  • ปฏิเสธ ไม่รับถุงพลาสติก  197 คน (49%) 
  • นำภาชนะบรรจุอาหารกลับมาใช้ซ้ำหรือนำไปรีไซเคิล  188 คน (46.77%) 
  • งดใช้หลอดพลาสติก ช้อน ส้อมพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว  144 คน (35.82%) 
  • เลือกซื้ออาหารในบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่/รีไซเคิลได้ เช่น แก้ว กระป๋อง ขวด  124 คน (30.85%) 
  • ซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีบรรจุภัณฑ์น้อยที่สุด เพื่อลดขยะจากบรรจุภัณฑ์  103 คน (25.62%) 
  • จัดอาหารว่าง อาหารกลางวัน ที่ทำงาน ด้วยภาชนะใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้  101 คน (25.12%) 
  • สนับสนุนผู้ผลิต ธุรกิจที่ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก  71 คน (17.66%) 
  • อื่นๆ  4 คน (1%)

พลาสติกเป็นสาเหตุหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของภาวะโลกเดือด จริงหรือไม่?

  • ตอบว่า “จริง” 391 คน (97.26%)
  • ตอบว่า “ไม่จริง” 11 คน (2.74%)
ecoeyes-witches-knickers-plastic-bag-slang-2-SPACEBAR-Photo04.jpg

ใครอ่านมาถึงตอนจบคงอยากสยบพฤติกรรมใช้แล้วทิ้ง! โละวัฒนธรรมการทิ้งขว้างที่ทำให้โลกเดินทางมาถึงขอบเหวเพราะวิกฤตพลาสติกล้นโลก ลองเปลี่ยนมาใช้ “ถุงผ้า” ดูเพิ่มเติมได้ในฮาวทูกู้โลกรวน - วิธีที่ 7: ถุงผ้า (อยากใช้...แต่ลืมไว้ในรถ) และปรับไลฟ์สไตล์ให้อยู่ดี กรีนดี ด้วยการตั้ง New Year’s Resolutions 2025 ไม่ยากหรอกเชื่อสิ เราทำได้!!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์