ใครจะไปคิดว่าโลกร้อนคืบคลานเข้ามาใกล้ตัวเรามากกว่าที่เราคิด ไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์เกาะความร้อน หรือเพิ่มความรุนแรงของ “ฟ้าผ่า” แต่ลามถึง “กล้วย” อาหารเช้าที่เราหยิบในร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งอนาคตผลไม้ที่อุดมด้วยประโยชน์และเป็นที่โปรดปรานอาจไม่ใช่แค่ของกินราคาย่อมเยา แต่กลายเป็นสัญลักษณ์ของระบบอาหารที่กำลังแตกร้าวภายใต้แรงกดดันจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ในโลกที่อุณหภูมิกำลังเพิ่มสูงขึ้นและความผันผวนของสภาพอากาศกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ วันนี้ “กล้วย” ผลไม้ที่หลายคนมองว่าแสนธรรมดากำลังเผชิญกับวิกฤตที่อาจพลิกโฉมระบบอาหารโลกอย่างเงียบๆ
รายงานล่าสุดจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน Christian Aid ที่มีชื่อว่า “Going Bananas: How Climate Change Threatens the World’s Favourite Fruit” ได้เปิดเผยข้อมูลชวนตระหนกว่า พื้นที่ปลูกกล้วยในภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียนกว่า 2 ใน 3 อาจไม่เหมาะต่อการเพาะปลูกอีกต่อไปภายในปี 2080 หากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังดำเนินต่อไปในทิศทางเดิม

กล้วยไม่ใช่แค่ผลไม้ แต่เป็นพืชที่หล่อเลี้ยงคนทั่วโลก
แม้กล้วยจะถูกมองเป็นผลไม้ราคาถูก หาง่าย และไม่ได้หรูหราในสายตาคนเมือง แต่ในหลายภูมิภาคของโลก กล้วยคือแหล่งอาหารหลัก เป็นแหล่งพลังงานที่ผู้คนมากกว่า 400 ล้านคนพึ่งพาในแต่ละวัน โดยคิดเป็น 15-27% ของปริมาณแคลอรีที่บริโภคต่อวันในบางประเทศ
กล้วยยังเป็นพืชอาหารที่สำคัญเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก ข้าวสาลี ข้าว และข้าวโพด และประมาณ 80% ของกล้วยทั่วโลกนั้นใช้บริโภคภายในประเทศ ไม่ใช่เพื่อการส่งออก นั่นหมายความว่ากล้วยไม่ใช่แค่สินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่คือเส้นชีวิตของผู้คนในประเทศกำลังพัฒนา
สำหรับประเทศไทยผลิตกล้วยมากเป็นอันดับ 20 ของโลก ราว 1,075,000 ตันต่อปี โดยไทยส่งออกกล้วยเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ และเป็นอันดับที่ 18 ของโลก
เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยน “กล้วย” ก็ไม่เหมือนเดิม
รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า “กล้วย” โดยเฉพาะพันธุ์คาเวนดิช ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในการส่งออกทั่วโลก มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมอย่างมาก ขณะที่พืชชนิดนี้ต้องการอุณหภูมิในช่วง 15-35 องศาเซลเซียส และน้ำในปริมาณพอเหมาะ มากไปก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ดี แต่ภายใต้อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น สภาพอากาศสุดขั้ว ฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ ปัญหาคลื่นความร้อน พายุที่รุนแรงขึ้น รวมถึงศัตรูพืชที่แข็งแกร่งขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ส่งผลให้กล้วยกำลังสูญเสียศักยภาพในการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งยังตกเป็นเป้าของโรคพืชที่รุนแรงและแพร่กระจายมากขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศชื้นและอุณหภูมิอุ่นขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โรคร้ายที่มาพร้อมโลกร้อน
หนึ่งในโรคร้ายที่คุกคามสวนกล้วยคือ “แบล็กลีฟฟังกัส” (Black Leaf Fungus) ซึ่งสามารถลดความสามารถในการสังเคราะห์แสงของต้นกล้วยได้ถึง 80% และมักแพร่ระบาดในสภาพที่เปียกชื้นจากฝนตกหนักหรือความชื้นสะสม
ขณะเดียวกัน โรคเชื้อราในดินอย่าง “ฟิวซาเรียม TR4” (Fusarium Tropical Race 4) ก็ถือเป็นภัยเงียบแต่ร้ายแรง เพราะสามารถลุกลามไปทั่วแปลงปลูกและทำลายต้นกล้วยพันธุ์คาเวนดิชได้ทั้งสวน ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ ยังไม่มีวิธีรักษา หากพบการระบาด เกษตรกรต้องตัดต้นไม้ทั้งแปลงและไม่สามารถปลูกซ้ำในพื้นที่เดิมได้ง่ายๆ
ความเปราะบางของพันธุ์คาเวนดิช สะท้อนความจริงอันน่ากังวลอีกประการ นั่นคือความหลากหลายทางพันธุกรรมในพืชอาหารของโลกกำลังลดลง และทำให้ระบบอาหารของมนุษย์เปราะบางมากกว่าที่คิด
เกษตรกรผู้ปลูกกล้วย เหยื่อโลกร้อนที่ไม่ใช้ตัวการก่อปัญหา
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนเรื่องของความเหลื่อมล้ำจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ คือเกษตรกรในบางประเทศอย่าง กัวเตมาลา คอสตาริกา และโคลอมเบีย ซึ่งเป็นแหล่งปลูกกล้วยหลักของโลก แท้จริงเป็นกลุ่มประเทศที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศโลกพัฒนาแล้ว แต่กลับต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตภูมิอากาศอย่างหนักหน่วงและหลีกเลี่ยงไม่ได้
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทำลายพืชผลของเรา ซึ่งหมายความว่าเราไม่มีรายได้เพราะขายอะไรไม่ได้ พืชผลในสวนของฉันตายหมดแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ความตาย”
— เกษตรกรชาวสวนกล้วยในกัวเตมาลาให้สัมภาษณ์กับนักวิจัยของ Christian Aid
เสียงสะท้อนจากพื้นที่เหล่านี้ คือเครื่องเตือนใจว่าวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เพียงปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ชี้ให้เห็นแล้วว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศ กำลังกระทบความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals-SDGs) โดยเฉพาะใน SDG เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger)
ทั้งนี้ ในรายงานของ Christian Aid ได้เสนอข้อเรียกร้องที่ชัดเจนต่อประเทศร่ำรวยและอุตสาหกรรมหลักที่ปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก ได้แก่ เร่งยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเป็นรูปธรรม การจัดหาเงินทุนและเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของประเทศที่เปราะบาง การส่งเสริมความหลากหลายทางพันธุกรรมในกล้วยและพืชอาหารอื่นๆ รวมถึงการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้
สุดท้าย “กล้วย” อาจไม่ใช่แค่ผลไม้ ไม่ใช่แค่มื้อเช้า แม้ว่าวันนี้หรือพรุ่งนี้จะยังมีกล้วยให้ซื้อมาประทังความหิว แต่ถ้าเราไม่เริ่มฟังเสียงของธรรมชาติ เสียงของเกษตรกร และเสียงของความเปราะบาง วันหนึ่ง “กล้วย” จะไม่ใช่ “ปัญหากล้วยๆ”...และเราในฐานะเจนเนอเรชั่นสุดท้ายที่จะหยุดเรื่องนี้ได้ อาจเป็นกลุ่มคนรุ่นสุดท้ายที่ได้ลิ้มรสชาติของกล้วยก็เป็นได้