ฮาวทูกู้โลกรวน - วิธีที่ 17: ตรุษจีนกรีนบ้างก็ได้ (เพราะตอนนี้แดงมากไปแล้ว!)

27 ม.ค. 2568 - 12:28

  • “ตรุษจีน” จากประเพณีที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ถูกจิตวิญญาณของการทำให้สมฐานานุรูป (ยิ่งรวยยิ่งอลัง) บดบังจนไม่เหลือเค้าเจตจำนงเดิม

  • โลกร้อนขึ้นเพราะ “วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว” ช่วงเทศกาลตรุษจีนจริงหรือ?

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-celebrate-green-chinese-new-year-SPACEBAR-Hero.jpg

ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก

วิธีที่ 17 : ตรุษจีนกรีนบ้างก็ได้ (เพราะตอนนี้แดงมากไปแล้ว!)

ชุดไม่แดง...ไม่มีแรงเดิน การเซ่นไหว้บรรพบุรุษแบบเดิมๆ เพิ่มมลพิษให้โลก

แนะนำ : จ่าย-ไหว้-เที่ยว แบบ Eco-Friendly ทำตรุษจีนปีนี้ให้ดีต่อใจแถมดีต่อโลก

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-celebrate-green-chinese-new-year-VIBE-FBPost.jpg

WHAT (เกิดอะไรขึ้นอ่ะ?)

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้...

วันตรุษจีนเวียนกลับมาใหม่ในทุกๆ ปี (เช่นเดียวปัญหาฝุ่น PM2.5 นั่นแหละ) ช่วงเทศกาลที่เราเห็นครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนต่างสืบสานวัฒนธรรมอันดีที่สะท้อนถึงความเคารพต่อบรรพบุรุษและเทพเจ้า ทุกบ้านต่างตระเตรียมขนมหวานและอาหารจานใหญ่ไว้เซ่นไหว้ พร้อมอิ่มเอมกับห้วงเวลาที่เต็มไปด้วยความอภิรมย์

วันตรุษจีนมีมาตั้งแต่สมัยโบราณราว 4,000 ปีที่แล้ว ในอดีตเรียกว่า วันชุงเจ๋ ซึ่งหมายถึงเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ แสดงถึงการเริ่มต้นกลับมาเพาะปลูกพืชพรรณธัญญาหารได้อีกครั้ง หลังภูมิประเทศถูกปกคลุมไปด้วยหิมะในช่วงฤดูหนาวที่ไม่สามารถทำการเกษตรเพื่อผลิตอาหารได้ บ่งบอกถึงการให้ความสำคัญเรื่องฤดูกาลเพาะปลูก และการดำเนินชีวิตที่ผูกติดกับธรรมชาติ

economic_business_thai_chinesenewyear_location_experience_culture_SPACEBAR_Hero_082df4af57.jpg

หลายพันปีหมุนผ่าน การเฉลิมฉลองวิวัฒน์ไปตามกาลเวลา แปรเปลี่ยนมาเป็นสัญลักษณ์วันขึ้นปีใหม่ ที่ฉลองใหญ่กันเกือบครึ่งโลก แสงสีเสียง โคมไฟ ประทัด การจับจ่ายใช้สอย พิธีเซ่นไหว้ สรรพอาหารกองโต การเผาเพื่อส่งของไปให้บรรพบุรุษ และการเดินทางท่องเที่ยวเกิดขึ้นทุกปี จากประเพณีที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ จึงถูกจิตวิญญาณของการทำให้สมฐานานุรูป (ยิ่งรวยยิ่งอลัง) บดบังจนไม่เหลือเค้าเจตจำนงเดิม

คำถามคือ...คนเราฉลองหนัก จนลืมโลกใช่ไหม?

WHY (ทำไมโลกร้อนล่ะ, เกี่ยวไร?)

คำตอบคือ เราไม่ได้ตั้งใจทำให้โลกร้อนขึ้น หรือหลงลืมโลกหรอก แต่กิจกรรมต่างๆ ที่เราทำสืบทอดกันมา อย่างการซื้อชุดใหม่ การเผากระดาษเงิน กระดาษทอง จุดธูปเซ่นไหว้บูชาเทพเจ้า การใช้พลาสติก หรือแม้แต่การรื่นเริงจากเสียงและควันของประทัด ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อโลก

did_you_know_chinese_new_year_hell_money_SPACEBAR_Photo12_71a5c295ed.jpg

โลกร้อนขึ้นเพราะ “วันจ่าย”

ทุกการซื้อคือการใช้ “พลาสติก” วันจ่ายเราต้องเตรียมอาหาร-ของไหว้ การจับจ่ายซื้อของในวันจ่ายนี่แหละที่สร้างขยะมหาศาล ทั้งถุงและบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร ตามรายงานจาก United Nations Environment Programme (UNEP) ในปี 2021 พบว่า พลาสติกที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารและของขวัญต่างๆ ในช่วงเทศกาลเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ขยะพลาสติกในโลกเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งถุงพลาสติก พลาสติกห่ออาหาร และโฟมรองอาหารกว่า 80% ที่ใช้ในเทศกาลตรุษจีนจะถูกทิ้งหลังการใช้งานเพียงครั้งเดียว และใช้เวลากว่าย่อยสลายอีกหลายร้อยปี ในขณะที่เราใช้ถุงพลาสติกโดยเฉลี่ยเพียง 12 นาทีเท่านั้น 

นอกจากนี้ เทศกาลตรุษจีนยังสร้างขยะพลาสติกมากถึง 1.4 ล้านตัน โดยเฉพาะจากซองใส่เงิน (อั่งเปา) ซึ่งมีประมาณ 2 พันล้านใบต่อปี

475261843_660253023175924_2049232278105567674_n.jpg

ไม่ใช่แค่ของไหว้ แต่เครื่องแต่งกายตามธรรมเนียมจีนก็ต้องเป็น “ของใหม่” เพื่อความโชคดีมีชัย เราจึงเห็นเสื้อแดง ชุดแดง กี่เพ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้า Fast Fashion วางขายกันเป็นตับ แล้วชุดเก่าที่ใส่แค่ครั้งเดียวเมื่อปีที่แล้ว…ไปไหนล่ะ?

ผลสำรวจพบว่า คนไทย 40% ทิ้งเสื้อผ้าหลังใส่เพียงครั้งเดียว และสร้างขยะสิ่งทอราว 300,000 ตันต่อปี ส่วนในระดับโลก ข้อมูลจาก World Economic Forum เผยว่าทั่วโลกมีขยะสิ่งทอมากกว่า 92 ล้านตันต่อปี! 

...ชุดแดงตรุษจีนปีที่แล้วรวมอยู่ในนี้ด้วยใช่ไหม!!

โลกร้อนขึ้นเพราะ “วันไหว้”

ทำไมเราต้องจุดธูปทุกครั้งเมื่อไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์? บ้างก็เชื่อว่าเพื่อแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อปัดเป่าความชั่วร้าย ขับไล่พลังลบออกไป หรือเป็นการติดต่อกับโลกเหนือธรรมชาติ โดยใช้ควันธูปเป็นสื่อกลาง ซึ่งเรื่องจริง ไม่มีใครรู้ว่าสื่อไปถึงไหน? ใครได้รับ? แต่ที่แน่ๆ คือ สองรูจมูกสูดควันธูปเข้าไปเต็มๆ

ซ้ำร้ายวันไหว้ตรุษจีนยังต้องจุดประทัดเพื่อปัดเป่าความชั่วร้าย ตามความเชื่อว่า เสียงดังปังๆ รัวๆ ของประทัด จะช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปให้พ้นจากคนในบ้าน แต่กลับก่อมลภาวะทางเสียงให้เพื่อนบ้าน ซึ่งหลายคนไม่รู้ว่าเสียงดังของประทัดแต่ละครั้ง มีระดับเสียงที่กระแทกสูงกว่า 130 เดซิเบล ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ว่า หูของเรารับความดังได้ไม่เกิน 85 เดซิเบล

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-celebrate-green-chinese-new-year-SPACEBAR-Photo02.jpg

ตามมาด้วยการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง เพื่อความเป็นสิริมงคล (อีกแล้ว) เพราะเชื่อว่าจะส่งไปถึงบรรพบุรุษในโลกหลังความตาย  เป็นการแสดงความเคารพและความกตัญญูรู้คุณต่อบรรพบุรุษซึ่งเป็นหลักจริยธรรมที่สำคัญของชาวจีน เราไม่มีทางรู้หรอกว่าจะส่งไปถึงจริงๆ ไหม ทว่า คนที่ยังอยู่ (ใกล้ๆ เตาเผา) นั่นแหละที่รับไปก่อนเลย ไม่ใช่บุญนะ แต่เป็นสารพิษ PM2.5 และสารก่อมะเร็ง

เพราะในควันที่คละคลุ้ง ประกอบไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน สารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน หรือสารพีเอเอช และสารอินทรีย์ระเหยง่าย เช่น เบนซิน 1,3-บิวทาไดอีน  เบนโซเอไพรีน ส่วนในขี้เถ้าจากการเผายังมีสารโลหะหนัก เช่น โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว แมงกานีส หากสัมผัสหรือสูดดมอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-celebrate-green-chinese-new-year-SPACEBAR-Photo01.jpg

อีกอย่างคือ ชุดไหว้ ของคาวหวานอาหารจานใหญ่สำหรับวันตรุษจีนที่ทุกบ้านต้องจัดเต็ม เพื่อสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง โชคลาภ และความร่ำรวยตลอดทั้งปี แต่รู้หรือไม่ว่าหลังจากเทศกาลตรุษจีนผ่านไป มี Food Waste มากขนาดไหน และอาหารที่ถูกทิ้งส่วนใหญ่ก็มาจาก “อารมณ์” มากกว่า “เหตุผล” และเป็นต้นเหตุพ่นพิษโลกเดือด

ซึ่งตามรายงานของ Food Waste Index 2024 เผยค่าเฉลี่ยขยะอาหารของโลกอยู่ที่คนละ 79 กิโลกรัมต่อปี แต่คนไทยสร้างขยะอาหารเฉลี่ยคนละ 86 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งเกินกว่าค่าเฉลี่ยโลก! และ Food Waste ก็ปล่อยก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกถึง 8% เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคคมนาคม และมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการบินทั่วโลกถึง 4 เท่า

โลกร้อนขึ้นเพราะ “วันเที่ยว”

ทุบสถิติเกือบทุกปี ล่าสุดปีนี้มีการคาดการณ์ว่าชาวจีนจะแห่เดินทางกลับบ้าน-ท่องเที่ยวช่วงเทศกาลตรุษจีนราว 9,000 ล้านเที่ยว (ทั้งทางบกและทางอากาศ) นับเป็นสถิติที่มากเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งมีผู้โดยสารเดินทางประมาณ 8,400 ล้านเที่ยว และคาดการณ์ว่าจะมีคนไทยเชื้อสายจีนและนักท่องเที่ยวต่างชาติท่องเที่ยวในประเทศไทยมากกว่า 2.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 26% นั่นหมายความว่า เฉพาะแค่ช่วงตรุษจีนจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Carbon Emissions) แบบอื้อซ่า...า...า

...เข้าใจแล้วใช่ไหมว่า ตรุษจีนมีส่วนทำให้โลกร้อน

HOW (ทำอย่างไรล่ะทีนี้?)

ตรุษจีนกรีน (บ้าง) ก็ได้ แม้ว่าสีแดงจะเป็นสีมงคล แต่ถ้าเรายังทำกันแบบเดิมๆ สีแห่งความมงคล (เรื่องความเชื่อ) จะไปอยู่บนแผนที่แสดงสภาพอากาศ (วัดปริมาณฝุ่นรายวัน) แบบที่ส้มๆ แดงๆ กันในช่วงนี้

ถ้าเราอยากพลิกวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Global Climate Crisis) ให้เป็นโอกาสในการใช้ชีวิตแบบ Eco-Friendly หรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้วันตรุษจีน (วันขึ้นปีใหม่) เป็นจุดสตาร์ทก็ดีไม่น้อย

เริ่มที่ฉลองตรุษจีนแบบกรีนๆ เพื่อรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม แต่เลือกทำอย่างมีความรับผิดชอบต่อโลกไปพร้อมๆ กัน ตามนี้

ตรุษจีนแบบกรีนๆ “วันจ่าย”

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-celebrate-green-chinese-new-year-SPACEBAR-Photo03.jpg

ลดการใช้ถุงและบรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำมาจากพลาสติก เปลี่ยนวิถีปฏิบัติให้ Eco-Friendly ด้วยการพกถุงผ้า หันมาใช้ถุงกระดาษ หรือบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้หรือรีไซเคิลได้ นอกจากจะเป็นการลดขยะแล้ว ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อีกด้วย

สำหรับชุดแดงแรงฤทธิ์ ใส่แล้วเก็บถนอมให้มิดชิด เพื่อส่งต่อหรือนำกลับมาใส่ใหม่ในปีหน้า ลดการบริโภคที่ไม่จำเป็น ลดการผลิตเสื้อผ้า Fast Fashion ลดการใช้น้ำ และปล่อยน้ำเสีย

ตรุษจีนแบบกรีนๆ “วันไหว้”

ลดการจุดประทัดเสียงดัง (มลพิษทางเสียง) และเกิดควัน (มลพิษทางอากาศ) แล้วหันมาจุดประทัดออนไลน์ที่เสียงดังปังๆ แต่ไร้ควันพิษ หรือใช้ลูกโป่งก็ช่วยให้ลดปริมาณการปล่อยควันและลดมลพิษในอากาศ ส่วนขยะที่เหลือจากการใช้ลูกโป่งก็เก็บกวาดให้ดีแล้วนำไปรีไซเคิลต่อได้

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-celebrate-green-chinese-new-year-SPACEBAR-Photo04.jpg

ลดการจุดธูป เผาเครื่องเซ่นไหว้ กระดาษเงิน กระดาษทอง แล้วเลือกใช้ธูปไฟฟ้า (เช่น ธูปอิเล็กทรอนิกส์) ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เปลี่ยนมาใช้กระดาษแบบธรรมดาที่สกรีนด้วยสีปกติเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารเคมีบนกระดาษเงิน กระดาษทองที่ใช้กันทั่วไป และลดการเผาลงให้มากที่สุด

ลดขยะอาหาร แทนที่จะทิ้งขยะอาหารมากมายในช่วงเทศกาล ลองวางแผนการซื้อ การกิน และปรุงเป็นเมนูที่หลากหลาย หรือถนอมอาหารเก็บไว้กินวันหลัง (ประหยัดตังค์ได้อีกหลายมื้อ)

ตรุษจีนแบบกรีนๆ  “วันเที่ยว”

เที่ยวแถวบ้าน (ถ้าใจมันได้ นิวยอร์กก็แค่ปากซอย) ถ้าอยากทำทุกกิจกรรมวันขึ้นปีใหม่จีนให้สมบูรณ์แบบ แนะนำว่าลองทำ Sustainable Tourism ให้เป็นจริง เพียงแค่เที่ยวใกล้บ้าน สำรวจย่านที่อยู่ อุดหนุนร้านค้าลุงป้า กระจายรายได้สู่ชุมชน หรือออกไปท่องเที่ยวแบบ Eco-Tourism ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เที่ยวอย่างรับผิดชอบ ก็นับว่าได้เที่ยวและได้ทำเพื่อโลก

แค่เราปรับ โลกก็เปลี่ยน ลืมเรื่อง “ชุดไม่แดง...ไม่มีแรงเดิน” และการเซ่นไหว้บรรพบุรุษแบบเดิมๆ ที่เพิ่มมลพิษให้โลก แล้วหันมาดำเนินชีวิตแบบเป็นมิตรกับโลก แค่เลือกจ่าย-ไหว้-เที่ยว แบบ Eco-Friendly นี่ซิ…ถึงจะเรียกว่าทำเพื่อความเป็นสิริมงคลของแทร่!!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์