ฮาวทูกู้โลกรวน - วิธีที่ 13: ลด PM2.5 (แต่ยังออกล่าร้านหมูกระทะ)

19 ม.ค. 2568 - 09:19

  • หน่วยเล็กๆ อย่างปุถุชนและครัวเรือนที่มีจำนวนมากมายมหาศาลนี่แหละ ที่เป็นผู้ก่อการร้ายในแบบที่เราคาดไม่ถึง

  • “หมูกระทะ” เมนูแห่งวาระเฉลิมฉลองของไทย “ก่อควัน-ก่อโรค” กินอย่างไรให้ไม่เกิดเรื่อง

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-pm25-reduce-eating-grilled-pork-SPACEBAR-Hero.jpg

ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก

วิธีที่ 13 ลด PM2.5 (แต่ยังออกล่าร้านหมูกระทะ)

ควันภายนอกบอก “น่ากลัว” แต่ควันใกล้ตัวกลับ “มองไม่เห็น”

แนะนำ: ลดจุด จุด จุด! หยุดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษในชีวิตประจำวัน

WHAT (เกิดอะไรขึ้นอ่ะ?)

ต้นปี 2025 คนไทยได้สัมผัสอากาศเย็นฉ่ำใจและยาวนานกว่าทุกปี ที่เป็นแบบนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโลกเกิดปรากฏการณ์ลานีญา ทว่า ความรู้สึกดีๆ แบบนี้กลับมาพร้อม “ปัญหาหนักปอด” เมื่อทุกลมหายใจที่เราสูดเข้าไปมีฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว (Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron) หรือเราคุ้นกันดีกับชื่อเล่น PM2.5 เมื่อบวกกับภาวะอุณหภูมิผกผัน (Temperature Inversion) ที่มักเกิดในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ทำให้ช่วงนี้เราจะเห็นประกาศเตือน “ค่าฝุ่นวันนี้เกินมาตรฐาน” พ่วงมาเป็นของแถม

ecoeyes_temperature_inversion_causing_bangkok_to_drown_in_dust_SPACEBAR_Photo02.jpg
Photo: ภาวะอุณหภูมิผกผัน (Temperature Inversion) ที่มา: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

การเมืองบิดเบี้ยว สถิติเถรตรง

ในขณะที่คนไทยเรากำลังรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด อย่างมีความหวัง ข้อมูลโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยสถิติ “มลพิษทางอากาศ” เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คนทั่วโลกราว 4.2 ล้านคนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มะเร็งปอด และการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน ทั้งนี้ การสูด PM2.5 ร้ายกว่าดื่มเหล้า-สูบบุหรี่ และทำให้อายุขัยสั้นลงหลายปี

ในปี 2013 องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ฝุ่น PM2.5 อยู่ในกลุ่ม “สารก่อมะเร็ง” ที่ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งปอด เพราะฝุ่น PM2.5 เป็นตัวกลางพสถิติผู้ป่วยสะสมจากกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ในประเทศไทย ปี 2567าสารอื่นๆ เช่น โลหะหนัก อย่างปรอทและแคดเมียม เข้าสู่ปอด

INFO_UPDATE-PM2.5.jpg
Photo: สถิติผู้ป่วยสะสมจากกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ในประเทศไทย ปี 2567

ขณะที่โลกเดือดทำ PM2.5 มาตามนัด ทำสถิติเฉพาะปี 2567 ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมกลุ่มโรคจากมลพิษทางอากาศรวมมากกว่า 12 ล้านคน

ภาคครัวเรือนและเกษตร แหล่งกำเนิด PM2.5 ในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

รายงานการประเมินการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทยฉบับปี 2566 โดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการวิเคราะห์ระบบประยุกต์ (IIASA) และ UNEP พบว่า มีประชากรกว่า 660 ล้านคนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทยที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละออง PM2.5 ที่ถูกประมาณการว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 32,000 รายต่อปีในประเทศไทย

WHY (ทำไมโลกร้อนล่ะ, เกี่ยวไร?)

ในขณะที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวการใหญ่ในการก่อมลพิษทางอากาศ ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะปัจจัยสำคัญที่มีสัดส่วนการปล่อย PM2.5 มากที่สุดตลอดช่วงเวลาที่ถูกประมาณการณ์ (ค.ศ. 2015-2030) คือ “ภาคครัวเรือนหรือที่อยู่อาศัย” จากการใช้เชื้อเพลิงไม่สะอาดเพื่อประกอบอาหาร และภาคเกษตร ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าหน่วยเล็กๆ อย่างปุถุชนและครัวเรือนที่มีจำนวนมากมายมหาศาลนี่แหละ ที่เป็นผู้ก่อการร้ายในแบบที่เราคาดไม่ถึง

million-tons-pm25.jpg
Photo: ข้อมูล IIASA และ UNEP ที่มา: หลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย

ลองคิดภาพเตาประกอบอาหารของทุกบ้าน เตาปิ้งย่างของทุกร้านอาหาร แล้วมัดรวมกัน นั่นเกิดควันมากกว่าสถานการณ์ไฟป่าในลอสแอนเจลิสหลายร้อยเท่า ใช่แล้ว! เพราะทุกๆ เตาที่เราจุด มันกำลังทำให้โลกร้อน!!

เชื่อหรือไม่ว่า การย่างอาหารด้วยถ่าน สามารถผลิตก๊าซเสียอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้สูงกว่าการใช้เตาแก๊สถึง 3 เท่า เทียบเท่ากับการสร้างมลพิษของการขับรถเป็นระยะทางกว่า 42 กิโลเมตร

ข้อมูลโดยสถาบันวิจัยพลังงานแห่งชาติ (National Renewable Energy Laboratory, NREL) ได้ศึกษาผลกระทบจากการใช้ถ่านไม้ในครัวเรือนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Biomass Energy: Carbon Dioxide Emissions, 2020) โดยยืนยันว่าการเผาถ่านไม้ในครัวเรือนสามารถปล่อย CO2 และสารมลพิษอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

The_beginning_of_moo_kra_ta.jpg

“หมูกระทะ” เมนูแห่งวาระเฉลิมฉลองของไทย

วันสิ้นปี วันปีใหม่ วันเกิด ไปแคมปิ้ง ขึ้นเขา ฉลองวันเงินเดือนออก ฉลองถูกหวย หลายปีมานี้คนไทยเทใจให้ปาร์ตี้หมูกระทะ จนกลายเป็นเมนูแห่งวาระเฉลิมฉลอง ถึงขนาดที่ต่างชาติเวลาเดินทางมาเที่ยวไทย ยังใส่ “หมูกระทะ” ไว้ในลิสต์หนึ่งในสิ่งที่ต้องทำเมื่อมาเยือนประเทศไทย และไม่ใช่แค่หมูกระทะธรรมดาแบบเมื่อก่อน เพราะตอนนี้ในโรงแรมและห้างหรู ก็มี “ร้านหมูกระทะพรีเมียม” ไว้คอยให้บริการ

พูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาก็อยากให้ย้อนกลับไปอ่าน ไขข้อข้องใจ หมูกระทะ มีจุดเริ่มต้นมาจากไหน เข้ามาในไทยตั้งแต่เมื่อไหร่

แม้ ณ ตอนนี้ยังไม่มีใครทำวิจัยสรุปจริงจังถึงเรื่องที่มาของคะแนนนิยม “หมูกระทะ” แต่เป็นไปได้ว่าที่คนไทยเลิฟ “หมูกระทะ” เพราะวิถีการกินแบบล้อมวงกินกันหลายๆ คน เหมือนเป็นวาระการรวมตัว กินช้าๆ ได้พูดคุย สังสรรค์ แถมเป็นแบบ 2 in 1 ทั้งต้มและย่าง รวมถึงการที่เราสามารถคัสตอมไมซ์ หรือเลือกสรรสิ่งที่เราอยากกินได้ด้วยตัวเอง...เลือกเอง! ปรุงเอง! กินเอง! นักเลงพอ! เลยได้ใจคนไทยไปเต็มๆ 

และไม่ว่าจะปิ้งหรือต้มก็ต้องจบลงที่ “น้ำจิ้ม” ตัวแปรสำคัญที่เชื่อมโยงทุกอย่างไว้ด้วยกัน เพราะไท่กั๋วติดจิ้ม และ เสพติดรสเค็มจนเต็มไต ซึ่งความเค็มเปรียบเหมือนยาเสพติด เนื่องจากเร่งการผลิตโดปามีนซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ส่งผลต่ออารมณ์ความพึงพอใจ ความสุข ทำให้เกิดความรู้สึกอยากอาหาร เมื่อติดรสชาติเค็มแล้วหากไม่ปรุงเพิ่ม ก็จะรู้สึกว่าอาหารไม่อร่อย รู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสีย ไม่เจริญอาหาร สุดท้ายก็สะเทือนไต ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง​ โรคไต โรคอ้วนลงพุง

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-pm25-reduce-eating-grilled-pork-SPACEBAR-Photo01.jpg

นอกจากนี้ คนที่นิยมกินอาหารปิ้งย่าง รมควัน หรือเมนูหมูกระทะเป็นประจำ อาจทำให้เสี่ยงต่อการได้รับสารอันตราย ได้แก่ “สารไนโตรซามีน” ที่พบในปลาหมึกย่าง ปลาทะเลย่าง และในเนื้อสัตว์ที่ใส่ “สารไนเตรท” ประเภทแหนม ไส้กรอก เบคอน แฮม ที่มีสีแดงผิดปกติ ทำให้เสี่ยงสารก่อมะเร็ง ทั้งมะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร และ “Pyrolysates” ที่พบมากในส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้งย่าง มีฤทธิ์ร้ายแรงทางพันธุกรรมมากกว่าสารอะฟลาท็อกซินหลายเท่า

ย้อนกลับมาที่เรื่องควันหมูกระทะ นอกจากการสูดดมหรือหายใจเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) รวมถึงเขม่าควัน PM2.5 เข้าสู่ร่างกายแล้ว สายปิ้งย่างยังต้องระวัง PAHs (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่เกิดในควันไฟ ไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ และเตาเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งสารนี้จะพบในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารที่ปรุงด้วยการปิ้งย่างหรือรมควันของเนื้อสัตว์ที่มีไขมันหรือมันเปลวติดอยู่ด้วย เช่น หมูย่างติดมัน เนื้อย่างติดมัน ไก่ย่างส่วนติดมัน (ของอร่อยทั้งนั้น) เนื่องจากขณะปิ้งย่าง ไขมันหรือน้ำมันจะหยดไปบนเตาไฟ ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดสาร PAHs ลอยขึ้นมาพร้อมเขม่าควันเกาะที่บริเวณผิวของอาหาร หากกินเข้าไปเป็นประจำจะมีโอกาสเกิด “โรคมะเร็ง” โดยเฉพาะมะเร็งตับและท่อน้ำดี ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับสาเหตุการตายก่อนวัยอันควร หนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ข้อ 3 หัวข้อย่อย 3.4 คือลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลง 1 ใน 3

ทั้งนี้ เรื่องของการกินของเรายังเป็นต้นเหตุของโลกร้อน เพราะสาเหตุอื่นๆ เช่น การสรรหาของกินที่ ‘เยอะ’ และ ‘ยาก’ (จนเกินพอดี) นำมาซึ่งปัญหาโลกร้อน , อุตสาหกรรมปศุสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อวัวแสนอร่อย ปล่อยคาร์บอนฯ และเขมือบพื้นที่ป่ามหาศาล , อาหารที่ถูกทิ้งมาจาก "อารมณ์" มากกว่า "เหตุผล" ต้นเหตุพ่นพิษโลกเดือด

HOW (ทำอย่างไรล่ะทีนี้)

อ่านมาถึงตรงนี้คงเข้าใจแล้วใช่ไหม ที่เราเกริ่นไปว่า ...ควันภายนอกบอก “น่ากลัว” แต่ควันใกล้ตัวกลับ “มองไม่เห็น”  เป็นอย่างไร? ทีนี้ก็อย่าให้ความอยาก (กิน) ของเราไปทำร้ายโลก

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-pm25-reduce-eating-grilled-pork-SPACEBAR-Photo02.jpg

ในเมื่ออยากลด PM2.5 แต่ยังโหยหาหมูกระทะ ทางออกของเรื่องนี้ก็ไม่ยาก เพียงแค่ลดการจุดเตา เผาถ่าน หยุดเผา หรือทำพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษในชีวิตประจำวัน แล้วหันมาเลือกการทำให้สุก (แถมเราก็มีความสุข) ด้วยพลังงานสะอาด เช่น ใช้เตาไฟฟ้า หรือเตาแก๊ส รวมถึงการทำกิจวัตรประจำวันแบบไร้ควัน จุดธูปไร้ควัน ธูปไฟฟ้า ไม่เผาขยะ  แต่แยกขยะให้ถูกวิธี ไม่สูบบุหรี่ แบบนี้ก็ช่วยโลกได้แล้ว

ยังมีเรื่องอื่นที่ต้องโฟกัสสำหรับคนเลิฟหมูกระทะคือ ลดจำนวนครั้งการกินให้ลดลง (กินอย่างอื่นบ้าง ลดเตาเผาหมูกระทะลง) เลือกแบบไม่บุฟเฟ่ต์ (ลด Food Waste) ลดการกินเนื้อสัตว์ (ลดการทำปศุสัตว์) ลดการปรุงหรือจิ้ม (ลดโรค) เพียงเท่านี้ เราก็กินหมูกระทะได้อย่างยั่งยืน เข้าทาง Sustainable Development Goal หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เป๊ะๆ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์