นับว่าตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ‘ประเทศไทย’ ตกอยู่ในห้วงชุลมุนทางการเมือง นับตั้งแต่ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ประกาศยุบสภา เข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง มาจนถึงจังหวะเปลี่ยนผ่านทางอำนาจของรัฐชุดใหม่ ซึ่งระหว่างทางเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย สอดคล้องกับความเห็นของซินแสการเมืองหลายคน ที่บอกว่า ‘อะไรที่ไม่เคยเห็น จะได้เห็นในปีนี้’
SPACEBAR รวบรวมประเด็น 5 บิ๊กเซอร์ไพรส์ ปี 2566 ‘ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม’ ผ่านคอนเทนต์ที่พูดถึงสตอรี่เชิงอำนาจ ผลิตโดยกองบรรณาธิการ เพื่อให้ผู้อ่านได้ย้อนความ ก่อนตัวเลขบนปฏิทินจะเข้าสู่ศักราชใหม่

‘ท่านอ้น’ กลับไทย
การกลับไทยของ ‘ท่านอ้น-วัชเรศร วิวัชรวงศ์’ กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ผู้คนในสังคมให้ความสนใจ และติดตามทุกความเคลื่อนไหว โดยท่านอ้นเดินทางกลับประเทศไทยครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 ถือเป็นการกลับไทยครั้งแรก นับตั้งแต่ย้ายไปพำนักต่างประเทศในรอบ 27 ปี
มีกำหนดการอยู่ในประเทศไทย 1 สัปดาห์ ก่อนจะเดินทางกลับสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 โดยระหว่างนั้น ได้มีทำภารกิจสำคัญหลายอย่าง เช่น เข้าถวายสักการะพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคาร ‘ในหลวง รัชกาลที่ 9’ พร้อมกับสนทนาธรรมกับ ‘พระเทพวชิรมุนี’ พระพี่เลี้ยง เมื่อครั้งบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร (อ่านต่อได้ที่ : Photo Story ‘ท่านอ้น’ ทำบุญวัดบวรฯ อดีตวัด ‘บรรพชา’ เป็น ‘สามเณร) และ ทำบุญที่วัดยานนาวา กทม. ถวายเพลพระภิกษุสงฆ์-สามเณร 130 รูป ปล่อยปลา 1,000 ตัว (อ่านต่อได้ที่ : Photo Story: ‘ท่านอ้น’ ทำบุญ-ปล่อยปลา ถวายเพลพระ-เณร 130 รูป )
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ท่านอ้นเดินทางกลับประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 โดยมีภารกิจสำคัญ คือ การน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ‘ในหลวง รัชกาลที่ 9’ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 (อ่านต่อได้ที่ : Photo Story: ‘ท่านอ้น’ น้อมรำลึก ‘ทูลกระหม่อมปู่’) และเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ท่านอ้น ได้เดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อกลับสู่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยมีคนใกล้ชิดมาส่ง พร้อมโบกมือและกล่าวว่า "ไว้เจอกันใหม่ ไว้เจอกันใหม่"

จาก ‘ผู้ลี้ภัย' สู่ ‘เทวดาชั้น 14’
การปรากฏตัวของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ณ สนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ถือเป็นการเหยียบแผ่นดินไทยครั้งแรกในรอบ 15 ปี หลังก่อนหน้านี้ ‘ทักษิณ’ ต้องระหกระเหินอยู่ต่างแดน นับตั้งแต่ถูกรัฐประหารโดย ‘คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ’ (คมช.) ที่นำโดย ‘พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน’
การกลับมาในครั้งนี้ มาในฐานะ ‘นักโทษ’ ของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งภายหลังที่เครื่องแลนดิง 'ทักษิณ' ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และถูกนำตัวเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครในทันที ทั้งนี้ในช่วงกลางดึกของคืนนั้น ‘ทักษิณ’ ถูกนำตัวออกจากเรือนจำอย่างเร่งด่วน เพื่อรับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ หลังมีอาการจากโรคประจำตัว และอยู่ที่รพ.ตำรวจ มาจนถึงทุกวันนี้
ตลอดเวลาเกือบ 4 เดือน ที่ได้รับการรักษา ทักษิณถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังของ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ตั้งแต่การวางหมากทางการเมือง ช่วงจัดเก้าอี้ ครม. เห็นได้จากกระแสข่าวที่ลือกันหนาหู ว่ามีแกนนำรัฐบาลบางคนได้เข้าเยี่ยม ‘คนชั้น 14’. (อ่านต่อได้ที่ : ส่อง ‘เทวดา’ ชั้น 14 ใครได้เยี่ยม ‘ทักษิณ’ ที่ รพ.ตำรวจ บ้าง? )
นอกจากนี้หลายคนยังเชื่อว่า ทักษิณคือผู้ถืออำนาจตัวจริงของรัฐบาลชุดนี้ โดยหลายคนวิเคราะห์ผ่านความหวั่นไหวของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ในช่วงที่นโยบาย ‘เงินดิจิทัล’ ยังดูเลื่อนลอย (อ่านต่อได้ที่ : เกมคืนอำนาจ ‘คนชั้น 14’ ปัญหา ‘เงินหมื่น’ สะเทือน ‘เศรษฐา’)
ท้ายที่สุดด้วยความที่นอนคุกไม่ถึงหนึ่งคืน และถูกมองว่าเป็นผู้มีอำนาจของรัฐบาลตัวจริง พร้อมกระแสมาลือว่าจะสิ้นสถานะความเป็น ‘นักโทษ’ ก่อนจะครบกำหนดรับโทษอย่างต่อเนื่อง จับตา ‘เศรษฐา’ (หนี)พักร้อน ‘ซ่อนแม้ว’ จึงได้รับสมญาอย่างไม่เป็นทางการว่า ‘เทวดาชั้น 14’ ผ่านหน้าสื่อต่างๆ

‘ก้าวไกล’ ชนะเลือกตั้ง แต่ไม่ได้เป็น ‘รัฐบาล’
อีกหนึ่งวาระสำคัญประเทศที่เกิดขึ้นปีนี้ หนีไม่พ้นการจัดการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ภาคประชาชนต่างมุ่งหวังอยากได้ ‘รัฐบาล’ ที่เข้ามาแก้ปัญหาความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ อันเป็นพิษตกค้างจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้สมรภูมิการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเข้มข้น
‘ก้าวไกล’ ในฐานะพรรคการเมืองหัวก้าวหน้า ออกสตาร์ทแรงตั้งแต่ช่วงโหมโรง จากข้อมูลเชิงสถิติและแบบสอบถามความเห็น ที่ขึ้นเบอร์หนึ่งหัวตารางหลายสำนัก ประกอบกับพรรคคู่แข่งในขั้วเดียวกันและขั้วตรงข้ามจับมือกันสะดุด อาทิ ‘เพื่อไทย’ ที่ไม่ชัดเจนต่ออนาคตทางการเมือง ในประเด็น 'พรรคลุง' จนหลายคนกังวลว่าจะหันไปจับมือกับ ‘พรรคอนุรักษ์นิยม’ เพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองไว้ (อ่านต่อที่ : ศึกชิงดำระหว่าง ‘เพื่อนบ้าน’ เพื่อไทย VS ก้าวไกล ‘แลนด์สไลด์’ หรือ ‘แบ่งแต้ม’)
ขณะที่ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ พรรคสังกัดใหม่ของ ‘บิ๊กตู่’ ก็ออกแคมเปญยกระดับตัวตนให้กลายเป็น ‘พรรคอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง’ ผ่านการทำโฆษณา ‘ถามคนไทย…เอาไหม? คุณอยากให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม จริงหรือ’ (อ่านต่อได้ที่ : ‘พะโล้ของแม่’ นัยความกลัวต่อ ‘ปีศาจกาลเวลา’ )
หลายฝ่ายเชื่อว่า ยุทธศาสตร์สู้ศึกเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั้งสอง ส่งผลให้ ก้าวไกลได้รับเสียงสนับสนุนจากวัยกลางคน - สูงวัยมากขึ้น ทำให้ ‘พรรคส้ม’ สามารถคว้าชัยในศึกเลือกตั้ง ด้วยคะแนนกว่า 14 ล้านเสียง สามารถหักปากกาเซียน ล้มบ้านใหญ่ทางการเมืองได้ สส. แบบแบ่งเขตเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ (อ่านต่อได้ที่ : เจาะแผนล้มช้าง ‘ก้าวไกล’ เชือด ‘บ้านใหญ่’)
อย่างไรก็ตาม แม้พรรคก้าวไกลจะกลายเป็นแชมป์เลือกตั้ง แต่หนทางการสู่ทำเนียบรัฐบาลไกลเกินฝัน และหลายคนรับรู้ชะตากรรมมาโดยตลอด ขณะที่พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองแชมป์ที่ก็ทำหน้าที่เสมือน ‘เพื่อนตาย’ คอยพยุงสถานการณ์ของ 8 พรรคพันธมิตร ในทุกช่วงจังหวะที่เกิดกระแส ‘ดีลข้ามขั้ว’ จนเกิดภาพประวัติศาสตร์ ‘ดีลรักดีลเลิฟ’ (อ่านต่อได้ที่ : โละฉากทัศน์พิสดาร ผ่านดีลรักหวานชื่น?)
แต่ท้ายที่สุด ฉากทัศน์ ‘รัฐบาลในฝัน’ ของประชาชนก็ต้องล้มสลายไป เมื่อเพื่อไทยตัดสินใจ ‘กระโดดข้ามขั้ว’ จับมือกับ ‘กลุ่มการเมืองฝากอนุรักษ์’ โดยใช้ข้ออ้าง ‘ให้ประเทศไปต่อได้’ ทำให้ ‘ดรีมทีมประชาธิปไตย’ ต้องสลายตัวไปอย่างไร้เยื้อใย (อ่านต่อได้ที่ : ใบหย่า ม.272 วิวาห์ล่ม ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’) จนการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น และดำเนินการบริหารมาร่วม 4 เดือน ก้าวไกลในฐานะ ‘ผู้ชนะที่พ่ายแพ้’ ยังคงเจ็บใจเพื่อไทยอยู่

จาก ‘3 ป.’ สู่ ‘รัฐบาลข้ามขั้ว’
ปลายปี 2565 กลุ่มขั้วอำนาจ ‘3 ป.’ ตกอยู่ในสภาวะที่โรยราถึงขีดสุด หลัง ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ตัดสินใจได้อำลา ‘พลังประชารัฐ’ สู่อ้อมกอด ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ส่งผลให้ ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ กลายเป็นแคนดิเดตเข้าชิงนายกฯ ตามที่วาดฝัน ทำให้ในปี 2566 ‘พี่น้องบูรพาพยัคฆ์’ ต่างชิงไหวชิงพริบกันเอง ทั้งในฐานะรัฐบาล ที่ขยันลงพื้นที่ทำงานกันอย่างไม่น้อยหน้า จนเข้าสู่การหาเสียงช่วงเลือกตั้ง ที่ต่างฝ่ายต่างมุ่งมั่นชิงชัย จนจับสัญญาณ ‘ความเป็นเอกภาพที่หายไป’ ได้อย่างชัดเจนที่สุด
ซึ่งการตัดสินใจ ‘แยกกันเดิน’ ถือเป็นการแต่การแบ่งหน้าฉาก ระหว่าง ‘2 ลุง’ ที่ออกมาในรูปแบบ 2 พรรคการเมือง ทำให้เกิดความสับสน คนเลือกก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออก การเป็นการลดทอนฐานเสียงจากหนึ่งต้องหารสอง (อ่านต่อได้ที่ : พิพากษา ‘ระบอบลุง’ ชะตา ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ )
กระทั่งปิดหีบนับคะแนนจึงพบว่า ‘2 ลุง’ ไม่ใช่สมการหลักของผู้คนอีกต่อไป แต่กลับเป็นพรรคหัวก้าวหน้าอย่าง ‘ก้าวไกล’ ที่คว้าชัยและฟอร์มทีมจัดตั้ง ‘รัฐบาลในฝัน’ แต่ท้ายที่สุดก็ล้มไม่เป็นท่าจากความพิสดารทางการเมือง
‘เพื่อไทย’ ในฐานะ ‘เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด’ ยอมกลืนน้ำลายประโยคคลาสสิค ‘มีเราไม่มีลุง’ จับมือกับพรรคสองลุง และกลุ่มพรรคการเมืองฟาก ‘รบ.ประยุทธ์เก่า’ ขึ้นเป็น ‘รัฐบาลผสมข้ามขั้ว’ กลายเป็น ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ส้มหล่นได้เป็น ‘นายกฯ คนที่ 30’
หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า พรรคสีแดงจะไม่ได้ขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งได้ หากไร้ซึ่งการต่อรองกับ ‘กลุ่มอีลีต’ หรืออีกนัยคือ ‘กลุ่มขั้วอำนาจเก่า’ ดังนั้นภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยในวันนี้ จึงกลายเป็น ‘ฝ่ายขวาใหม่’ ขณะเดียวกันก็ยังเป็น ‘พรรคกันชน’ ที่คอยต่อสู้ หรือสะกัดกั้น ‘ความสุดโต่ง’ ของแต่ละปีกในวังวนการเมืองด้วย
แม้ไม่มีหลักประกันได้ว่าตำแหน่งเบอร์หนึ่งไทยคู่ฟ้าของ ‘เศรษฐา’ จะยืนยงอยู่นานแค่ไหน เพราะเมื่อ ‘นายใหญ่’ ส่ง ‘แพทองธาร’ ลูกสาวคนเล็กเข้ากุมบังเหียน 'หัวหน้าพรรคเพื่อไทย' แบบเบ็ดเสร็จ จึงไม่อาจการันตีได้เลยว่า ‘รัฐบาลเศรษฐา’ จะถูกเปลี่ยนการนำ เป็นใครอื่นหรือไม่ หรือจริงๆ แล้วตอนนี้ ‘เสี่ยนิด’ เอง อาจเป็นแค่ ‘เงาหน้าฉาก’ ที่มีเบื้องหลังตัวจริง คอยกำหนดเส้นอยู่ทุกก้าวย่าง (อ่านต่อได้ที่ : 1 ประเทศ 2 นายกฯ เศรษฐา VS แพทองธาร ลูกไก่ในกำมือ ‘ทักษิณ’)

ศึกสีกากี ‘ต่อ’ VS ‘โจ๊ก’ ชิง ‘ปทุมวัน 1’
สำหรับประเด็นสุดท้าย ที่จะปล่อยผ่านตามเลขศักราชใหม่มิได้ คือ สมรภูมิในวงการตราโล่ ระหว่าง ‘พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล’ (อ่านต่อได้ที่ : ตำนาน ‘ต่อ มาสิคะ’ ปฐมฤกษ์ ‘สิงห์ปทุมวัน’ ) และ ‘พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล’ (อ่านต่อได้ที่ : เส้นทางเสือติดปีกของ ‘บิ๊กโจ๊ก’ แมวเก้าชีวิต) ในศึกชิงเก้าอี้ ‘ผบ.ตร.’ คนที่ 14
เพราะในช่วงจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อ เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวาย จากกรณีตำรวจไซเบอร์ชุดปฏิบัติการพิเศษอาวุธครบมือ บุกเข้าตรวจค้นบ้านพักของ ‘บิ๊กโจ๊ก’ ตามข้อสงสัยว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์และลูกน้อง มีความเชื่อมโยงทางการเงินกับเว็บไซต์การพนันออนไลน์ ทำให้ปรากฎภาพ ‘บิ๊กโจ๊กในชุดนอน’ ยืนเท้าสะเอวด้วยสีหน้าเหยเกอยู่หน้าบ้าน และเชื่อว่ารอบนี้ ‘แมวเก้าชีวิต’ ไม่ได้ไปต่อ
สำหรับ ‘บิ๊กต่อ’ แคนดิเดตผู้มีความอาวุโสเป็นลำดับที่ 4 ได้รับการเสนอชื่อโดย ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีใหม่ป้ายแดง และขึ้นเป็น ‘แม่ทัพกากี’ ชนิดที่เรียกว่า ‘มาเหนือเมฆ’ จากมติที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) 9 ต่อ 2 เสียง
ซึ่งการก้าวเข้าสู่บทบาท ‘ปทุมวัน 1’ ของบิ๊กต่อ ไม่ได้สร้างความชอกช้ำให้เฉพาะบิ๊กโจ๊ก แต่อาจจะกระทบกับความรู้สึกของ ‘บิ๊กรอย’พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ลำดับที่ 1 ด้านความอาวุโส และต้อง ‘อกหัก’ สองสมัยซ้อน (อ่านต่อได้ที่ : ตำนาน ‘อาวุโสอกหัก' จาก ‘บิ๊กเอก’ สู่ ‘บิ๊กรอย’)
ทั้ง 5 เรื่องราวที่หยิบยกมานำเสนออีกรอบ ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ถือเป็นประเด็นแทรกซ้อนแฝงกลิ่นอายอำนาจ ที่ทางกองบรรณาธิการ SPACEBAR อยากให้ผู้อ่านได้ย้อนความ เพื่อเป็นแบ็กกราวด์ ในการจับสัญญาณต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง จากประเด็นข้างต้น ในปี 2567 ต่อไป